วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2550

ธรรมะของนักพัฒนาชนบท

ธรรมะของนักพัฒนาชนบท

พูดถึงการเป็นนักพัฒนาชุมชน ไม่ว่าคนชาติไหน ดูเหมือนจะมีบุคลิกภาพ เฉพาะ ที่ดูคล้ายๆ กัน
“เปิดเผย จริงใจ มีมนุษยสัมพันธ์ เรียบง่าย ชอบคิด ช่างฝัน ฯลฯ” คุณลักษณะพื้นฐานที่ว่าบางส่วนนี้เราสัมผัส รับรู้ ได้จริงๆ หากไปพบนักพัฒนาประเภท มืออาชีพเข้า

ผมเองบังเอิญได้เจอะคุณนิคลัส มาเรีย ในเช้าวันที่มีหิมะตกหนัก เราสองคนลงจากรถยนต์คันเก่าๆ ไม่ต่างจากพัฒนากรบ้านเรา เดินดุ่มๆ เก้ๆ กังๆ บนถนนบ้านนอกฝรั่ง เงียบเชียบ ไร้ผู้คน มองไปเห็นขาวโพลน เห็นเปียกชื้น

ในสิ่งที่ได้พบเห็นหนนั้น พอกลับบ้านเรา ผมก็ถึงบางอ้อ ว่าการทำงานชุมชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างนั้น ที่แท้แล้วไม่ว่าที่ประเทศไหน เป็นงานที่ยาก และหนักทั้งนั้น
และ คำตอบส่วนใหญ่ ต้องอยู่ที่หมู่บ้านหรืออยู่กับชุมชนจริงๆ อย่างที่เค้าว่ากัน
อีกนัยหนึ่ง หากรักจะเป็นนักพัฒนาหรือนักบริหารการพัฒนา จะคิดนั่ง สั่งการใดๆในห้องแอร์ ไม่เรียนรู้เรื่องคน เรื่องสังคม อยู่ไม่ติดดิน ไม่ได้จริง ๆ

ธรรมชาติหรือธรรมะของระบบการพัฒนา หากจะให้เห็นผลจริงอย่างปรมาจารย์ นักคิด ด้านการพัฒนาชุมชนทั้งหลายว่ากัน มันมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น นอกจากคุณนิคลัส และมาเรีย เพื่อนผม ที่สวีเดน กับผมที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการพัฒนาแล้ว ยังมีองค์ประกอบเรื่องเทคนิควิธีการทำงานกับชาวบ้าน หน่วยงานต้นสังกัดหรือองค์การที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายคือชาวบ้านหรือชุมชน อีก

เท่าที่ว่าแล้วยังไม่พอ มีสภาพแวดล้อม/ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีก แต่ละองค์ประกอบ ยังเต็มไปด้วยรายละเอียด เจียระไนกันได้อีก ใครคิดจะสร้างความเข้มแข็งใคร ก็ต้องมอง ต้องทำกันอย่างเป็นระบบ คิด ตัดสินใจ คนเดียวไม่ได้ แต่ต้องรู้จักทำงานกับคน ชนิดที่มีความเป็นคน

เลยอนุมานเอาเองว่า ถ้าทุกคนรู้ธรรมะหรือธรรมชาติการพัฒนาชุมชนจริงๆ และสร้าง หาโอกาสเปิดใจกันในเวทีแบบคนๆ ลดการใช้อำนาจเชิงโครงสร้างระบบราชการมาใช้มาบังคับกัน ก็คงสามารถทำอะไรให้เข้ากับจริต พฤติกรรมปัญหาความต้องการของคนได้ง่ายขึ้น ซึ่งหมายถึงความสำเร็จของงานก็เกิดง่ายขึ้น และคนก็มีความสุข หรือถ้าทุกข์ หรือเหนื่อย ก็น้อยลง พูดถึงประเด็นนี้ เห็นไหม นักพัฒนาอย่างผมก็ชอบฝัน

เอาล่ะ เมื่องานพัฒนา มีธรรมชาติแบบที่ว่า ดังนั้นใครที่เข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องนี้ ก็ควร จะมีลักษณะที่จะต้องรู้จักวิธีการทำงานประเภท พยายามทำ
“ เรื่องยาก ให้เป็นเรื่องง่าย หรือ ทำเรื่องง่าย ให้ง่ายๆ ยิ่งขึ้น”
เช่นเรื่อง การหาวิธีทำงานโดยลดเวลา ขั้นตอนให้ สั้น สะดวก ยืดหยุ่นมาก ปรับพฤติกรรมการทำงาน เพื่อให้ประโยชน์ทั้งหลาย ทั้งปวงเกิดแก่คน ที่อยู่ในสังคมอย่างเป็นระบบ โดยไม่ต้องเสียเวลาทรัพยากรกับระเบียบ ขั้นตอนที่สุดจุกจิก หยุมหยิม ที่ผมอยากเรียกรวมๆ โดยศัพท์บัญญัติผมเองว่า “วัฒนธรรมองค์การแบบล้าหลัง เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจ” ซึ่งบางคนก็บอกว่า สิ่งนี้ เป็นอุปสรรคที่ใหญ่หลวงในการพัฒนา และสร้างความเป็นคน ทีเดียว ผมเห็น มีสังฆกรรมกันเมื่อไร ก็พูดถึงแต่เรื่องนี้ แต่ไม่เคยมีการแก้ไขกันสักที
ใครอยากทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมืออาชีพ ก็ลองพิจารณาลองดู เพราะมันเป็นเรื่องท้าทายเชิงจริยธรรม ทีเดียว

แต่ที่ยังติดใจมากก็คือ คนที่อยู่ในระบบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานพัฒนาที่ว่านี้ มีความตระหนัก เข้าใจ และใช้ความพยายามในการหาแนวทางทำงานที่สอดคล้องกับธรรมชาติ หรือธรรมะของการทำงานพัฒนาสักแค่ไหน เพื่อให้งานแบบนี้เป็นไป โดยยึดเอาธรรมชาติ เป็นหลักให้มากที่สุด เพราะเห็นคุยกันที่ไร คนที่เรียกว่านักพัฒนาเอง จะเกิดวาทะกรรมประเภทเหล่านี้เสมอเชียว
“ ก็คุณเป็นข้าราชการของรัฐนี่ มิใช่พวกเอ็นจีโอ”
“ การเป็นข้าราชการกับการเป็นนักพัฒนาที่ดี มันไปด้วยกันไม่ได้ดอก” หรือสุดท้ายแสบสันหน่อย เจอะแล้ว
“ เรื่องนี้ ให้คุณเป็นอธิบดีก่อน แล้วค่อยทำ รู้จักบทบาทหน้าที่หรือเปล่า”

นั่นก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากทันทีได้ว่า บางครั้งคนที่เป็นนักพัฒนาเอง ก็ยังติดตรึงอยู่กับกรอบ กฎเกณฑ์ของหน่วยงานค่อนข้างมาก แทนที่เอาประโยชน์ของคนทำงาน หรือของชาวบ้านเป็นหลักมากๆ
คนทำงานพัฒนาส่วนใหญ่ขณะนี้ พอลงทำงานในชุมชน จึงรู้สึกว่าไม่เพียงแต่ต้องมีสิ่งที่ว่าแล้วข้างต้น แต่ต้องการการสร้างแรงบันดาลใจค่อนข้างสูง กว่าอาชีพอื่นด้วยซ้ำไป รวมถึง ต้องการความเข้าใจ ไม่เพียงจากชาวบ้าน แต่ต้องความเข้าใจจากพวกเดียวกันอีกด้วย

บวกน้ำอดน้ำทน เพื่อที่จะสู้กับงานหนัก ความไม่สมเหตุสมผล หรือ สิ่งท้าทายความสำเร็จอื่นๆ อีกสารพัด ทั้งหมดเค้าบอกว่ามีเอาไว้แก้ทั้งสิ้น

ในการบริหารจัดการการพัฒนาช่วงหลัง เราจึงหันมาพูดเรื่องการเอื้ออำนวยความสะดวก ให้ชาวบ้าน หรือ แก่นักพัฒนากันมากขึ้น เพราะเชื่อว่า เป็นทางไปสู่การสร้างความเข้มแข็ง และการเรียนรู้ พัฒนาตัวเองได้ดีมากขึ้น ในบรรยากาศการทำงาน ที่เป็นธรรมชาติ ไม่เสแสร้ง กันจนเคยชิน แล้วก็พยายามค้นหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่เป็นเดิมทุนแล้ว และพยายามเอาสิ่งนั้นมาเป็นแบบอย่าง ขยายผล และเอามาหนุนเสริมการทำงานต่อ

มาถึงศตวรรษนี้ คนที่ทำงานพัฒนาเป็น จึงมิใช่คนที่รู้สาระของของอะไรๆ ได้หมด หรือรู้วิธีการไปหมดทุกเรื่อง หรือสั่งการให้คนทำหมดได้ทุกเรื่อง แต่กลับไปอยู่ที่การรู้จักการแบ่งปัน เรียนรู้ หนุนเสริมซึ่งกันและกัน เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ การปรับตัวเองได้ เขาก็ได้งานได้ความสุข เราต่างก็ได้งานได้ความสุข อย่ามัวแต่สั่งการคนอื่นจนเพลิน จนลืมนึกถึงว่า เขาเป็นคน..........


โดย บุญส่ง เวศยาสิรินทร์

ไม่มีความคิดเห็น: