วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ประสานจว.เรื่องCoaching ที่ศพช.เขต 6(16-18 กค.50)

ถึง นวช./หรือผู้เกี่ยวข้อง สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด พื้นที่ ศพช.เขต 5 (เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และแม่ฮ่องสอน )
ผมขอประสานงานราชการแบบทางเลือก มาดังนี้ ครับ เพื่อจะได้ส่งต่อกรม และเขต 6 ต่อไป
ส่งให้ผมโดยวิธีที่เห็นว่า สะดวกที่สุด โทร.หรืออีเมลย์ ผ่านช่องนี้ได้เลย ขอบคุณมากครับ แล้วพบกันนะครับ กรม และเขต 6 ทวงมาจังเลย
จากนั้น ผมจะได้อีเมลให้เขาต่อครับผม นส.รายละเอียดมี ตามนี้ครับ- บุญส่ง นส.อย่างเป็นทางราชการจะตามมา ตอนนี้เจ้านายส่วนใหญ่ไม่อยู่ครับผม

( สำเนา )
บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ ศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชน เขตที่ 6 กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล
ที่ มท 0411/ว 378 วันที่ 13 มิถุนายน 2550
เรื่อง โครงการฝึกอบรมหลักสูตรการสอนแนะงาน ระดับจังหวัด (กลุ่ม ศพช.เขต 5,6 และ 12)
---------------------------------------------------------------------------
เรียน ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชน เขตที่ 5, 6 และ 12

ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้ศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขตที่ 6 เป็นหน่วยดำเนินการ โครงการฝึกอบรมหลักสูตรการสอนแนะงาน ระดับจังหวัด (กลุ่มศพช. เขต5,6 และ 12) กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บังคับบัญชาระดับต้น ได้แก่หัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่าย จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และ พัฒนาการอำเภอในพื้นที่ ศพช. เขต 5 จำนวน 18 คน ศพช.เขต 6 จำนวน 18 คน และ ศพช.เขต 12 จำนวน 14 คน รวมทั้งสิ้น 50 คน กำหนดดำเนินการระหว่างวันที่ 16 -18 กรกฏาคม 2550 ณ อาคารฝึกอบรม ศพช.เขต 6 อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
เพื่อให้การดำเนินการตามโครงการ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ ศพช.เขต 6 ขอความอนุเคราะห์ ศพช. เขต 5 และ 12 ดำเนินการ ดังนี้

1. แจ้งรายชื่อนักพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ร่วมเป็นวิทยากร จำนวน 2 คน ให้ ศพช.เขต 6 และให้เดินทางไปรายงานตัวร่วมประชุมเตรียมความพร้อม ในวันที่ 15 กรกฏาคม 2550 ภายในเวลา 13.00 น. โดยเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการจากโครงการ
2. ประสานแจ้งจังหวัด ในพื้นที่รับผิดชอบส่งรายชื่อกลุ่มเป้าหมาย ที่จะเข้ารับการฝึกอบรม ตามโครงการ ถึง ศพช.เขต 6 ภายในวันที่ 26 มิถุนายน 2550 ทั้งนี้ ให้ตรวจสอบตัวสะกดรายชื่อ นามสกุล ให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการจัดทำใบประกาศนียบัตร
3. ให้แจ้งกลุ่มเป้าหมาย เตรียมกรณีศึกษาเกี่ยวกับการสอนงานเพื่อนำไปฝึกปฏิบัติจริง ระหว่างดำเนินการฝึกอบรมด้วย
4. แจ้งกลุ่มเป้าหมาย เดินทางไปรายงานตัว ในวันที่ 16 กรกฏาคม 2550 ภายในเวลา 08.30 น. ณ อาคารฝึกอบรม ศพช.เขต 6 อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการจากโครงการโดยประหยัด

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

(นายพีระศักดิ์ ศักดิ์ศรีวิชัย)
ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขตที่ 6
************

แบบฟอร์มสังเปข สำหรับการแจ้งรายชื่อผู้เข้าอบรม มีดังนี้ครับผม
ชื่อ - สกุล ตำแหน่ง สังกัด (อำเภอ/จังหวัด) หมายเหตุ

หมายเหตุสำหรับโควตา แต่ละจังหวัด มีการกำหนดไว้แล้ว ดังนี้

1. จังหวัด ชม. จำนวน 5 คน (หน.ฝ่ายหรือกลุ่มงาน 1 คน พอ. 4 คน)
(ชม. ได้ส่งรายชื่อให้เรียบร้อยแล้ว)

2. จังหวัด ชร. จำนวน 4 คน (หน.ฝ่าย หรือกลุ่มงาน 1 คน พอ.3 คน)
3. จังหวัด ลป. จำนวน 3 คน (หน.ฝ่าย หรือกลุ่มงาน 1 คน พอ.2 คน)
4. จังหวัด ลพ.จำนวน 2 คน (หน.ฝ่าย หรือกลุ่มงาน 1 คน พอ.1 คน)
5. จังหวัด พย. จำนวน 2 คน (หน.ฝ่าย หรือกลุ่มงาน 1 คน พอ.1 คน)
6. จังหวัด มส. จำนวน 2 คน (หน.ฝ่าย หรือกลุ่มงาน 1 คน พอ.1 คน)

(เพิ่มเติมครับ : บุคคลเป้าหมายที่เข้าอบรม ไม่ควรซ้ำกับบุคคลที่เคยอบรม เรื่องการสอนแนะงานที่เคยจัด ที่ศพช.เขต5 (ปี 48) มาแล้ว และไม่ควรซ้ำกับพัฒนาการอำเภอที่เคยเข้าอบรมหลักสูตรเพิ่มสมรรถนะความเป็นผู้นำ ที่เขต 12 (เมื่อวันที่ 19-21 มิย.50) มาแล้ว)

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2550

แบกเป้เที่ยวในต่างแดน; ท่องโลกกว้างกับเมีย สไตล์พัฒนาชุมชน(บันทึกตอนที่2)

แบกเป้เที่ยวในต่างแดน ; ท่องโลกกว้างกับเมีย สไตล์พัฒนาชุมชน
(บันทึกตอนที่ 2)

บทนำ หลังจากผมเขียนเรื่องนี้เ พื่อเล่าประสบการณ์เดินทางแบกเป้เที่ยวกับภรรยา ในต่างแดน เที่ยวลาว และเวียตนาม ก็ได้รับความสนใจตอบรับ จากคนอ่านที่ กทม. 2 ราย ทางอีเมล ขอข้อมูลเดินทางทำนองว่า จะลองอย่างผมบ้าง ขอบคุณครับ ผมเองไม่มีเวลา และหมดแรงที่จะเขียนต่อเรื่องนี้ เป็นตอนๆ จึงเขียนเป็นสรุปทั้งหมด รวมทั้งจะให้ข้อแนะนำที่นักเดินทางประเภทนี้ ควรเตรียม เป็นอันว่าพวกเราเริ่มจากสะหวันนะเขต ต่อจากตอนที่แล้วครับ และคงจบกันที่ตอนที่ 3

สะหวันเขต มีสิ่งน่าสนใจน่าเที่ยว น่าศึกษามากพอสมควร เป็นจังหวัดหรือแคว้นไม่ใหญ่โตบรรยากาศแบบสังคมนิยม สถาปัตยกรรม ที่หลงเหลือแบบฝรั่งเศส เจดีย์โบราณสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบพุทธ และยังมีโบสถ์ฝรั่งเก่าแก่หลายแห่ง ออกไปรอบนอกเมืองนิดเดียว ก็เห็นชนบทลาว โรงงานเกาหลี วิทยาลัยครู ตลาดที่เรียกว่าตลาดสิงคโปร์ จำหน่ายพวกอุปกรณ์ไฟฟ้านานาชนิด ตลาดเสื้อผ้า ร้านทองแบกะดิน แม่ค้าขายของเร่ชาวเวียตนาม บ้างก็ให้บริการตัดแต่งเล็บมือเล็บเท้า นั่งทำกันข้างฟุตบาธ

เจดีย์วัดอิงฮัง อันศักดิ์สิทธิ์ นัยว่ายุคเดียวกับเจดีย์นครพนม ที่นี่โดยรวมก็เงียบ ไม่คึกคักเหมือนจังหวัดทางอิสานบ้านเรา แต่สำหรับคนที่ชอบความเงียบสงบ และบรรยากาศสังคมนิยม สถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์แบบลาว ก็น่าตื่นตาตื่นใจทีเดียว พวกเรา 2 คน หลังจากมาส่งและแยกกับญาติที่ท่าเรือข้ามฟากกลับฝั่งไทย ก็เข้าที่พักโรงแรมแห่งหนึ่งในสะหวันนะเขต เตรียมเดินทางต่อไปยังเวียตนามในวันรุ่งขึ้น

รุ่งขึ้น เวลาประมาณสองโมงเช้าในวันนั้น การผจญภัยเล็ก ๆ โดยรถบัสประจำทางก็เริ่มขึ้น รถบัสยี่ห้อแดวู ประมาณ 40 ที่นั่ง มีแอร์ (ร้อนมากกว่าเย็น) ไม่มีห้องน้ำ พวงมาลัยอยู่ด้านขวา โชเฟ่อร์เวียตนาม เริ่มออกเดินทางจากจุดรับผู้โดยสาร ที่โรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อ “สวรรณบ้านเฮา” มุ่งสู่ตะวันออก ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 9 ลาวสู่ภาคกลางของเวียตนาม ราคาค่ารถโดยสารประมาณ 400 บาท (ใช้เงินเหรียญสหรัฐ) ระยะทางประมาณ 300 กม. ด้วยความเร็วรถ คงเส้นคงวา ไม่เกิน 60 กม./ต่อชั่วโมง
บนรถวันนั้นพบว่า นอกจากพวกเรา 2 คน ยังมีนักเดินทางประเภทแบกเป้เที่ยวฝรั่งจากยุโรปเหมือนเรา อยู่ 4-5 คู่ นักธุรกิจเวียตนาม และคนลาวที่ต้องเดินทางไปมา ติดต่อธุระที่เวียตนาม บนรถแอร์อุ่น ได้ยินเสียงโขมงโฉงเฉง ภาษาเวียตนาม ข้าวของสัมภาระสินค้าวางเทิน เต็มทางเท้า เกลื่อนกลาด ภายในรถแม้ดูรุงรัง เอนกประสงค์ แต่คนขับ เป็นกันเอง/ขับไปคุยไป ผู้โดยสารรวมชาติอยากจอดเข้าสุขาเวลาใด แค่ตะโกนบอก จอดข้างทาง เข้าป่าได้ตลอดเวลา จะหยุดพักทานอาหาร สูบบุหรี่กัน เป็นเรื่องเป็นราว ก็แถบร้านอาหารระหว่างทาง ซึ่งผู้ประกอบการเป็นของคนเวียตนาม แหล่งจอดรถมักเป็นร้านอาหาร ไม่หรูหราหรือเหมือนปั๊มน้ำมันเหมือนบ้านเรา หลายแห่งที่พบไม่สะอาด ห้องสุขาแบบโบราญ ว่ากันว่าห้องน้ำร้านริมทางเหล่านี้ มีมาตรฐานไม่แพ้ห้องน้ำเมืองจีน รถจอดทีว่ากันเป็นชั่วโมง พวกเราต้องพกน้ำดื่มไปด้วย

สองฝั่งทาง เห็นชนบทลาวดูเป็นธรรมชาติ เงียบสงบดี ส่วนใหญ่เวิ้งว้าง สลับกับฝูงวัว แพะที่เป็นปศุสัตว์หลักของลาว อวดกายบนถนนให้เห็นบ่อย เห็นภูเขาสีสันรูปร่างแปลก เป็นบางช่วง

รถบัสสีน้ำเงินเข้ม แล่นแบบอ้อยสร้อย บนถนนลาดยางหยาบๆ ขนาด 2 เลน นานๆ มีรถสวนมาสักครั้ง หมู่บ้านลาว น่าจะไม่แตกต่างจากอิสานเราเมื่อหลายสิบปีก่อน ตกบ่าย พวกเราถึงชายแดน ตรวจคนเข้าเมืองจุดผ่านแดนเวียตนาม - ลาวที่ ลาวบาว จากชุมชนเล็กๆแห่งนี้ คือจุดแรกของการเปลี่ยนฉากภูมิทัศน์จากลาวที่ได้กล่าวไปแล้ว เป็นของเวียตนาม ซึ่งได้เห็นพื้นที่เป็นดินแดนเขียวขจี เริ่มเห็นแม่น้ำสายเล็กๆ ป่าไม้ ภูเขาเขียวมากขึ้น บ้านเรือคนเวียตนามและบริเวณบ้านที่มีต้นไม้ หรือเรือกสวนบริเวณบ้าน มีลักษณะมั่นคง แข็งแรงร่มรื่น แตกต่างออกไปจากฝั่งลาว

ที่ลาวบาวพวกเราได้ ทักทายกับเจ้าหน้าที่ ในชุดเขียวอ่อนของเวียตนามนิดหน่อย ภาษาอังกฤษของพวกเราเริ่มถูกใช้ในการสื่อสารแล้วหลังจากนี้ ระหว่างอยู่บนรถเช้านี้ พวกเราก็ยังได้รู้จักชายสูงอายุเวียตนาม ซึ่งกำลังจะเดินทางไปฮานอย ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแก้เหงาไปตลอดทางเหมือนกัน เขาเป็นอดีตทหารเสนารักษ์เวียตกง จึงได้เล่าเรื่องราวสงครามกู้ชาติสมัยรบกับอเมริกันและเวียตนามใต้ เรื่องราวที่เล่าทำให้ทราบทัศนะ จิตวิญญาณการเป็นนักต่อสู้ของเวียตนามน่าสนใจไม่น้อย พวกเราคิดว่า โชคดีมาก เพราะอย่างน้อยขณะนี้ เรามีเพื่อนร่วมเดินทาง โดยบังเอิญ โดยเฉพาะเขาได้ช่วยพวกเราในการสั่งอาหารเวียตนาม และให้ข้อแนะนำเรื่องการแลกเงิน และการใช้ชีวิตท่องเที่ยวในเวียตนาม มิตรภาพมันเกิดขึ้นได้ทุกที่จริงๆ หากมนุษย์ เห็นและเคารพ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ เพศ วัย อายุ เชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสถานภาพใดๆ ก็ไม่มีความหมายเทียมเท่า - แหมกลายเป็นนักปรัชญาไปแล้ว

ตรวจคนเข้าเมืองประทับตราพาสปอร์ต ตรวจสิ่งตามระบบศุลกากรเรียบร้อย แลกเงินตรา ยิ้มกับเจ้าหน้าที่ เวียตนาม เรียบร้อยแล้ว รถบัส ก็ออกเดินทางต่อไปในดินแดนของเวียตนาม
เห็นฝูงหมู ตัวตุ้ยของเวียตนาม ออกมาวิ่งเล่นชมวิวบนถนน จนรถพวกเราต้องเบรกกันตัวโก่งหลายครั้ง บรรยากาศชนบท และสนับเมืองเล็กๆ เวอร์ชั่นเวียตนาม เริ่มเข้มขึ้นตามลำดับ ได้ยินคนขับรถคุยภาษาเวียตนามโขมงโฉงเฉง กับผู้โดยสารที่นั่งอยู่ข้างๆ สลับกับหัวเราะเป็นระยะ พวกเขาคง เล่าเจี้ย แก้เหงากันกระมัง อาจมีความสุข เพราะขับรถมานานร่วม 5 ชั่วโมงแล้ว อีกสักครู่ก็จะถึงที่หมาย..ว่าไปนั่น...

แค่นี้ยังไม่พอเปิดหน้าต่างด้านคนขับ ควักบุหรี่มวนโต ออกมาสูบอย่างอารมณ์ โดยไม่ต้องเกรงใจกระทรวงสาธารณสุขเวียตนาม สัญญาณแตรรถอื้ออึง ยวดยานประเภทจักรยานยนต์ จักรยานถีบเริ่มหนาแน่นขึ้น นักเรียนนักศึกษา ในชุดยูนิฟอร์มเวียตนาม กำลังเลิกเรียน ชาวบ้านกำลังกลับจากงานเข้าบ้าน ในชั่วโมงเร่งรีบถนนที่แคบๆ หลายช่วง กลายเป็นแออัด รถก็บีบแตรไปตลอดเพื่อขอทาง บางครั้งคนสัญจรบนถนนไม่ยอมหลีก ก็ค่อยๆ แซงแบบซิกแซ็ก รถที่สวนมาข้างหน้าบีบแตรเปิดไฟหน้าใส่ หลบสวนกันอย่างน่าหวาดเสียว พวกเราก็ใจลุ้นคนขับ ขอให้อย่าถึงกับชนกัน แปลกตรงที่ไม่ค่อยได้ยินเสียงคนขับบ่น/ด่าทอ หรือตกใจ

รถเล็กกว่าจึงดูแทบไม่ต้องเกรงใจรถใหญ่ ฝรั่งผู้ร่วมเดินทางรวมรถกับพวกเรา ก็คงแปลกใจเหมือนกันว่าที่นี่ ทำไมเขาจึงขับรถใช้ถนนกันอย่างไม่กลัวอันตราย ดูราวกับว่าสวัสดิภาพของผู้คนแขวนไว้บนเส้นด้าย ความเจ็บตายหรือสูญเสียเกิดขึ้นได้ทุกขณะ แต่ว่าไปแล้ว ทราบว่าการขับขี่ยานพาหนะที่นี่ เขาบังคับใช้กฎหมายการจราจร เพื่อควบคุมความเร็วกันอย่างเข้มข้น ดังนั้นใครขับรถซิ่ง ก็จะถูกลงโทษโดยไม่ไว้หน้า –ดีจัง

ขณะนี้ พวกเรากำลังเดินทางบนถนน ที่กำลังเข้าเมืองใหญ่ ซึ่งอีกไม่นานก็จะถึงทางหลวงหมายเลข 1 ซึ่งเป็นทางหลวง สายสำคัญเชื่อมเวียตนามเหนือ/ เวียตนามใต้ในอดีต พวกเราซึ่งได้เดินทางมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง เริ่มเหนื่อยแล้ว เหลือบเห็นฝรั่งผัวเมียหลายคู่ ผู้ร่วมอุดมการณ์เดินทางตลุยเวียตนาม ก็มีท่าทางเหนื่อย อิดโรยไม่แพ้พวกเรา อา!..คืนนี้ คือคืนแรกที่พวกเราจะต้องพักแรมที่ไหนสักแห่งในเมืองเว้ เมืองมรดกโลกที่สำคัญอีกแห่ง ภาพโรงแรมที่พัก อาหารเวียตนามอร่อยๆ เริ่มลอยเข้ามา ปนเปอยู่ในจินตนาการของพวกเรา ตลอดถึงโอกาสในการพบ
คุณหมอเหงียน วัน ลี สหายเก่าแก่คนหนึ่ง ที่โรงพยาบาลดานัง

การเดินทางทางบกจากลาวเข้าเวียตนาม เมื่อถึงเมืองดองฮา ก็จะเป็นการมุ่งสู่ทิศใต้ หากไปเรื่อยๆอีกสัก 1 คืน ก็จะถึงโฮจิมินต์ซิตี้ หรือไซง่อนเมืองหลวงเก่าได้ แต่สำหรับพวกเรา เอาแค่เดินทางล่องลงไปที่เป้าหมายเมืองเว้ ดานัง และฮอยอัน เท่านั้น ถนนสายหลักลากขนาน ไปกับเส้นทางรถไฟ สองฝั่งทาง เห็นหมู่บ้าน เห็นทะเล ชุมชนเวียตนาม ที่สะดุดตาคือผ่านสุสาน ซึ่งมีให้เห็นบ่อยจำนวนมากมายในย่านชุมชน หรือแม้กระทั่งติดกับแถบบ้านเรือน นี่อาจบอกให้ทราบว่าพิธีการฝังศพ และความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย เป็นเรื่องสำคัญของผู้คนในประเทศนี้ สุสานแต่ละแห่งมีสีสัน แต่ละที่คงมีประวัติศาสตร์อันสำคัญ

เปลี่ยนรถโดยสารใหม่ลักษณะรถทัวร์สำหรับบริการนักท่องเที่ยว มีฝรั่งชายหญิงเต็ม มีพวกเราคู่เดียวที่เป็นคนไทย ก็พาพวกเรามาถึงเมืองเว้ เมืองมรดกโลกที่สำคัญ ในตอนค่ำพอดี ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย พวกเราเข้าโรงแรมที่พัก ตามคำแนะนำของคนขับรถส่งถึงหน้าโรงแรม โดยที่พวกเราไม่มีโอกาสตัดสินใจอะไรเลย แต่ก็โอเค สำหรับพวกเรา

บรรยากาศค่ำคืนริมแม่น้ำหอมแห่งเมืองเว้ ยามราตรีดูไม่ต่างจากยืนอยู่บนท่าเรือข้ามฟากฝั่งศิริราช มองออกไปทางฝั่งธรรมศาสตร์ แลเห็นสะพานพระปิ่นเกล้า ยังไงก็ยังงั้น แต่ที่นี่เป็นสะพานเหล็กโบราณ ใครเคยดูหนังฮอลลีวูด เรื่อง A Bridge is Too Far อาจนึกสภาพออก สีสันตลาดยวดยานยามเช้า สามล้อถีบ คนขี่จักรยานยนต์ และจักรยานเริ่มมากันราวฝูงมด พ่อค้าแม่ค้า และชีวิตเวียตนาม บรรยากาศท่องเที่ยวเกิดขึ้นแล้วสำหรับพวกเราที่นี่ พร้อมๆ กับอาคันตุกะฝรั่งแดนไกลที่มาท่องเที่ยวกันเหมือนพวกเรา เมื่อเข้าที่พักซึ่งบรรยากาศดีพอประมาณ พวกเราหาอาหารมื้อค่ำทานกัน อาหารเวียตนามอาจจืดชืดสำหรับคออาหารไทย ใช้เวลาที่มี สำรวจ เดินเที่ยว สถานที่รอบโรงแรม และวางแผนท่องเที่ยวในวันรุ่งขึ้น หรืออาจหาซื้อทัวร์ไปเช้า – เย็นกลับสักโปรแกรม

คนเวียตนาม เป็นนักค้าขายนักเจรจาต่อรองโดยสายเลือด บ้างก็ว่า สายเลือดนักสู้ และความเป็นนักทำการค้าเหนือกว่าคนจีนด้วยซ้ำ นักเรียนนักศึกษา เห็นเรียน ท่องหนังสือกันอย่างดุดัน ผ่านไปมุมไหน ก็เห็นพนักงาน ถือดิกชันนารี ฝึกภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

สำหรับพวกเรานักเดินทางซำเหมา แม้จะไม่เคยมีเงินล้านเลยในชีวิต แต่เมื่อไปเวียตนาม ก็จะกลายเป็นคนมีเงินล้านได้ทันทีจับจ่ายใช้สอยกันแต่ละครั้งจ่ายค่าบริการ เช่น ค่าสามล้อ หรือค่าอาหาร บางครั้งว่ากันเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน (ดอง)

เรียกได้ว่าเมื่อไปจะกลายเป็นคนมีเงินล้านได้ทันที จะจับจ่ายซื้อของ ได้อย่างแสนสบาย เครื่องคิดเลข รอยยิ้ม ภาษาร่างกาย (สำหรับคนที่ใช้ภาษาต่างประเทศไม่ได้) ดูจะ เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ คนเวียตนาม รู้จักประเทศไทยดี ผมลองแอบถามเรื่องเมืองไทยหลายเรื่องที่เขารู้จัก ก็ฮือฮากัน

ที่เว้ พวกเราซื้อทัวร์ประเภท 1 วันเที่ยวกันกับกลุ่มฝรั่งอีกประมาณ 10 คน คงมีพวกเราคู่เดียวเท่านั้นจากประเทศไทย ไกด์หนุ่มเวียตนามพาพวกเราเที่ยวตามโปรแกรม 1 วันที่กำหนด เริ่มตั้งแต่ประเภทสุสานจักรพรรดิ เมืองพระราชวัง กำแพงเมืองโบราณที่ปกครองโดยจักรพรรดิองค์ต่างๆ วัด เจดีย์ หมู่บ้านกลุ่มอาชีพที่มีผู้หญิงเวียตนามเป็นคนสาธิตการทำธูปหอมให้ดู ล่องเรือมังกรชมภูมิทัศน์สองฝั่งแม่น้ำหอมอันลือชื่อของที่นี่ และทานอาหารเที่ยงในภัตตาคารแห่งหนึ่ง ตกเย็นหมดโปรแกรมก็มีรถส่งกลับที่พัก

วันที่ 2 พวกเราเห็นว่าควรเป็นโอกาสของพวกเรามากกว่า ให้สมกับเป็นนักแบกเป้เที่ยว จึงเลือกที่
จะตะลุยกันเอง พวกเราจึงไปเที่ยวชมตลาดร้านค้าผู้คนจากการเดินทางเที่ยวกัน ที่น่าประทับใจมาก ก็คือการได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยวชมวัดเก่าๆของเวียตนาม พวกเราได้พบ พูดคุยกับนักบวชหญิง ชายด้วยอัธยาศัยไมตรี แม้อาจสื่อสารกันด้วยภาษาพูดไม่สะดวกนัก ด้วยนักบวชเหล่านี้พูดภาษาอังกฤษไม่เป็น แต่ภาษากายและรอยยิ้ม ทำให้พวกเรารู้สึกอบอุ่น รับรู้ได้ซึ้งถึงมิตรภาพ และเกิดความรู้สึกที่ดี ทำให้คิดถึงประโยคทองที่ Thich Nhat Hanh พระเถระผู้มีชื่อเสียงก้องโลกของเวียตนาม เคยกล่าวไว้ว่า

“If we are peaceful, if we are happy, we can smile and blossom like a flower and everyone in our family, in our entire society will benefit from our peace."

พวกเราเที่ยว เดินทาง ชมวัด พิพิธภัณฑ์ เมือง ตลาดย่านร้านธุรกิจที่เมืองเว้ อยู่ 2 คืน ตลอดเวลาพยายามติดต่อคุณหมอลี ที่โรงพยาบาลดานัง เมืองดานัง ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางใต้ การติดต่อกันทางโทรศัพท์ระบบทางไกลในประเทศที่ไม่คุ้นเคย และต้องสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษ ผ่านระบบ คนมากมายเป็นเรื่องที่ต้องอดทน และใช้ศิลปะมากทีเดียว เสียเงินค่าโทรทางไกลไม่ว่ากัน แต่เสียเวลา และไม่ได้ผลอันเกิดจากความพยายามติดต่อ ทำให้ความรู้สึกดีๆ เสียไป เพราะพูดกันไม่รู้เรื่องกับอีกปลายทางหนึ่ง – ก็ขอให้คุณหมอลี โชคดีและมีอายุยืนยาว พวกเราคิดส่งความระลึกถึงสหายเก่าที่เคยรู้จักกันนาน

พวกเราต้องเดินทางต่อไปฮอยอัน ตามโปรแกรมกะว่าจะอยู่ที่นั่นสัก 2 วัน เวลาที่เหลือจึงเป็นการอ่านเอกสารวางแผนเดินทางท่องเที่ยว แต่ฮอยอันไม่ห่างจากเว้ที่เราอยู่ขณะนี้มากนัก ผ่านดานัง เส้นทางรถยนต์จากที่นี่ไป ทราบว่าสวยมาก ขนาดกับเส้นทางรถไฟ และยังผ่านอุโมงค์รถยนต์ที่ยาวถึง 6 กม. บางช่วงเห็นทะเล ชายหาดสวยงาม อีกไม่นานพวกเรา ก็จะไปถึงฮอยอันกันแล้ว จริงๆ พวกเราอยากไปทางรถไฟกัน แต่ทราบว่าที่นั่น ไม่มีทางรถไฟผ่าน ดังนั้น หากต้องการต่อรถไฟ ซึ่งตอนแรก พวกเราคิดว่า ต้องการต่อขึ้นเหนือ ไปยังฮานอยเลย แต่ก็ต้องย้อนมาขึ้นรถที่เว้ หรือ ดานัง เท่านั้น ......ฮอยอัน ฉันรักเธอกำลังรอพวกเราอยู่ ที่เว้ฝนตกหนักมากในบ่ายวันหนึ่งที่พวกเราอยู่ที่นั่น
หวังว่าที่ฮอยอัน ฝนคงไม่ตก และพวกเราคงได้เที่ยวกันสนุก ข้อมูลการเดินทางพร้อมแล้ว สำหรับซำเหมาทัวร์แบกเป้เที่ยว....

**************