วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

วีดีอาร์ (VDR.)อีกแล้วครับท่าน

คำนำ ผมลองเสนอแบบ "รายงานการพัฒนาหมู่บ้าน (หรือ VDR.) ประจำปี..." เพราะเรื่องนี้ ทำท่าจะเป็นเรื่องฮิตฮ็อทของกรมฯ อีกแล้ว ด้วยได้อ่านหนังสือประเภท Human หรือ Social Development Report ที่หน่วยงานตปท.เขาทำมาตลอด ที่อ่าน เพราะอยากรู้ว่า แต่ละปี องค์การระดับอินเตอร์ เหล่านั้น เขาเสนอสาระประเด็นใดบ้างที่น่าสนใจ และดูลีลาการนำเสนอ ครั้นต้องเกี่ยวข้องกับการคิด เขียนตัวอย่างวีดีอาร์ บวกประสบการณ์ที่เคยมี ก็ดูเหมือนจะจินตนาการได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม อยากให้น้องๆพัฒนากรที่ทำ ทำแล้ว รู้สึกสนุกกับมัน ตรงที่ได้มีโอกาสคุย เสวนา ร่วมมือทำงานกับคนอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่ ประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การศึกษาข้อมูล ที่จะเขียนออกมาจึงควรทำกันเป็นทีม ให้พัฒนากรเป็นตัวขับเคลื่อน การเขียนวีดีอาร์ เป็นเรื่องการรายงานผลการพัฒนาในห้วงเวลา 1 ปี ที่หลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคปชช. เป็นเรื่องงานที่ผ่านมาแล้ว จึงไม่ควรให้เกิดความรู้สึกว่างานนี้ ถูกตู่ว่าเป็นของพช.

การเขียนอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการวิเคราะห์ และมองสู่อนาคต เพื่อชี้แนะ ท้าทาย ให้ผู้เกี่ยวข้อง เอาไปศึกษา วางแผนต่อ การจัดทำ วีดีอาร์ ก็เป็นการพัฒนาการเรื่อง KM ให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง ยังเป็นการเผยแพร่แนวคิดหลักการพัฒนา ข้อมูลข่าวสารการพัฒนาของหมู่บ้านที่ผ่านมา และแนวโน้มที่ควรจะเป็น เกิดการรวบรวม จัดระบบข้อมูลต่างๆ สู่ ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชน การนำเสนอเป็นเล่มเอกสาร จึงน่าจะมีองค์ประกอบแต่ละบท/ตอน ดังนี้ครับ

(อ้อ...งานนี้เป็นการยกย่องให้เกิยรติภาคปชช.ผู้นำท้องถิ่น อปท.หรือหน่วยงานภาคีพัฒนาด้วย หากทำให้ดูพิสดาร และเนียนสักหน่อย รายงานจะมีคุณค่ามาก)
(ตัวอย่าง)
รายงานการพัฒนาหมู่บ้าน ปี 2550
หมู่บ้านโคกสวรรค์ อำเภอ.....จังหวัด.....
Village Development Report Year ........

----------------
- อารัมภบท (อาจให้ตัวแทน อบต. ผู้นำท้องถิ่น ฯลฯ เป็นผู้ให้เกียรติเกริ่นนำ แสดงความเห็น)
- กิตติกรรมประกาศ (ถ้ามี)
- สารบาญ
- บทคัดย่อสำหรับผู้บริหาร
- บทนำ
(บอกเหตุผล ความเป็นมา หลักการ วัตถุประสงค์ของการจัดทำรายงาน กระบวนการ/วิธีการ การ ได้มาซึ่งข้อมูล ข่าวสารจนเป็นเอกสารรายงานฉบับนี้)

บทที่ 1 การดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้านที่ผ่านมา

· ชุมชนบอกอะไรเราบ้าง (เน้นข้อมูลที่ได้จากการลงไปปรึกษา หารือโดยตรงกับชุมชน)
· เรารู้อะไรบ้างจากข้อมูลอื่นๆ อันเป็นเรื่องราวของหมู่บ้านนี้ รวมถึงผลกระทบจากการพัฒนาต่างๆ ที่ผ่านมา (จากการศึกษาจากแหล่งภายนอก อาทิ รายงานต่างๆ การศึกษา วิจัย การประชุม ฯลฯ)
· ชุมชนต้องการทำอะไรต่อไป (จากการลงสู่ชุมชน + ข้อมูล องค์ความรู้ต่างๆที่รวบรวมได้)

บทที่ 2 ศึกษา วิเคราะห์ แนวทางการพัฒนาหมู่บ้านสู่อนาคต

· ศักยภาพการพัฒนาของชุมชน
(วิเคราะห์ และประเมิน จากจุดแข็ง จุดอ่อน สิ่งที่เป็นอุปสรรค และโอกาสด้านการพัฒนาของหมู่บ้าน)
· แนวทางที่น่าจะเป็น หรือสิ่งท้าทายความสำเร็จของหมู่บ้าน (ในการที่จะมุ่งสู่อนาคต – โดยเอาตัวชี้วัด ที่ปรากฏอยู่ใน จปฐ. กชช.2 ค มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ ให้ข้อเสนอแนะ เช่น ประเด็นต่อไปนี้
- สุขภาพอนามัย
- การศึกษา
- รายได้และการมีงานทำ
- บ้านและสภาพที่อยู่อาศัย
- สภาพครอบครัวและชุมชน
- การคมนาคม
- การส่วนร่วมในด้านต่างๆของชุมชน
- แนวทางความร่วมมือในการพัฒนาหมู่บ้าน น่าจะมีอะไรบ้าง อย่างไร หรือจะเน้นประเด็นนำเสนอ(Theme) เรื่องใดเป็นกรณีพิเศษในแต่ปี ตามข้อเท็จจริงของหมู่บ้าน ตำบล หรือสถานการณ์ เช่น เล่นเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเท่าเทียมหญิงชาย ความเข้มแข็งประชาคมหมู่บ้าน แผนชุมชน ธรรมาภิบาล เป็นต้น

(ควรศึกษาองค์กรที่เกี่ยวข้อง พันธมิตรพัฒนา ภาคธุรกิจ ฯลฯ ว่าเขาคิดหรือมีแผนต่อหมู่บ้านนี้ อย่างไรบ้าง)
· ข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาในปีต่อไป (ของพัฒนากร หรือคณะทำงานฯ) ให้สอดคล้องกับข้อมูล หรือ สิ่งที่ค้นพบ
บทที่ 3 แหล่งที่มาของข้อมูลในการจัดทำรายงานการพัฒนาหมู่บ้าน

(ส่วนนี้ จะบอกให้ทราบว่า ในการเขียนรายงาน ใช้ข้อมูล เอกสาร บุคคล หรือแหล่งอ้างอิงอะไรบ้าง จากแหล่งใดบ้าง หากเกี่ยวข้องผู้ให้สัมภาษณ์ หรือให้ข้อมูลสำคัญ ก็ระบุชื่อ สถาบันที่ให้ข้อมูลลงไป แหล่งข้อมูล อาจมา จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ทรงคุณวุฒิ นอกหมู่บ้านที่มีต่อการพัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้ หรือจะจัดเป็น Workshop พิเศษ ขึ้นมา ก็ได้ รายงานฯ จะน่าสนใจมาก)

บทที่ 4 ข้อมูลเชิงสถิติสำคัญที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อมูล จปฐ. กชช.2 ค ตาราง แผนภูมิ ภาพประกอบ ฯลฯ
(Fact Sheets, Village data/profile)

ข้อมูลพวกนี้ ที่เรียกว่าข้อมูลข้อเท็จจริง (Fact Sheets หรือ Village Data หรือ Profiles)อาจประกอบด้วยข้อมูลเชิงคุณภาพ ประวัติหมู่บ้านย่อๆ นอกจากนี้ ก็เป็นข้อมูลเชิงปริมาณต่างๆ เอาไว้บทที่ 4 ทั้งหมด หลังจากที่ดึงเอาไปใช้อธิบาย สนับสนุนการอภิปรายบรรยาย หรือวิเคราะห์ ในบทต้นๆ แล้ว จริงๆแล้วส่วนนี้ ก็เพื่อประกอบการอ้างอิง เท่านั้น ออกแบบให้ง่ายต่อการอ่าน ทำความเข้าใจ อาจเป็นแผนภูมิ ตาราง กร๊าฟ รูปถ่าย ฯลฯ

ถ้าดูให้ดี ตั้งแต่คำนำ เป็นต้นมา จะเห็นการไหล หรือ flow ของข้อมูลที่เริ่มจาก "ตัวตน" ของชุมชน สิ่งที่มีอยู่จริง สิ่งที่ชุมชนต้องการหรือคาดหวัง หลักการที่ดีหรือน่าจะเป็นสำหรับการพัฒนาหมู่บ้านนี้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผลกระทบการพัฒนา คนและองค์การ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในหมุ่บ้าน และสุดท้ายหมู่บ้านนี้ จะเดินไปทางไหนต่อ อย่างไร.. ครับเจ้านาย

--------------