วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

วีดีอาร์ (VDR.)อีกแล้วครับท่าน

คำนำ ผมลองเสนอแบบ "รายงานการพัฒนาหมู่บ้าน (หรือ VDR.) ประจำปี..." เพราะเรื่องนี้ ทำท่าจะเป็นเรื่องฮิตฮ็อทของกรมฯ อีกแล้ว ด้วยได้อ่านหนังสือประเภท Human หรือ Social Development Report ที่หน่วยงานตปท.เขาทำมาตลอด ที่อ่าน เพราะอยากรู้ว่า แต่ละปี องค์การระดับอินเตอร์ เหล่านั้น เขาเสนอสาระประเด็นใดบ้างที่น่าสนใจ และดูลีลาการนำเสนอ ครั้นต้องเกี่ยวข้องกับการคิด เขียนตัวอย่างวีดีอาร์ บวกประสบการณ์ที่เคยมี ก็ดูเหมือนจะจินตนาการได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม อยากให้น้องๆพัฒนากรที่ทำ ทำแล้ว รู้สึกสนุกกับมัน ตรงที่ได้มีโอกาสคุย เสวนา ร่วมมือทำงานกับคนอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่ ประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การศึกษาข้อมูล ที่จะเขียนออกมาจึงควรทำกันเป็นทีม ให้พัฒนากรเป็นตัวขับเคลื่อน การเขียนวีดีอาร์ เป็นเรื่องการรายงานผลการพัฒนาในห้วงเวลา 1 ปี ที่หลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคปชช. เป็นเรื่องงานที่ผ่านมาแล้ว จึงไม่ควรให้เกิดความรู้สึกว่างานนี้ ถูกตู่ว่าเป็นของพช.

การเขียนอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการวิเคราะห์ และมองสู่อนาคต เพื่อชี้แนะ ท้าทาย ให้ผู้เกี่ยวข้อง เอาไปศึกษา วางแผนต่อ การจัดทำ วีดีอาร์ ก็เป็นการพัฒนาการเรื่อง KM ให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง ยังเป็นการเผยแพร่แนวคิดหลักการพัฒนา ข้อมูลข่าวสารการพัฒนาของหมู่บ้านที่ผ่านมา และแนวโน้มที่ควรจะเป็น เกิดการรวบรวม จัดระบบข้อมูลต่างๆ สู่ ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชน การนำเสนอเป็นเล่มเอกสาร จึงน่าจะมีองค์ประกอบแต่ละบท/ตอน ดังนี้ครับ

(อ้อ...งานนี้เป็นการยกย่องให้เกิยรติภาคปชช.ผู้นำท้องถิ่น อปท.หรือหน่วยงานภาคีพัฒนาด้วย หากทำให้ดูพิสดาร และเนียนสักหน่อย รายงานจะมีคุณค่ามาก)
(ตัวอย่าง)
รายงานการพัฒนาหมู่บ้าน ปี 2550
หมู่บ้านโคกสวรรค์ อำเภอ.....จังหวัด.....
Village Development Report Year ........

----------------
- อารัมภบท (อาจให้ตัวแทน อบต. ผู้นำท้องถิ่น ฯลฯ เป็นผู้ให้เกียรติเกริ่นนำ แสดงความเห็น)
- กิตติกรรมประกาศ (ถ้ามี)
- สารบาญ
- บทคัดย่อสำหรับผู้บริหาร
- บทนำ
(บอกเหตุผล ความเป็นมา หลักการ วัตถุประสงค์ของการจัดทำรายงาน กระบวนการ/วิธีการ การ ได้มาซึ่งข้อมูล ข่าวสารจนเป็นเอกสารรายงานฉบับนี้)

บทที่ 1 การดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้านที่ผ่านมา

· ชุมชนบอกอะไรเราบ้าง (เน้นข้อมูลที่ได้จากการลงไปปรึกษา หารือโดยตรงกับชุมชน)
· เรารู้อะไรบ้างจากข้อมูลอื่นๆ อันเป็นเรื่องราวของหมู่บ้านนี้ รวมถึงผลกระทบจากการพัฒนาต่างๆ ที่ผ่านมา (จากการศึกษาจากแหล่งภายนอก อาทิ รายงานต่างๆ การศึกษา วิจัย การประชุม ฯลฯ)
· ชุมชนต้องการทำอะไรต่อไป (จากการลงสู่ชุมชน + ข้อมูล องค์ความรู้ต่างๆที่รวบรวมได้)

บทที่ 2 ศึกษา วิเคราะห์ แนวทางการพัฒนาหมู่บ้านสู่อนาคต

· ศักยภาพการพัฒนาของชุมชน
(วิเคราะห์ และประเมิน จากจุดแข็ง จุดอ่อน สิ่งที่เป็นอุปสรรค และโอกาสด้านการพัฒนาของหมู่บ้าน)
· แนวทางที่น่าจะเป็น หรือสิ่งท้าทายความสำเร็จของหมู่บ้าน (ในการที่จะมุ่งสู่อนาคต – โดยเอาตัวชี้วัด ที่ปรากฏอยู่ใน จปฐ. กชช.2 ค มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ ให้ข้อเสนอแนะ เช่น ประเด็นต่อไปนี้
- สุขภาพอนามัย
- การศึกษา
- รายได้และการมีงานทำ
- บ้านและสภาพที่อยู่อาศัย
- สภาพครอบครัวและชุมชน
- การคมนาคม
- การส่วนร่วมในด้านต่างๆของชุมชน
- แนวทางความร่วมมือในการพัฒนาหมู่บ้าน น่าจะมีอะไรบ้าง อย่างไร หรือจะเน้นประเด็นนำเสนอ(Theme) เรื่องใดเป็นกรณีพิเศษในแต่ปี ตามข้อเท็จจริงของหมู่บ้าน ตำบล หรือสถานการณ์ เช่น เล่นเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเท่าเทียมหญิงชาย ความเข้มแข็งประชาคมหมู่บ้าน แผนชุมชน ธรรมาภิบาล เป็นต้น

(ควรศึกษาองค์กรที่เกี่ยวข้อง พันธมิตรพัฒนา ภาคธุรกิจ ฯลฯ ว่าเขาคิดหรือมีแผนต่อหมู่บ้านนี้ อย่างไรบ้าง)
· ข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาในปีต่อไป (ของพัฒนากร หรือคณะทำงานฯ) ให้สอดคล้องกับข้อมูล หรือ สิ่งที่ค้นพบ
บทที่ 3 แหล่งที่มาของข้อมูลในการจัดทำรายงานการพัฒนาหมู่บ้าน

(ส่วนนี้ จะบอกให้ทราบว่า ในการเขียนรายงาน ใช้ข้อมูล เอกสาร บุคคล หรือแหล่งอ้างอิงอะไรบ้าง จากแหล่งใดบ้าง หากเกี่ยวข้องผู้ให้สัมภาษณ์ หรือให้ข้อมูลสำคัญ ก็ระบุชื่อ สถาบันที่ให้ข้อมูลลงไป แหล่งข้อมูล อาจมา จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ทรงคุณวุฒิ นอกหมู่บ้านที่มีต่อการพัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้ หรือจะจัดเป็น Workshop พิเศษ ขึ้นมา ก็ได้ รายงานฯ จะน่าสนใจมาก)

บทที่ 4 ข้อมูลเชิงสถิติสำคัญที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อมูล จปฐ. กชช.2 ค ตาราง แผนภูมิ ภาพประกอบ ฯลฯ
(Fact Sheets, Village data/profile)

ข้อมูลพวกนี้ ที่เรียกว่าข้อมูลข้อเท็จจริง (Fact Sheets หรือ Village Data หรือ Profiles)อาจประกอบด้วยข้อมูลเชิงคุณภาพ ประวัติหมู่บ้านย่อๆ นอกจากนี้ ก็เป็นข้อมูลเชิงปริมาณต่างๆ เอาไว้บทที่ 4 ทั้งหมด หลังจากที่ดึงเอาไปใช้อธิบาย สนับสนุนการอภิปรายบรรยาย หรือวิเคราะห์ ในบทต้นๆ แล้ว จริงๆแล้วส่วนนี้ ก็เพื่อประกอบการอ้างอิง เท่านั้น ออกแบบให้ง่ายต่อการอ่าน ทำความเข้าใจ อาจเป็นแผนภูมิ ตาราง กร๊าฟ รูปถ่าย ฯลฯ

ถ้าดูให้ดี ตั้งแต่คำนำ เป็นต้นมา จะเห็นการไหล หรือ flow ของข้อมูลที่เริ่มจาก "ตัวตน" ของชุมชน สิ่งที่มีอยู่จริง สิ่งที่ชุมชนต้องการหรือคาดหวัง หลักการที่ดีหรือน่าจะเป็นสำหรับการพัฒนาหมู่บ้านนี้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผลกระทบการพัฒนา คนและองค์การ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในหมุ่บ้าน และสุดท้ายหมู่บ้านนี้ จะเดินไปทางไหนต่อ อย่างไร.. ครับเจ้านาย

--------------

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ประสานจว.เรื่องCoaching ที่ศพช.เขต 6(16-18 กค.50)

ถึง นวช./หรือผู้เกี่ยวข้อง สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด พื้นที่ ศพช.เขต 5 (เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และแม่ฮ่องสอน )
ผมขอประสานงานราชการแบบทางเลือก มาดังนี้ ครับ เพื่อจะได้ส่งต่อกรม และเขต 6 ต่อไป
ส่งให้ผมโดยวิธีที่เห็นว่า สะดวกที่สุด โทร.หรืออีเมลย์ ผ่านช่องนี้ได้เลย ขอบคุณมากครับ แล้วพบกันนะครับ กรม และเขต 6 ทวงมาจังเลย
จากนั้น ผมจะได้อีเมลให้เขาต่อครับผม นส.รายละเอียดมี ตามนี้ครับ- บุญส่ง นส.อย่างเป็นทางราชการจะตามมา ตอนนี้เจ้านายส่วนใหญ่ไม่อยู่ครับผม

( สำเนา )
บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ ศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชน เขตที่ 6 กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล
ที่ มท 0411/ว 378 วันที่ 13 มิถุนายน 2550
เรื่อง โครงการฝึกอบรมหลักสูตรการสอนแนะงาน ระดับจังหวัด (กลุ่ม ศพช.เขต 5,6 และ 12)
---------------------------------------------------------------------------
เรียน ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชน เขตที่ 5, 6 และ 12

ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้ศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขตที่ 6 เป็นหน่วยดำเนินการ โครงการฝึกอบรมหลักสูตรการสอนแนะงาน ระดับจังหวัด (กลุ่มศพช. เขต5,6 และ 12) กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บังคับบัญชาระดับต้น ได้แก่หัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่าย จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และ พัฒนาการอำเภอในพื้นที่ ศพช. เขต 5 จำนวน 18 คน ศพช.เขต 6 จำนวน 18 คน และ ศพช.เขต 12 จำนวน 14 คน รวมทั้งสิ้น 50 คน กำหนดดำเนินการระหว่างวันที่ 16 -18 กรกฏาคม 2550 ณ อาคารฝึกอบรม ศพช.เขต 6 อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
เพื่อให้การดำเนินการตามโครงการ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ ศพช.เขต 6 ขอความอนุเคราะห์ ศพช. เขต 5 และ 12 ดำเนินการ ดังนี้

1. แจ้งรายชื่อนักพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ร่วมเป็นวิทยากร จำนวน 2 คน ให้ ศพช.เขต 6 และให้เดินทางไปรายงานตัวร่วมประชุมเตรียมความพร้อม ในวันที่ 15 กรกฏาคม 2550 ภายในเวลา 13.00 น. โดยเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการจากโครงการ
2. ประสานแจ้งจังหวัด ในพื้นที่รับผิดชอบส่งรายชื่อกลุ่มเป้าหมาย ที่จะเข้ารับการฝึกอบรม ตามโครงการ ถึง ศพช.เขต 6 ภายในวันที่ 26 มิถุนายน 2550 ทั้งนี้ ให้ตรวจสอบตัวสะกดรายชื่อ นามสกุล ให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการจัดทำใบประกาศนียบัตร
3. ให้แจ้งกลุ่มเป้าหมาย เตรียมกรณีศึกษาเกี่ยวกับการสอนงานเพื่อนำไปฝึกปฏิบัติจริง ระหว่างดำเนินการฝึกอบรมด้วย
4. แจ้งกลุ่มเป้าหมาย เดินทางไปรายงานตัว ในวันที่ 16 กรกฏาคม 2550 ภายในเวลา 08.30 น. ณ อาคารฝึกอบรม ศพช.เขต 6 อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการจากโครงการโดยประหยัด

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

(นายพีระศักดิ์ ศักดิ์ศรีวิชัย)
ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขตที่ 6
************

แบบฟอร์มสังเปข สำหรับการแจ้งรายชื่อผู้เข้าอบรม มีดังนี้ครับผม
ชื่อ - สกุล ตำแหน่ง สังกัด (อำเภอ/จังหวัด) หมายเหตุ

หมายเหตุสำหรับโควตา แต่ละจังหวัด มีการกำหนดไว้แล้ว ดังนี้

1. จังหวัด ชม. จำนวน 5 คน (หน.ฝ่ายหรือกลุ่มงาน 1 คน พอ. 4 คน)
(ชม. ได้ส่งรายชื่อให้เรียบร้อยแล้ว)

2. จังหวัด ชร. จำนวน 4 คน (หน.ฝ่าย หรือกลุ่มงาน 1 คน พอ.3 คน)
3. จังหวัด ลป. จำนวน 3 คน (หน.ฝ่าย หรือกลุ่มงาน 1 คน พอ.2 คน)
4. จังหวัด ลพ.จำนวน 2 คน (หน.ฝ่าย หรือกลุ่มงาน 1 คน พอ.1 คน)
5. จังหวัด พย. จำนวน 2 คน (หน.ฝ่าย หรือกลุ่มงาน 1 คน พอ.1 คน)
6. จังหวัด มส. จำนวน 2 คน (หน.ฝ่าย หรือกลุ่มงาน 1 คน พอ.1 คน)

(เพิ่มเติมครับ : บุคคลเป้าหมายที่เข้าอบรม ไม่ควรซ้ำกับบุคคลที่เคยอบรม เรื่องการสอนแนะงานที่เคยจัด ที่ศพช.เขต5 (ปี 48) มาแล้ว และไม่ควรซ้ำกับพัฒนาการอำเภอที่เคยเข้าอบรมหลักสูตรเพิ่มสมรรถนะความเป็นผู้นำ ที่เขต 12 (เมื่อวันที่ 19-21 มิย.50) มาแล้ว)

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2550

แบกเป้เที่ยวในต่างแดน; ท่องโลกกว้างกับเมีย สไตล์พัฒนาชุมชน(บันทึกตอนที่2)

แบกเป้เที่ยวในต่างแดน ; ท่องโลกกว้างกับเมีย สไตล์พัฒนาชุมชน
(บันทึกตอนที่ 2)

บทนำ หลังจากผมเขียนเรื่องนี้เ พื่อเล่าประสบการณ์เดินทางแบกเป้เที่ยวกับภรรยา ในต่างแดน เที่ยวลาว และเวียตนาม ก็ได้รับความสนใจตอบรับ จากคนอ่านที่ กทม. 2 ราย ทางอีเมล ขอข้อมูลเดินทางทำนองว่า จะลองอย่างผมบ้าง ขอบคุณครับ ผมเองไม่มีเวลา และหมดแรงที่จะเขียนต่อเรื่องนี้ เป็นตอนๆ จึงเขียนเป็นสรุปทั้งหมด รวมทั้งจะให้ข้อแนะนำที่นักเดินทางประเภทนี้ ควรเตรียม เป็นอันว่าพวกเราเริ่มจากสะหวันนะเขต ต่อจากตอนที่แล้วครับ และคงจบกันที่ตอนที่ 3

สะหวันเขต มีสิ่งน่าสนใจน่าเที่ยว น่าศึกษามากพอสมควร เป็นจังหวัดหรือแคว้นไม่ใหญ่โตบรรยากาศแบบสังคมนิยม สถาปัตยกรรม ที่หลงเหลือแบบฝรั่งเศส เจดีย์โบราณสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบพุทธ และยังมีโบสถ์ฝรั่งเก่าแก่หลายแห่ง ออกไปรอบนอกเมืองนิดเดียว ก็เห็นชนบทลาว โรงงานเกาหลี วิทยาลัยครู ตลาดที่เรียกว่าตลาดสิงคโปร์ จำหน่ายพวกอุปกรณ์ไฟฟ้านานาชนิด ตลาดเสื้อผ้า ร้านทองแบกะดิน แม่ค้าขายของเร่ชาวเวียตนาม บ้างก็ให้บริการตัดแต่งเล็บมือเล็บเท้า นั่งทำกันข้างฟุตบาธ

เจดีย์วัดอิงฮัง อันศักดิ์สิทธิ์ นัยว่ายุคเดียวกับเจดีย์นครพนม ที่นี่โดยรวมก็เงียบ ไม่คึกคักเหมือนจังหวัดทางอิสานบ้านเรา แต่สำหรับคนที่ชอบความเงียบสงบ และบรรยากาศสังคมนิยม สถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์แบบลาว ก็น่าตื่นตาตื่นใจทีเดียว พวกเรา 2 คน หลังจากมาส่งและแยกกับญาติที่ท่าเรือข้ามฟากกลับฝั่งไทย ก็เข้าที่พักโรงแรมแห่งหนึ่งในสะหวันนะเขต เตรียมเดินทางต่อไปยังเวียตนามในวันรุ่งขึ้น

รุ่งขึ้น เวลาประมาณสองโมงเช้าในวันนั้น การผจญภัยเล็ก ๆ โดยรถบัสประจำทางก็เริ่มขึ้น รถบัสยี่ห้อแดวู ประมาณ 40 ที่นั่ง มีแอร์ (ร้อนมากกว่าเย็น) ไม่มีห้องน้ำ พวงมาลัยอยู่ด้านขวา โชเฟ่อร์เวียตนาม เริ่มออกเดินทางจากจุดรับผู้โดยสาร ที่โรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อ “สวรรณบ้านเฮา” มุ่งสู่ตะวันออก ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 9 ลาวสู่ภาคกลางของเวียตนาม ราคาค่ารถโดยสารประมาณ 400 บาท (ใช้เงินเหรียญสหรัฐ) ระยะทางประมาณ 300 กม. ด้วยความเร็วรถ คงเส้นคงวา ไม่เกิน 60 กม./ต่อชั่วโมง
บนรถวันนั้นพบว่า นอกจากพวกเรา 2 คน ยังมีนักเดินทางประเภทแบกเป้เที่ยวฝรั่งจากยุโรปเหมือนเรา อยู่ 4-5 คู่ นักธุรกิจเวียตนาม และคนลาวที่ต้องเดินทางไปมา ติดต่อธุระที่เวียตนาม บนรถแอร์อุ่น ได้ยินเสียงโขมงโฉงเฉง ภาษาเวียตนาม ข้าวของสัมภาระสินค้าวางเทิน เต็มทางเท้า เกลื่อนกลาด ภายในรถแม้ดูรุงรัง เอนกประสงค์ แต่คนขับ เป็นกันเอง/ขับไปคุยไป ผู้โดยสารรวมชาติอยากจอดเข้าสุขาเวลาใด แค่ตะโกนบอก จอดข้างทาง เข้าป่าได้ตลอดเวลา จะหยุดพักทานอาหาร สูบบุหรี่กัน เป็นเรื่องเป็นราว ก็แถบร้านอาหารระหว่างทาง ซึ่งผู้ประกอบการเป็นของคนเวียตนาม แหล่งจอดรถมักเป็นร้านอาหาร ไม่หรูหราหรือเหมือนปั๊มน้ำมันเหมือนบ้านเรา หลายแห่งที่พบไม่สะอาด ห้องสุขาแบบโบราญ ว่ากันว่าห้องน้ำร้านริมทางเหล่านี้ มีมาตรฐานไม่แพ้ห้องน้ำเมืองจีน รถจอดทีว่ากันเป็นชั่วโมง พวกเราต้องพกน้ำดื่มไปด้วย

สองฝั่งทาง เห็นชนบทลาวดูเป็นธรรมชาติ เงียบสงบดี ส่วนใหญ่เวิ้งว้าง สลับกับฝูงวัว แพะที่เป็นปศุสัตว์หลักของลาว อวดกายบนถนนให้เห็นบ่อย เห็นภูเขาสีสันรูปร่างแปลก เป็นบางช่วง

รถบัสสีน้ำเงินเข้ม แล่นแบบอ้อยสร้อย บนถนนลาดยางหยาบๆ ขนาด 2 เลน นานๆ มีรถสวนมาสักครั้ง หมู่บ้านลาว น่าจะไม่แตกต่างจากอิสานเราเมื่อหลายสิบปีก่อน ตกบ่าย พวกเราถึงชายแดน ตรวจคนเข้าเมืองจุดผ่านแดนเวียตนาม - ลาวที่ ลาวบาว จากชุมชนเล็กๆแห่งนี้ คือจุดแรกของการเปลี่ยนฉากภูมิทัศน์จากลาวที่ได้กล่าวไปแล้ว เป็นของเวียตนาม ซึ่งได้เห็นพื้นที่เป็นดินแดนเขียวขจี เริ่มเห็นแม่น้ำสายเล็กๆ ป่าไม้ ภูเขาเขียวมากขึ้น บ้านเรือคนเวียตนามและบริเวณบ้านที่มีต้นไม้ หรือเรือกสวนบริเวณบ้าน มีลักษณะมั่นคง แข็งแรงร่มรื่น แตกต่างออกไปจากฝั่งลาว

ที่ลาวบาวพวกเราได้ ทักทายกับเจ้าหน้าที่ ในชุดเขียวอ่อนของเวียตนามนิดหน่อย ภาษาอังกฤษของพวกเราเริ่มถูกใช้ในการสื่อสารแล้วหลังจากนี้ ระหว่างอยู่บนรถเช้านี้ พวกเราก็ยังได้รู้จักชายสูงอายุเวียตนาม ซึ่งกำลังจะเดินทางไปฮานอย ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแก้เหงาไปตลอดทางเหมือนกัน เขาเป็นอดีตทหารเสนารักษ์เวียตกง จึงได้เล่าเรื่องราวสงครามกู้ชาติสมัยรบกับอเมริกันและเวียตนามใต้ เรื่องราวที่เล่าทำให้ทราบทัศนะ จิตวิญญาณการเป็นนักต่อสู้ของเวียตนามน่าสนใจไม่น้อย พวกเราคิดว่า โชคดีมาก เพราะอย่างน้อยขณะนี้ เรามีเพื่อนร่วมเดินทาง โดยบังเอิญ โดยเฉพาะเขาได้ช่วยพวกเราในการสั่งอาหารเวียตนาม และให้ข้อแนะนำเรื่องการแลกเงิน และการใช้ชีวิตท่องเที่ยวในเวียตนาม มิตรภาพมันเกิดขึ้นได้ทุกที่จริงๆ หากมนุษย์ เห็นและเคารพ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ เพศ วัย อายุ เชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสถานภาพใดๆ ก็ไม่มีความหมายเทียมเท่า - แหมกลายเป็นนักปรัชญาไปแล้ว

ตรวจคนเข้าเมืองประทับตราพาสปอร์ต ตรวจสิ่งตามระบบศุลกากรเรียบร้อย แลกเงินตรา ยิ้มกับเจ้าหน้าที่ เวียตนาม เรียบร้อยแล้ว รถบัส ก็ออกเดินทางต่อไปในดินแดนของเวียตนาม
เห็นฝูงหมู ตัวตุ้ยของเวียตนาม ออกมาวิ่งเล่นชมวิวบนถนน จนรถพวกเราต้องเบรกกันตัวโก่งหลายครั้ง บรรยากาศชนบท และสนับเมืองเล็กๆ เวอร์ชั่นเวียตนาม เริ่มเข้มขึ้นตามลำดับ ได้ยินคนขับรถคุยภาษาเวียตนามโขมงโฉงเฉง กับผู้โดยสารที่นั่งอยู่ข้างๆ สลับกับหัวเราะเป็นระยะ พวกเขาคง เล่าเจี้ย แก้เหงากันกระมัง อาจมีความสุข เพราะขับรถมานานร่วม 5 ชั่วโมงแล้ว อีกสักครู่ก็จะถึงที่หมาย..ว่าไปนั่น...

แค่นี้ยังไม่พอเปิดหน้าต่างด้านคนขับ ควักบุหรี่มวนโต ออกมาสูบอย่างอารมณ์ โดยไม่ต้องเกรงใจกระทรวงสาธารณสุขเวียตนาม สัญญาณแตรรถอื้ออึง ยวดยานประเภทจักรยานยนต์ จักรยานถีบเริ่มหนาแน่นขึ้น นักเรียนนักศึกษา ในชุดยูนิฟอร์มเวียตนาม กำลังเลิกเรียน ชาวบ้านกำลังกลับจากงานเข้าบ้าน ในชั่วโมงเร่งรีบถนนที่แคบๆ หลายช่วง กลายเป็นแออัด รถก็บีบแตรไปตลอดเพื่อขอทาง บางครั้งคนสัญจรบนถนนไม่ยอมหลีก ก็ค่อยๆ แซงแบบซิกแซ็ก รถที่สวนมาข้างหน้าบีบแตรเปิดไฟหน้าใส่ หลบสวนกันอย่างน่าหวาดเสียว พวกเราก็ใจลุ้นคนขับ ขอให้อย่าถึงกับชนกัน แปลกตรงที่ไม่ค่อยได้ยินเสียงคนขับบ่น/ด่าทอ หรือตกใจ

รถเล็กกว่าจึงดูแทบไม่ต้องเกรงใจรถใหญ่ ฝรั่งผู้ร่วมเดินทางรวมรถกับพวกเรา ก็คงแปลกใจเหมือนกันว่าที่นี่ ทำไมเขาจึงขับรถใช้ถนนกันอย่างไม่กลัวอันตราย ดูราวกับว่าสวัสดิภาพของผู้คนแขวนไว้บนเส้นด้าย ความเจ็บตายหรือสูญเสียเกิดขึ้นได้ทุกขณะ แต่ว่าไปแล้ว ทราบว่าการขับขี่ยานพาหนะที่นี่ เขาบังคับใช้กฎหมายการจราจร เพื่อควบคุมความเร็วกันอย่างเข้มข้น ดังนั้นใครขับรถซิ่ง ก็จะถูกลงโทษโดยไม่ไว้หน้า –ดีจัง

ขณะนี้ พวกเรากำลังเดินทางบนถนน ที่กำลังเข้าเมืองใหญ่ ซึ่งอีกไม่นานก็จะถึงทางหลวงหมายเลข 1 ซึ่งเป็นทางหลวง สายสำคัญเชื่อมเวียตนามเหนือ/ เวียตนามใต้ในอดีต พวกเราซึ่งได้เดินทางมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง เริ่มเหนื่อยแล้ว เหลือบเห็นฝรั่งผัวเมียหลายคู่ ผู้ร่วมอุดมการณ์เดินทางตลุยเวียตนาม ก็มีท่าทางเหนื่อย อิดโรยไม่แพ้พวกเรา อา!..คืนนี้ คือคืนแรกที่พวกเราจะต้องพักแรมที่ไหนสักแห่งในเมืองเว้ เมืองมรดกโลกที่สำคัญอีกแห่ง ภาพโรงแรมที่พัก อาหารเวียตนามอร่อยๆ เริ่มลอยเข้ามา ปนเปอยู่ในจินตนาการของพวกเรา ตลอดถึงโอกาสในการพบ
คุณหมอเหงียน วัน ลี สหายเก่าแก่คนหนึ่ง ที่โรงพยาบาลดานัง

การเดินทางทางบกจากลาวเข้าเวียตนาม เมื่อถึงเมืองดองฮา ก็จะเป็นการมุ่งสู่ทิศใต้ หากไปเรื่อยๆอีกสัก 1 คืน ก็จะถึงโฮจิมินต์ซิตี้ หรือไซง่อนเมืองหลวงเก่าได้ แต่สำหรับพวกเรา เอาแค่เดินทางล่องลงไปที่เป้าหมายเมืองเว้ ดานัง และฮอยอัน เท่านั้น ถนนสายหลักลากขนาน ไปกับเส้นทางรถไฟ สองฝั่งทาง เห็นหมู่บ้าน เห็นทะเล ชุมชนเวียตนาม ที่สะดุดตาคือผ่านสุสาน ซึ่งมีให้เห็นบ่อยจำนวนมากมายในย่านชุมชน หรือแม้กระทั่งติดกับแถบบ้านเรือน นี่อาจบอกให้ทราบว่าพิธีการฝังศพ และความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย เป็นเรื่องสำคัญของผู้คนในประเทศนี้ สุสานแต่ละแห่งมีสีสัน แต่ละที่คงมีประวัติศาสตร์อันสำคัญ

เปลี่ยนรถโดยสารใหม่ลักษณะรถทัวร์สำหรับบริการนักท่องเที่ยว มีฝรั่งชายหญิงเต็ม มีพวกเราคู่เดียวที่เป็นคนไทย ก็พาพวกเรามาถึงเมืองเว้ เมืองมรดกโลกที่สำคัญ ในตอนค่ำพอดี ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย พวกเราเข้าโรงแรมที่พัก ตามคำแนะนำของคนขับรถส่งถึงหน้าโรงแรม โดยที่พวกเราไม่มีโอกาสตัดสินใจอะไรเลย แต่ก็โอเค สำหรับพวกเรา

บรรยากาศค่ำคืนริมแม่น้ำหอมแห่งเมืองเว้ ยามราตรีดูไม่ต่างจากยืนอยู่บนท่าเรือข้ามฟากฝั่งศิริราช มองออกไปทางฝั่งธรรมศาสตร์ แลเห็นสะพานพระปิ่นเกล้า ยังไงก็ยังงั้น แต่ที่นี่เป็นสะพานเหล็กโบราณ ใครเคยดูหนังฮอลลีวูด เรื่อง A Bridge is Too Far อาจนึกสภาพออก สีสันตลาดยวดยานยามเช้า สามล้อถีบ คนขี่จักรยานยนต์ และจักรยานเริ่มมากันราวฝูงมด พ่อค้าแม่ค้า และชีวิตเวียตนาม บรรยากาศท่องเที่ยวเกิดขึ้นแล้วสำหรับพวกเราที่นี่ พร้อมๆ กับอาคันตุกะฝรั่งแดนไกลที่มาท่องเที่ยวกันเหมือนพวกเรา เมื่อเข้าที่พักซึ่งบรรยากาศดีพอประมาณ พวกเราหาอาหารมื้อค่ำทานกัน อาหารเวียตนามอาจจืดชืดสำหรับคออาหารไทย ใช้เวลาที่มี สำรวจ เดินเที่ยว สถานที่รอบโรงแรม และวางแผนท่องเที่ยวในวันรุ่งขึ้น หรืออาจหาซื้อทัวร์ไปเช้า – เย็นกลับสักโปรแกรม

คนเวียตนาม เป็นนักค้าขายนักเจรจาต่อรองโดยสายเลือด บ้างก็ว่า สายเลือดนักสู้ และความเป็นนักทำการค้าเหนือกว่าคนจีนด้วยซ้ำ นักเรียนนักศึกษา เห็นเรียน ท่องหนังสือกันอย่างดุดัน ผ่านไปมุมไหน ก็เห็นพนักงาน ถือดิกชันนารี ฝึกภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

สำหรับพวกเรานักเดินทางซำเหมา แม้จะไม่เคยมีเงินล้านเลยในชีวิต แต่เมื่อไปเวียตนาม ก็จะกลายเป็นคนมีเงินล้านได้ทันทีจับจ่ายใช้สอยกันแต่ละครั้งจ่ายค่าบริการ เช่น ค่าสามล้อ หรือค่าอาหาร บางครั้งว่ากันเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน (ดอง)

เรียกได้ว่าเมื่อไปจะกลายเป็นคนมีเงินล้านได้ทันที จะจับจ่ายซื้อของ ได้อย่างแสนสบาย เครื่องคิดเลข รอยยิ้ม ภาษาร่างกาย (สำหรับคนที่ใช้ภาษาต่างประเทศไม่ได้) ดูจะ เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ คนเวียตนาม รู้จักประเทศไทยดี ผมลองแอบถามเรื่องเมืองไทยหลายเรื่องที่เขารู้จัก ก็ฮือฮากัน

ที่เว้ พวกเราซื้อทัวร์ประเภท 1 วันเที่ยวกันกับกลุ่มฝรั่งอีกประมาณ 10 คน คงมีพวกเราคู่เดียวเท่านั้นจากประเทศไทย ไกด์หนุ่มเวียตนามพาพวกเราเที่ยวตามโปรแกรม 1 วันที่กำหนด เริ่มตั้งแต่ประเภทสุสานจักรพรรดิ เมืองพระราชวัง กำแพงเมืองโบราณที่ปกครองโดยจักรพรรดิองค์ต่างๆ วัด เจดีย์ หมู่บ้านกลุ่มอาชีพที่มีผู้หญิงเวียตนามเป็นคนสาธิตการทำธูปหอมให้ดู ล่องเรือมังกรชมภูมิทัศน์สองฝั่งแม่น้ำหอมอันลือชื่อของที่นี่ และทานอาหารเที่ยงในภัตตาคารแห่งหนึ่ง ตกเย็นหมดโปรแกรมก็มีรถส่งกลับที่พัก

วันที่ 2 พวกเราเห็นว่าควรเป็นโอกาสของพวกเรามากกว่า ให้สมกับเป็นนักแบกเป้เที่ยว จึงเลือกที่
จะตะลุยกันเอง พวกเราจึงไปเที่ยวชมตลาดร้านค้าผู้คนจากการเดินทางเที่ยวกัน ที่น่าประทับใจมาก ก็คือการได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยวชมวัดเก่าๆของเวียตนาม พวกเราได้พบ พูดคุยกับนักบวชหญิง ชายด้วยอัธยาศัยไมตรี แม้อาจสื่อสารกันด้วยภาษาพูดไม่สะดวกนัก ด้วยนักบวชเหล่านี้พูดภาษาอังกฤษไม่เป็น แต่ภาษากายและรอยยิ้ม ทำให้พวกเรารู้สึกอบอุ่น รับรู้ได้ซึ้งถึงมิตรภาพ และเกิดความรู้สึกที่ดี ทำให้คิดถึงประโยคทองที่ Thich Nhat Hanh พระเถระผู้มีชื่อเสียงก้องโลกของเวียตนาม เคยกล่าวไว้ว่า

“If we are peaceful, if we are happy, we can smile and blossom like a flower and everyone in our family, in our entire society will benefit from our peace."

พวกเราเที่ยว เดินทาง ชมวัด พิพิธภัณฑ์ เมือง ตลาดย่านร้านธุรกิจที่เมืองเว้ อยู่ 2 คืน ตลอดเวลาพยายามติดต่อคุณหมอลี ที่โรงพยาบาลดานัง เมืองดานัง ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางใต้ การติดต่อกันทางโทรศัพท์ระบบทางไกลในประเทศที่ไม่คุ้นเคย และต้องสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษ ผ่านระบบ คนมากมายเป็นเรื่องที่ต้องอดทน และใช้ศิลปะมากทีเดียว เสียเงินค่าโทรทางไกลไม่ว่ากัน แต่เสียเวลา และไม่ได้ผลอันเกิดจากความพยายามติดต่อ ทำให้ความรู้สึกดีๆ เสียไป เพราะพูดกันไม่รู้เรื่องกับอีกปลายทางหนึ่ง – ก็ขอให้คุณหมอลี โชคดีและมีอายุยืนยาว พวกเราคิดส่งความระลึกถึงสหายเก่าที่เคยรู้จักกันนาน

พวกเราต้องเดินทางต่อไปฮอยอัน ตามโปรแกรมกะว่าจะอยู่ที่นั่นสัก 2 วัน เวลาที่เหลือจึงเป็นการอ่านเอกสารวางแผนเดินทางท่องเที่ยว แต่ฮอยอันไม่ห่างจากเว้ที่เราอยู่ขณะนี้มากนัก ผ่านดานัง เส้นทางรถยนต์จากที่นี่ไป ทราบว่าสวยมาก ขนาดกับเส้นทางรถไฟ และยังผ่านอุโมงค์รถยนต์ที่ยาวถึง 6 กม. บางช่วงเห็นทะเล ชายหาดสวยงาม อีกไม่นานพวกเรา ก็จะไปถึงฮอยอันกันแล้ว จริงๆ พวกเราอยากไปทางรถไฟกัน แต่ทราบว่าที่นั่น ไม่มีทางรถไฟผ่าน ดังนั้น หากต้องการต่อรถไฟ ซึ่งตอนแรก พวกเราคิดว่า ต้องการต่อขึ้นเหนือ ไปยังฮานอยเลย แต่ก็ต้องย้อนมาขึ้นรถที่เว้ หรือ ดานัง เท่านั้น ......ฮอยอัน ฉันรักเธอกำลังรอพวกเราอยู่ ที่เว้ฝนตกหนักมากในบ่ายวันหนึ่งที่พวกเราอยู่ที่นั่น
หวังว่าที่ฮอยอัน ฝนคงไม่ตก และพวกเราคงได้เที่ยวกันสนุก ข้อมูลการเดินทางพร้อมแล้ว สำหรับซำเหมาทัวร์แบกเป้เที่ยว....

**************







วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

การวิจัยPAR.กับทีมวิจัยเขต 5

คำนำ ขณะนี้ ศพช. เขต 5 มีการเผยแพร่และนำ หลักการการวิจัยที่เรียกกัน โดยย่อว่า PAR เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการพัฒนาชุมชน ผมพบเอกสารเก่าที่เคยทำไว้เมื่อปี 48 จึงนำมาเสนออีกครั้ง สำหรับเพื่อนพ้องที่สนใจ (การเปรียบเทียบเดิมเขียนเป็นช่องตาราง แต่ในBlog ทำไม่ได้)จึงเสนอไว้เช่นนี้ โปรดพิจารณาเอาเอง หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้าง
-----------------------------------------------------------------
เปรียบเทียบการวิจัย PAR) กับการวิจัยทั่วไป และเปรียบเทียบกับ วิธีการพัฒนาชุมชน

กระบวนการค้นหาปัญหาหรือวิจัยแบบเก่า (Problem Solving process)

1. การกำหนดปัญหา(Problem Solving process)

2.วิเคราะห์ปัญหา (Problem Analysis)


3.กำหนดวัตถุประสงค์ (Objective Setting)

4.วางแผนแก้ไขปัญหา (Planning)

5.ปฏิบัติการตามแผน (Implementing)
6.ติดตาม ประเมินผล (Monitor and Evaluate)
---------------------------------------------------------
แต่ กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (PAR Process)

ก.ขั้นวิเคราะห์สถานการณ์ชุมชน
1.นักพัฒนาลงสู่ชุมชน และศึกษาเรียนรู้กับชุมชน โดย
-ร่วมค้นหา ระบุประเด็นปัญหา ที่จะนำไปสู่การกำหนดเป็นหัวข้อวิจัย ร่วมกัน
-เลือกทีมทำงานวิจัย ( เพื่อค้นหาคำตอบวิจัย)
2. ฝึกอบรมนักวิจัยชาวบ้าน (รอบที่ 1)
3. ปฏิบัติการวิจัย

4.ฝึกอบรมนักวิจัยชาวบ้าน (รอบที่2)

5.ปฏิบัติการวิจัย
-รวบรวม/วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้
-กำหนดคณะทำงานวางแผนแก้ไขปัญหาจากการวิจัยที่ค้นพบ
-ให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา

ข.ขั้นวางแผนปฏิบัติการในชุมชน
-ฝึกอบรมคณะกรรมการวางแผนชุมชน
-ให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้
-จัดทำข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากแหล่งทุน(หรือขับเคลื่อนกันเอง)

ค.ขั้นปฏิบัติการตามแผนที่วางไว้
-ติดตาม
-ประเมินผลโครงการ
ง.ขั้นสร้างความเข้มแข็งศักยภาพชุมชนต่อ
-------------------------------------------------------
ความหมายคำต่างๆที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน

1. นักวิจัย หมายถึง นักพัฒนาชุมชน + ชาวบ้าน + คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสิทธิ์เป็นนักวิจัยได้ทุกคน
2. การวิจัย หมายถึง กระบวนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ค้นหาคำตอบสิ่งต่างๆอย่างมีระบบ ขั้นตอน โดยบ้านเอง ซึ่งเป็นคนในชุมชน
3. โครงการ/กิจกรรม หมายถึงสิ่งที่ชาวบ้าน และนักพัฒนาร่วมกันทำ(Action) เป็นผลิตผลการวิจัยแบบมีส่วนร่วมที่สำคัญ
4.การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) ไม่เน้นรูปแบบที่ตายตัวเหมือน หรือต้องเขียนเป็นเอกสารรูปเล่ม หรือเป็นเชิงวิชาการเหมือนงานวิจัยทั่วไป โดยชาวบ้านร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ คิดค้นปัญหา ชาวบ้านแก้ไขปัญหา ชาวบ้านติดตามประเมินผล ชาวบ้านพอใจมีความสุข – นักพัฒนาเข้าไปกระตุ้น ร่วมส่งเสริม ร่วมปฏิบัติให้เกิดกระบวนการนี้ขึ้น

สรุปได้ว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการฯ(PAR) เป็นเรื่องของการทำงานแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ขั้นตอน โดย คนทุกคนได้มีส่วนร่วม เป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง แล้วนำไปสู่การกระทำ แก้ไขปัญหา ร่วมกัน สนุก เรียนรู้ รับผลประโยชน์ร่วมกัน ชาวบ้านทุกคนเป็นนักวิจัยได้

ส่วนหลักวิธีการพัฒนาชุมชน เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นว่า มีความเหมือนกับกระบวนการ PAR. คือ วิธีการทั้งสองอย่าง เน้นการเข้าไปคลุกคลีทำงานกับชุมชน แล้วพยายามหาคำตอบ เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ที่มีอยู่ในชุมชน โดยมักใช้คำถามพื้นฐาน หลักอยู่ 5 คำถาม คือ
· สิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร หรือ (What is ?)
· ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น (Why it is?)
· อะไร (อาจ) จะเกิดขึ้น ถ้าหากว่า..................(What would happen if……..)
· อะไรบ้างที่จะเป็นตัวช่วยให้เกิดการเรียนรู้ หรือแก้ไขปัญหาได้? (What would stimulate?)

· แล้ว เราจะน่าจะทำอะไรต่อไป (What should be done?)

ลองเข้าไปหาชุมชน พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับชาวบ้าน ในสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมที่เขาเป็นอยู่จริง แล้วพยายามตั้งคำถาม เหล่านี้ร่วมกัน เมื่อใดที่คนในชุมชนตั่งคำถามวิจัยเหล่านี้ ก็รีบสนับสนุนเขาเถอะ นั่นแสดงว่า กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกำลังจะเกิดขึ้น รีบสนับสนุนส่งเสริมเขาได้ทันที ท่านก็จะได้เรียนรู้ ชุมชนก็จะได้เรียนรู้ (เป็นนักวิจัย) แล้วปฏิบัติการ (Action) ต่างๆ จะเกิดขึ้น แล้วทุกคนจะมีความสุขจากการทำงานร่วมกัน



ที่มา : แปล และเรียบเรียงจาก (สำหรับการบรรยาย เมื่อ 25 มกราคม 2548) จาก
1. Community Organizing - Participatory Action Research (CO-PAR) by Luz Canve Anung et all, Institute of Primary Health Care, Davao Medical school Foundation, Ateneo De Davao University, Philippines, 1992
2. Community Development Theory by James B. Cook Department of Community Development University of Missouri, U.S.A

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

เรียนภาษาอังกฤษสไตล์นักพัฒนา ;จดหมายข่าว (เดือน เมย.50)

คำนำ : เนื่องจาก ศพช.เขต5 ได้ผลิตจดหมายข่าวชื่อ"จุลสาระ" รายเดือน ได้เริ่มฉบับแรกแล้วเดือนเมย.50 คาดว่าจะทำไปเรื่อยๆจนกว่าคนทำจะหมดแรง หรือหมดทุน จึงได้นำสาระที่ได้นำเสนอแจกจ่ายไปแล้วบางส่วน ลงเสนอไว้ในBlogนี้อีกครั้ง รวมถึงเพื่อทีมเพื่อนในโครงการ "เรียนภาษาอังกฤษ; เพื่อนช่วยเพื่อน ศพช.เขต 5" จะได้ร่วมรายการ อย่างต่อเนื่อง แม้ในกรณีที่ไม่ได้รับเอกสารโดยตรงก็ตาม ก็อาจเปิดอ่านจาก Blog แหล่งนี้ได้ เราจะเอามาลงทุกฉบับ ขอบคุณครับ

ฉบับที่ 1 เมษายน 2550
A letter from a friend in Lampang to a friend named Lumduan

A. จดหมายภาษาอังกฤษ (ฉบับที่ 1)

Dear Lumduan,

As you know, last week I went to attend a training course in Bangkok. The course was very interesting. You may want to know what kind of course I attended. The course was about how to develop a simple routine work to become a research work. We call it shortly a “R2R”.

For me, R2R is very important because people, in fact, do a lot of jobs daily. But they do not develop them as a research. If they do, other people will then learn something new and interesting. In the meantime, they can also use research method to improve their jobs. Do you agree with me that lessons learnt from the jobs are very important for us as a community development worker?
Lumduan, I think that next time I will tell you more about my lessons learnt during my last visit to Bangkok. This is because I met a lot of C.D. workers from many provinces. We shared ideas and experiences with each other. I promise that I will write to you next month.

I always miss you.

Your friend from Lampang

B. กติกาเรียนภาษาอังกฤษแบบนักพัฒนาชุมชน

(1) อ่านคำถามภาษาไทย ทั้ง 7 ข้อก่อน
(2) พยายามอ่านจดหมายภาษาอังกฤษ และหาคำตอบ ทั้ง 7 ข้อ
(3) อ่าน ดูคำเฉลยจากคำแปลภาษาไทย ศึกษาคำ เทียบเคียงศัพท์ต่างๆ
(4) หากอ่านจดหมายภาษาอังกฤษแล้ว พบว่าท่านเข้าใจ ก็แสดงว่า ท่านตอบคำถาม ทั้ง 7 ข้อถูกต้องแล้ว ไม่เชื่อก็ลองดู และอย่าลืมเทียบศัพท์จากคำแปลด้วย
C. คำถามภาษาไทย
1. เพื่อนที่ลำปาง ไปกรุงเทพเมื่อไร?
2. ไปทำอะไรที่นั่น?
3. ได้เรียนรู้ เรื่องอะไร?
4. ทุกวันนี้ เราไม่ค่อยได้พัฒนางานประจำ ให้เป็นงานวิจัย ใช่หรือไม่?
5. งานวิจัย มีประโยชน์อะไรบ้าง?
6. บทเรียนจากการทำงาน จำเป็นมาก ใช่ไหม?
7. เพื่อนที่ลำปาง ได้พบใครบ้างที่กรุงเทพ?
D. คำแปล
(ลำดวนที่รักคิดถึง.. ดังที่เธอทราบ สัปดาห์ก่อน ฉันไปเข้าหลักสูตรการฝึกอบรมที่กรุงเทพ หลักสูตรฝึกอบรมนี้น่าสนใจมาก เธออาจอยากรู้ว่าหลักสูตรอะไร หลักสูตรที่ว่า คือการทำงานประจำ ที่ง่ายๆ ให้เป็นงานวิจัย หรือเรียกอย่างย่อว่า “หลักสูตร R2R” สำหรับฉัน อาร์ทูอาร์. สำคัญมาก เพราะคนทั้งหลายทำงานประจำกันทุกวัน แต่มิได้พัฒนางานประจำ ให้เป็นการศึกษาวิจัย ถ้าหากพวกเขาทำ คนอื่นๆ จะสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ และน่าสนใจ เขายังสามารถนำการวิจัยไปปรับปรุงงานของพวกเขาได้ด้วย เธอเห็นด้วยกับฉันหรือเปล่าว่า บทเรียน จากการทำงาน มีความสำคัญมากสำหรับพัฒนากร? ลำดวน ฉันคิดว่าฉันจะเล่าเรื่องที่ฉันได้เรียนรู้ ตอนไปพักที่กรุงเทพให้เธอฟังอีก ด้วยเหตุว่า ฉันได้พบเพื่อนพัฒนากรจากหลายจังหวัด พวกเราได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ในเดือนหน้าฉันสัญญาว่าจะเขียนถึงเธออีก คิดถึงเธอเสมอ จากเพื่อนเธอที่ลำปาง)

ส่งความคิดเห็น/หรือทดลองเขียนภาษาอังกฤษร่วมสนุกได้ที่ทีมเรียนภาษาอังกฤษ:เพื่อนช่วยเพื่อน อีเมล์ : K_rongv@hotmail.com ยินดีตอบ/ แลกเปลี่ยน - พบกันใหม่ฉบับหน้า


************

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

เรื่องด่วน .. ถึงจังหวัด 6 จังหวัด(นส.กรมฯลว.17 พค.50)

เรื่อง การจัดทำ Workshop 4 ภาค ตามโครงการเสริมสร้างค่านิยมองค์กร
มีรายละเอียด เพิ่มเติมจากที่ Fax มาแล้ว ดังนี้ครับ
(สำเนา)
บันทึกข้อความ
ด่วนที่สุด
ส่วนราชการ กรมการพัฒนาชุมชน กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร โทร.0 26223131 ต่อ 161
ที่ มท 0418/ว 712 วันที่ 17 พฤษภาคม 2550
เรื่อง การจัดทำ Workshop 4 ภาค ตามโครงการเสริมสร้างค่านิยมองค์กร
เรียน ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขตที่ 1,4 ,5 และ 8

กรมการพัฒนาชุมชน โดยกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร และกลุ่มภารกิจด้านนวัตกรรมการบริหาร ได้จัดทำโครงการเสริมสร้างค่านิยมองค์กรขึ้น เพื่อเพิ่มขีดสมรรถนะขององค์กรและบุคคลของกรมฯ ให้สามารถมีค่านิยม และวัฒนธรรมองค์กร ที่เอื้ออำนวยต่อวัฒนธรรมองค์กร ที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาชุมชน อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุตามวิสัยทัศน์ และพันธกิจของกรมการพัฒนาชุมชน อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ และพันธกิจของกรมการพัฒนาชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ บุคลากรของกรมฯในทุกระดับได้มีส่วนร่วมในการกำหนดค่านิยมองค์กร และเกณฑ์บ่งชี้พฤติกรรม ตามค่านิยมที่มีความเหมาะสม กับบริบท และสิ่งแวดล้อมของกรมฯ ให้มากที่สุด โดยยึดวิธีดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการเสริมสร้างค่านิยมของกรมฯ และหลักการ 4 Ds Phasing (Define, Deploy, Drive และ Deepen)
ดังนั้น เพื่อเป็นการตรวจสอบความคิดเห็น และข้อเสนอแนะตามค่านิยมและเกณฑ์บ่งชี้พฤติกรรมขององค์กร จึงกำกำหนดให้จัดWorkshop 4 ภาค ขึ้น เพื่อนำผลสรุป และข้อเสนอแนะมาดำเนินการปรับปรุง ก่อนที่จะประกาศใช้เป็นค่านิยมและเกณฑ์บ่งชี้พฤติกรรมของกรมฯ ต่อไปจึงให้ ศพช.เขตดำเนินการดังนี้
1.จัดกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 40 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จาก ศพช.เขต จังหวัด และอำเภอ ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบเข้าร่วมกิจกรรม Workshop ตามกำหนดการที่แนบมา โดยให้เบิกค่าใช้จ่ายพาหนะในการเดินทางจากต้นสังกัด
2.จัดเตรียมสถานที่ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในกิจกรรมการแบ่งกลุ่ม Workshop จำนวน 4 กลุ่ม
3.จัดเลี้ยงอาหารกลางวัน จำนวน 1 มื้อ อาหารว่าง และเครื่องดื่ม จำนวน 2 มื้อ สำหรับกลุ่มเป้าหมายตามระเบียบฯค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฯ โดยเบิกจ่ายงบประมาณจากโครงการเสริมสร้างค่านิยมองค์กร

จึงเรียนมาเพื่อดำเนินการ


นายวิชล มนัสเอื้อศิริ
รองอธิบดี รักษาราชการแทน
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน
----------------------------
กำหนดการจัดกิจกรรมWorkshop 4 ภาค ตามโครงการเสริมสร้างค่านิยมองค์กร
วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม 2550
ณ ศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขตที่ 5 จังหวัดลำปาง

08.30 - 09.30 น. - รายงานตัว
09.30 - 11.00 น. - หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหารบรรยายหัวข้อ
“ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน”
11.0 – 12.00 น. - แบ่งกลุ่มฯ วิเคราะห์ค่านิยมองค์
12. 00 - 13.00 น. - พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.0 - 15.00 น. - วิเคราะห์เกณฑ์บ่งชี้พฤติกรรมตามค่านิยมองค์กร
15.0 - 16.30 น. - นำเสนอ/สรุปประเด็น และปิดกิจกรรม Workshop

หมายเหตุ : พักรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่ม เวลา 10.30 – 10.45 น.
และเวลา 14.30-14.45 น.

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ตามไปดูฝรั่งทำแผนพัฒนา 5 ปี

เมื่อหลายเดือนก่อน เจ้านายผมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ออสเตรเลีย กลับมา ท่านต้องรายงานผลต่อหน่วยเหนือ และเอาสิ่งที่ได้มาทำอะไรอีกหลายอย่าง ผมได้รับมอบหมายให้ร่วมแปลสรุปความเอกสารภาษาอังกฤษ บางชิ้น แต่อีกเรื่อง ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาเมือง 5 ปี ผมเห็นว่าน่าสนใจ ประกอบกับตอนไปราชการอยู่ที่สวีเดน เช้าเย็นผมได้คลุกคลี อยู่กับสำนักงานเทศบาลนครของเมืองๆ หนึ่ง ได้มีโอกาสคุยกับนายกเทศมนตรีของเมืองนี้ออกบ่อย แต่แค่คุยกันเรื่องต้มยำกุ้ง และเรื่องภารกิจงานที่ผมรับผิดชอบตรงๆ แม้คุยบ้างเรื่องหลักการวางแผนพัฒนาเมืองก็แค่เฉียด ๆ แต่ก็มีโอกาสออกไป ปฏิบัติงานแถบนอกเมืองแทบทุกอาทิตย์ เวลาผ่านไป ทำให้ ผมต้องกลับมาทบทวนประสบการณ์เหล่านั้นใหม่ อีกที จับแพะชนแกะที่ออสเตรเลีย เอากระทิงดุ ผสมผสมแม่วัวนม หรือเอาม้าผสมลาที่ไปพบเห็นมาที่สวีเดน บวกข้อมูลเอกสารจากฟากออสเตรเลีย ก็เขียนเป็นเรื่องเล่า ให้เห็นว่าฝรั่งเขามีวิธีคิด เขาวางแผนพัฒนาบ้านเมืองเขากันอย่างไร เหมือนหรือต่างจากบ้านเราหรือไม่ อย่างไร...........

(เกริ่นไว้แค่นี้ก่อน สมองไม่แล่นแล้ว หมู่นี้ช่างกำลังทาสี ตกแต่งสำนักงานเหม็นกลิ่นสีมาก ทำอะไรไม่สะดวก – แต่ก็มิใช่ข้ออ้าง ว่าไป ก็คงต้องพยายามเขียนเสนอในคราวต่อไปครับ) อ้อ... ผมจะพูดและวิเคราะห์ถึงกรณีของเทศบาลนคร ดังที่จั่วหัวไว้ข้างล่างนี้ครับ
; จริงๆก็อ่านจบ หลายรอบแล้ว แต่เรีบบเรียง เขียนถ่ายทอดไม่ออกขออภัย)
Campbelltown City, Social Plan, December 2004 – November 2009

ที่นี่ ;จะจัดการความรู้อย่างไรให้ได้ผลดี

คำนำ นี่เป็นข้อเขียนแสดงความคิดเห็นที่ศึกษาเพิ่มเติม จากแหล่งความรู้ ผสมผสานปรากฏการณ์ความเป็นจริง ที่ได้พบเห็นที่บอกถึงความคาดหวัง ต่อการดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการความรู้แต่ละครั้ง ข้อเขียนนี้ คงเป็นสาระที่จะแลกเปลี่ยนกันได้บ้างตามสมควร จึงเอามาเล่าสู่กันฟังใหม่

ถ้าผมเป็นครูใหญ่ ต้องไปจัดการสัมมนาครูน้อยซึ่งอยู่โรงเรียนเดียวกับผม ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถเอาวิธีการจัดการความรู้ (KM) ไปปฎิบัติได้อย่างเป็นผล จนโรงเรียนเรา เป็นโรงเรียนน่าอยู่ สามารถสร้างนักเรียน ให้เป็นคน ดีฉลาด ซึ่งจะทำให้ผมมีความสุขด้วย ผมคงต้องพูดโน้มน้าว ให้ครูน้อย ที่ทำงานร่วมสุขทุกข์กับผมได้เห็นความสำคัญ ตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจ และมีแรงบันดาลใจ เอาความรู้ ไปใช้ให้ได้ ใน ปี 2550 โดยให้สัญญาว่า จะร่วมผลักดันทุกวิถีทาง ที่จะทำให้ทุกคน นักการภารโรงในโรงเรียนของเรา สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จ แบบทุกคนมีความสุข และในฐานะครูใหญ่ ผมจะคอยเอาใจใส่ดูแล อำนวยความสะดวก แก่ทุกคนอย่างเต็มที่ ด้วยผมเองทราบดีว่า งานนี้มันท้าทายความสามรถ และว่า เมื่อสิ้นปี 2550 เราจะลองประเมินผลงานของพวกเรา เราจะฉลองชัยแห่งความสำเร็จ ในการทำงาน K.M. ด้วยความเหนื่อยยาก ร่วมกัน ผมขอสัญญา และจะเริ่มต้นประชุม ตามลำดับ ดังนี้........
ข้อที่ 1 กำหนดเป้าหมาย และข้อตกลงร่วมกัน เช่น อาจร่วมกันหาคำตอบทำนองว่า
- คำว่า “ได้ผลดี” น่าจะหมายถึง คนในโรงเรียนทุกคน ทุกระดับ มีความรู้ความเข้าใจว่า การจัดการความรู้ คืออะไร
-การจัดการความรู้ ทำแล้ว ได้ประโยชน์แก่ตนเองด้วย มิใช่ผลงานพิเศษของคนใดคนหนึ่ง แต่คนในโรงเรียน มีความสุข จากการร่วมกันทำงาน
-คนทุกคนอยากทำ อยากมีส่วนร่วมบนฐานความเต็มใจ มิใช่ถูกบังคับ กะเกณฑ์ หรือคำสั่งการใด ๆ เป็นต้น
ข้อที่ 2 ทบทวนอดีต ปัจจุบัน ( หาข้อมูลเก่า บวก ใหม่)
ลองทบทวน การดำเนินการการจัดการความรู้ ปีที่แล้ว ทำอย่างไร ผลเป็นอย่างไรบ้าง
(ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ) มีความคิดเห็น และข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง ลองสรุปให้เห็นเป็นบทเรียน (Lessons Learned) สักหน่อย ถ้าจะเดินต่อ ในปี 2550 โรงเรียนของเรา ควรทำอย่างไร อาทิ ดู
·ทีมงาน KCO. Facilitator ฯลฯ
·ขอบเขตงาน KM ที่ต้องการทำ (KM Focus Area) ก็หนีไม่พ้น ต้องพิจารณาจากพันธกิจ วิสัยทัศน์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ขององค์การใหญ่ บวกกับความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับองค์กร และสภาพปัญหา ความต้องการต่างๆ
ที่พบในโรงเรียน ประเด็นสภาพ ปัญหาความต้องการของคน อันหลัง ผมถือว่าสำคัญกว่าทั้งหมด จะทำ KM ทั้งที ถ้าไม่โฟกัสที่เรื่องนี้ ซึ่งเป็นบริบทสำคัญ ของการขับเคลื่อนนโยบายหน่วยงาน ทำไป ก็ป่วยการ เพราะเท่ากับไปเอาอำนาจ กฏเกณฑ์ เงื่อนไขจากภายนอก มากำหนดวิถีชีวิตการทำงานของคนในโรงเรียนเสียทั้งหมด ครูน้อยของผม ก็จะไม่มีความสุข หรือเครียด เหมือนเดิม
·เป้าหมายที่อยากให้เป็น หรืออยากเห็นในการทำงานจัดการความรู้ คืออะไร
จากที่กล่าวข้างต้น อาจตั้งเป็นคำถาม แล้วช่วยกันตอบ คือ
-อะไรที่เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ของหน่วยงานเรา และเอาเรื่องจัดการความรู้มาช่วยได้
-อะไรที่ เป็นเรื่องปัญหา ความต้องการที่ครูในโรงเรียน ยังค้างคาใจ และเอาเรื่องการจัดการความรู้ มาช่วยจัดการได้ (อันนี้แหละที่สำคัญทีสุด ก่อนไปขับเคลื่อนอย่างอื่น) และ
-สิ่งนี้ ก็คือ สิ่งที่คนในโรงเรียน ทำร่วมกันได้ ลองผิดลองถูกบ้าง แล้วเกิดความรู้สึกว่า...
·คนทุกคนในโรงเรียนมีความสุข อาจขนาดบรรลุ ดัชนีวัดความสุขที่คณะครูต้องการร่วมกันได้
·โรงเรียนแห่งนี้ โด่งดัง และผู้เกี่ยวข้องยอมรับฝีมือ
·โรงเรียนแห่งนี้ สามารถจัดบริการแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้อย่างสมใจ
ข้อ 3 วางแผน เดินสู่อนาคตร่วมกัน ( แบบทีม หรือปัจเจก ก็ยังได้ แต่เห็นว่าควรมีทั้ง 2 แบบ จะได้พัฒนาได้พร้อมๆกัน)

ถ้าทุกคนเห็นเป้าหมาย จากข้อ (2) เรามาช่วยกันทำแผนปฏิบัติการการจัดการความรู้ สำหรับปี 50 กันดีไหม ก็เอาศักยภาพทำที่ประเมินได้ อาจต้องต้องมีคำถามท้าทายกันหน่อย
* หากจะทำให้บรรลุเป้าหมายตามงานของยุทธศาสตร์ กรมด้านการศึกษา ของเขตบริหารการศึกษา และบรรลุปัญหาความต้องการของเหล่าครูในโรงเรียนเรา ความรู้/ข่าวสารที่ต้องการ คืออะไร หรือควรทำอะไรบ้าง
·คงต้องแยกให้เห็นเป็นเรื่องๆ แสดงให้เห็นองค์ประกอบของการปฏิบัติการจัดการความรู้ ที่พวกเราต้องการให้เห็นเป็นด้านๆ หรือเรื่องๆ ไป
·อาจต้องแสดงให้เพื่อนครูน้อย ได้เห็นว่า ในการจัดการความรู้ เพื่อให้มุ่งสู่จุดหมายที่ต้องการ(Desired State) มักจะมีตัวชี้วัดใน 6 เรื่อง/ด้าน ดังต่อไปนี้ ( ซึ่งครูน้อย เอาไปแตกเป็นกิจกรรมต่างๆ แล้วผลักดันร่วมกัน ให้บรรลุเป้าหมายแต่ละด้าน )
(1) การเรียนรู้
(2) การวัด/ประเมินผล
(3) การสร้างความยอมรับ และสร้างแรงจูงใจ
(4) กระบวนการทำงาน และเครื่องมือ
(5) การสื่อสาร
(6) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน
พูดอีกนัยหนึ่งคือ เราจะเอามาเป็นกรอบในการพิจารณาเพื่อการวางแผนปฏิบัติการ ทำได้อย่างไร อย่าลืม “เรา” ในที่นี้ เป็นทั้งตัวเป้าหมาย (End) และตัวขับเคลื่อนมรรควิธี (Means) ในกระบวนการพัฒนา ด้วย

ข้อ 4 ไหนๆ ก็มาเป็นประธานพิธีเปิดสัมมนาแล้ว บอก แสดงวิสัยทัศน์ อารมณ์ ความรู้สึกในฐานะครูใหญ่ที่ดี สักหน่อย จะเป็นไรไป

เพื่อให้เพื่อนครู ได้รู้ เข้าใจครูใหญ่เสียหน่อย ก็ไม่เสียหาย ตามประสาครูใหญ่ หรือนักบริหารโรงเรียนที่ดี เพราะ คำพูด วลีสั้นๆ เหล่านี้ อาจเตือนสติ และทำให้ครูน้อย รัก นับถือ เข้าใจครูใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น งาน KM. ก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย สอดคล้อง วิถีชีวิตจริงๆและสนุก คำ หรือวลี ต่อไปนี้ คือสิ่งที่ผมซึ่งเป็นครูใหญ่ จะบอกให้ทุกคน

“จะจริงใจ ไม่สำทับ ไม่ขู่ ไม่ใช้อารมณ์ แต่ใช้เหตุผลในการทำงานมากขึ้น ไม่อวดรู้ ให้เกียรติ เคารพสิทธิส่วนตัวครูน้อย รักษาเวลา ทำเรื่องอยากให้ง่าย ลดขั้นตอนงานที่ไม่จำเป็น ติดดิน มีมาตรฐาน การคิดการทำงาน และสร้างบรรยากาศการทำงาน ฯลฯ”

อ้อ.....ในฐานะครูใหญ่ของโรงเรียน นอกจากแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ ความตั้งใจ (Commitment) ของผมต่องานนี้ ผมควรถือโอกาสสำคัญให้กำลังใจครูน้อย เพื่อนร่วมงาน ป้าแก้ว ลุงคำ นายรอดบุญ ซึ่งเป็นนักการภารโรง และคนขับรถโรงเรียน ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงานหนนี้ด้วยว่า ผมตระหนัก สำนึกในความตั้งใจของทุกคน ที่ได้ร่วมกันทำงานหนัก อาจยกตัวอย่างความพยามยามในการทำงาน KM. ที่ผ่านมา วิเคราะห์ให้เห็นชัดๆ ก่อนจบ ชมเชยความพยายามของครูน้อย กับผลงานที่ผ่านมาด้วยท่าทีจริงใจ แสดงความคาดหวัง พูดเชื้อเชิญ ให้ทุกคน เห็นพ้อง ด้วยความรู้สึกที่ดี ( คิดว่า ผมไม่ควรนั่งบรรยายคนเดียวดีกว่า เขาเห็นหน้าผมบ่อย อาจเบื่อหน้าผม เพราะถ้าพูดไม่ดีอีก จะหมด อารมณ์ตั้งแต่ยกแรก - ตกลง ผมควรให้ครูเก่งคนหนึ่ง หรือคนอื่นๆ ช่วยพูด ผมควรดูห่างๆ หรือบางครั้งหาจังหวะช่วยเติมเต็ม เสริมแรงเพื่อนครูดีกว่า

เสียงปรบมือก้อง....บ้างพยักหน้า....ยิ้มแย้ม.....กาแฟและขนมเบรกอุ่น หอมกรุ่น โชยมาแล้ว.........








เขียนโดย ครูใหญ่โรงเรียนวัดดอนกระโทก เพื่อสนับสนุนการสัมมนาเรื่องการจัดการความรู้ ระหว่างวันที่ 7 - 8 ธันวาคม 2549 บันทึกเมื่อเช้าวันที่ 3 ธันวาคม 2549
ที่มาของข้อมูล : ข้อเขียนสังเคราะห์ความรู้ จากหนังสือต่อไปนี้
1. Knowledge Management หลายสำนักคิด
2. The Seven Habits of Highly Effective People
3. The Study Circle Method -จากหลายสำนักคิด
4. Lessons Learned: A Value Added Product of the Project Life Cycle โดย R Gilman
5. Strategic Planning Through Inquiry Approach หลายสำนักคิด

(โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความนี้ )

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

แบกเป้เที่ยวไปในต่างแดน; ท่องโลกกว้างกับเมีย สไตล์พัฒนาชุมชน (ตอนที่1)

บทนำ เดิมผู้เขียนตั้งใจเขียน เล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนในสำนักงานอ่านกันเล่นๆไม่จริงจังอะไร หลังจากกลับจากการเดินทางแล้ว ประกอบกับเพื่อนฝูงหลายคนสนใจ (ที่มีชีวิตรอดกลับมา) สอบถามวิธีการเดินทาง จึงลองเขียนไว้เพื่อนำเสนอ จนเวลาผ่านไป ขณะนี้กระแสการเดินทางไปท่องเที่ยว หรือศึกษางานต่างประเทศมีมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่เจ้านาย ซึ่งมีโอกาสดีกว่า กลับมาก็เขียนไว้มาก นั่นก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง แต่นี่เป็นการเดินทางอีกรูปแบบหนึ่ง อาจเหมาะ สำหรับคนจนๆ หรือชอบลุยหน่อย จึงเขียนเล่าใหม่ เผื่อคนที่สนใจ ใครถามเรื่องนี้ หรืออยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์อีก ก็จะได้อ้างถึงได้...
มีคำกล่าวที่ว่าการเดินทางท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง เปรียบเสมือนได้อ่านหนังสือสิบเล่มใหญ่ สำหรับในชีวิตจริงของเพื่อนนักพัฒนาอย่างเราๆ วันคืนที่ผ่านไป ดูเหมือนกำลังจมปลักอยู่กับคำว่า“งานๆ ๆ ”จนแทบไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่น โดยเฉพาะการเดินทางพักผ่อนและท่องไปในโลกกว้าง หมู่นี้ข่าวการท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านกำลังฮิตฮ็อต วันหนึ่งจึงตัดสินใจกับเมียวางแผน ไปเที่ยวเวียตนามและลาวกัน เร่มต้นลงทุนซื้อหนังสือเฉพาะเรื่องมาอ่าน ศึกษาจากอินเตอร์เน็ต คุยกับผู้รู้ อุ่นเครื่องอยู่พักใหญ่ พอได้ข้อมูล พร้อมเก็บเงิน เตรียมสุขภาพ ก็เริ่มเดินทางกัน
แน่นอน นี่เป็นการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ เพราะคิดว่าเป็นการเดินทางกับบุคคลสำคัญมาก และเป็นการเดินทางแบบท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยมีใครในบ้านเรานิยมกันนัก คือการเดินทางแบบแบกเป้เที่ยว 2 คนในต่างประเทศ(กับเมียหรือภรรยา) ครังแรก แม้เราเองจะเคยเดินทางแบบนี้มาแล้วคนเดียวในหลายประเทศ
1.เริ่มต้นการเดินทาง
เราสองคนเลือกเดินทางแบบซำเหมาพเนจร มุ่งให้เป็นการเดินทางแบบประหยัด จึงเลือกใช้ทางบก และเน้นการช่วยเหลือตัวเอง เริ่มภาคประเทศไทยจากจังหวัดเชียงใหม่โดยขึ้นรถทัวร์ปรับอากาศแบบสบายอารมณ์ในค่ำวันหนึ่ง ลูกชายลูกสาวทำหน้าที่มาส่งที่ท่ารถขนส่ง พวกเรามีเป้ ติดตัวกันเบ็ดเสร็จตามสูตร3 ใบ ด้วยต้องประเมินให้พอดีกับการแบกน้ำหนัก ใบใหญ่แข็งแรงใส่เสื้อผ้าของใช้ร่วมกัน ใบนี้สำหรับอยู่บนหลัง เวลาเดินเหินช่วงสั้น และเพื่อสามารถเก็บไว้ในห้องเก็บของของพาหนะ ติดป้ายชื่อภาษาไทยอังกฤษหนาแน่นเรียบร้อย ใบเล็กกว่าอีกคนละใบ สำหรับติดหลังตัวใครตัวมันให้อยู่ติดตัว ใส่กล้องถ่ายรูป พาสปอร์ตเอกสารสำคัญ อาหารขบเคี้ยว/ยา กระติกน้ำชาอันโปรด ไว้ซดยามกระหาย สมุดบันทึก คู่มือเดินทาง แผนที่ ของใช้อื่นๆ ที่จำเป็น

ที่ท่ารถขนส่ง ถ่ายรูปกันนิดหน่อย ด้วยรู้สึกว่ามันเป็นบรรยากาศที่แปลกกว่าที่เคยเป็น เราต่างแต่งกายกันดูทะมัดทะแมง ใส่เสื้อยืดรองเท้าสายรัดส้น หมวก อุปกรณ์พร้อม ถูกทำให้คล่องตัว ราวกับไปสนามรบ

รถโดยสารพาเราเดินทางสู่ขอนแก่น ถึงขอนแก่นเช้าตรู่ ทานอาหารเช้า กาแฟไข่กระทะที่ขึ้นชื่อของที่นั่น เดินเที่ยวเล่นกันพอได้เหงื่อ ซื้อตั๋วรถยนต์เดินทางต่อไปมุกดาหาร วันนั้น รถยนต์ปรับอากาศ มีผู้โดยสารมาก มีคนยืนกันเต็มรถ ในรถมีเด็กหนุ่มแนะนำตัวเอง ว่าเป็นอาจารย์มหาลัยแห่งหนึ่งแถวอีสาน ยืนอยู่ข้าง เราซึ่งนั่งอยู่ ได้คุยกันไปตลอดทาง ถามที่มาที่ไปก็ทราบว่า ตอนแรกเพราะเข้าใจว่าเราสองคน เป็นนักท่องเที่ยวจากจีนหรือญี่ปุ่น ด้วยหน้าตาจะออกไปทางนั้น ครั้นเห็นโลโก้ระบุชื่อสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งที่เสื้อเรา ก็สนใจ คุยด้วยกันพอประมาณ – ดีเหมือนกันวิว สองข้างทางระหว่างขอนแก่น-มุกดาหาร ก็คุ้นเคยอยู่แล้ว มีเพื่อนร่วมเดินทางดีๆ มาคุยด้วยสักจะเป็นไรไป

ถึงท่ารถบขส.มุกดาหารประมาณบ่ายๆ พวกเราพักเที่ยวที่มุกดาหาร 1 คืน ติดต่อเช่าห้องอะพาร์ตเม้นท์ราคาพอสวย เที่ยวชมเมือง ทานอาหารรสแปลกของมุกดาหารที่ร้านริมฝั่งโขง จิบกาแฟลาว เดินเที่ยวตลาดอินโดจีนกัน และที่สำคัญตรวจความพร้อม และข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศลาวที่เริ่มในวันถัดไป เพื่อความแน่ใจ

ที่มุกดาหาร บังเอิญเรามีหลานคนหนึ่งทำงานเป็นผู้พิพากษาที่นั่น ครั้นทราบว่าพวกเรามามุกดาหาร จึงชวนคุณพ่อจากกรุงเทพ มาสมทบด้วยอีกคน เมื่อมีโอกาสพบกันที่มุดหารอีกครั้งก็ดีใจจึงวางแผนข้ามโขงเที่ยวฝั่งลาวที่สะหวัดนะเขตด้วยกันในวันรุ่งขึ้น

วิเศษมากทีเดียว เพราะตามโปรแกรมที่พวกเรากำหนดไว้จะพักที่แคว้นสะหวันนะเขต 1 คืน การที่ญาติจะข้ามโขงไปเที่ยวลาวอีกฝั่งด้วยกันสัก 1 วัน ก็เป็นไอเดียที่ดี พวกเราไม่รอช้าวางแผน กำหนดเวลาเที่ยวกัน

เที่ยวมุกดาหาร ภาคกลางวัน กลางคืน ดูพี่น้องลาวข้ามโขงมาเที่ยวฝั่งไทย ซึ่งวันนั้นมีงานบุญประจำปีออกพรรษา จนได้ที่แล้ว วันรุ่งขึ้นตอนเช้า พวกเรารวม 4 คน ออกจากที่พัก เตรียมข้ามโขงไปยังสะหวันเขต (ช่วงนั้นสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ยังไม่เปิดใช้)โดยมีผู้จัดการทัวร์คนหนึ่ง ซึ่งบังเอิญได้รู้จักติดต่อกันทางโทรศัพท์จนสนิทสนมกับเรา ให้เกียรติปลีกเวลาเป็นพิเศษ ช่วยเป็นไกด์อำนวยความสะดวก ในการไปเที่ยวสะหวันนะเขตครั้งนี้ รวมทั้งจัดการหนังสือเดินทางให้พวกเราโดยเรียบร้อย การข้ามชายแดนไปยังลาวสำหรับคนไทย หากไปเช้าเย็นกลับ ไม่ค้างคืนที่นั่น ก็ไม่จำเป็นต้องถือพาสปอร์ต เพียงแค่มีหนังสืออนุญาตข้ามแดนเท่านั้น ยกเว้นพวกเรา 2 คนเท่านั้น มีต้องถือปฏิบัติตามระเบียบการเดินทางเข้าประเทศของลาว เพราะต้องพักค้างและเดินทางผ่านประเทศเขา
ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเช้าวันนั้น เราเจอะเจอแต่ฝรั่งเพื่อนร่วมเดินทาง คนลาว เวียตนามที่อาจเป็นนักธุรกิจหรือข้าราชการ มีคนนักท่องเที่ยวไทยอยู่จำนวนหนึ่งไม่มากนัก ที่ดูเหมือน เดินทางกับบริษัททัวร์ สอบถามได้ความว่าจะไปเวียตนามเช่นกัน แต่ก็มิได้ถามวิธีการเดินทางพวกเขา ด้วยคนพลุกพล่าน ทุกคนต่างต้องทำธุระของตนเองเป็นหลักเรื่องตรวจคนเข้าเมือง มิฉะนั้นจะไม่ทันลงเรือข้ามฟากแต่ละเที่ยว -ที่น่าสนใจ มีชายไทยรายหนึ่ง ได้คุยกับเราช่วงสั้น ทราบว่าเป็นคนนครศรีฯ แต่ดันไปทำงานเป็นนักข่าว อยู่นิวยอร์ค เดินทางเดี่ยว จะไปเดียนเบียนฟู เพื่อศึกษาเรื่องราวของชนเผ่าไทยดำที่นั้น มีกระเป๋าใบเล็ก 1 ใบใส่ล้อลาก แต่งกางเกงขาสั้น ใส่เสื้อยืดสีขาวสีมัวๆมีข้อความด้านหน้าของเสื้อว่า นักโทษบางขวางแดน 7 ทำนองนี้ ยิ้ม ทักทาย บอกที่มาที่ไปกันพอประมาณ ดูท่าทางแปลกๆ แล้ว ก็แยกทางกันไป พวกเรา 4 พร้อมผู้จัดการทัวร์ ลงเรือข้ามฟากขนาดเล็ก เสียงในเรือดังอึงมี่ทั้งเสียงเครื่องยนต์และคนคุยตะโกนกัน ข้าวของสัมภาระกองระเกะระกะเต็มไปหมด - แม่น้ำโขงน้ำสีขุ่นแดง ดูกว้างไกล มองไปอีกด้าน ไกลอยู่ข้างหน้า คือสะพานมิตรภาพไทยลาวที่ยัง สร้างค้างเติ่งอยู่ พักใหญ่ๆ ก็เห็นตลิ่งอีกฝั่งโขง นั่นคือท่าเทียบเรือของเรา และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองลาว เห็นป้ายภาษาลาวแล้วแต่ไกล อ้อ...นั่น คงเป็นร้านอาหารเขยลาวกระมัง เห็นคนและรถพลุกพล่านอีกแผ่นดินของอีกประเทศหนึ่ง ตื่นเต้นจังและอากาศกลางแม่น้ำโขงก็ช่างสดชื่นดี ผิดกับอากาศบนถนนในเมืองไทย
ก็เป็นธรรมดาล่ะครับ มีกล้องก็ต้องรีบถ่ายรูปสวยๆไว้ แต่เอ๊สาวลาวอีกคน ที่นั่งตรงข้ามพวกเรา เธฮแต่งกายแบบลาว ก็ดูสวยน่ารักดี....

การแบกเป้เที่ยวในต่างแดน โดยเฉพาะในต่างประเทศ ว่าไปก็ทำให้พวกเรา ต้องตื่นตัว เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา แตกต่างจากเดินทางไปกับบริษัททัวร์ หรือไปเป็นคณะใหญ่ อาจดูเป็นทางการ ซึ่งมีไกด์เป็นหลักบริการ สำหรับพวกเรา เมื่อเลือกเดินทางโดยวิธีนี้ การเดินดุ่มๆไป สังเกตสอบถามไป อ่านศึกษาเอกสารต่างๆ ทั้งภาษาอังกฤษ/ไทย ดูจะเป็นการเตรียมพร้อม ที่จำเป็น กำลังใจและสุขภาพที่แข็งแรง ดูจะเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ด้านสวัสดิภาพ ความปลอดภัย ก็เป็นเรื่องที่ถูกสอบถาม และกลัวกันมาก ด้วยกลัวว่าจะไปมีเหตุ เดือดร้อนระหว่างเดินทาง พวกเรามั่นใจว่า สำหรับที่ลาวโจรผู้ร้ายคงน้อยกว่าที่ประเทศไทย อย่างไรก็ตามก็ต้องไม่ประมาท ในครั้งนี้ สำหรับชีวิตความปลอดภัยของพวกเรา 2 คน หากมีเหตุฉุกเฉินใดๆ พวกเราก็พร้อมที่จะบินกลับโดยสายการบินชั้นดีกลับไทย ได้ทันที หรือหากต้องตายในต่างแดน ก็พอมีเพื่อนพ้องที่ทำงานในองค์การระหว่างประเทศไปจัดการศพได้ เมื่อตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้ ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป - ถึงฝั่งแคว้นสะหวันเขตแล้ว พวกเราคงต้องไปเจรจาหารถสะกายแล็ป ราคาเหมาะๆสักคัน เพื่อพาพวกเราเที่ยว....
(ตอนหน้า - ร้านขายทองแบกะกิน ผู้หญิงเวียตนามที่สะหวัดเขต)

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2550

Partnership broker;ผู้ชักนำการพัฒนา- ฤาจะเป็นบทบาทใหม่ของคนเขต 5?

คำนำ : วันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา อากาศร้อนมาก เราเองตัดสินใจไม่ออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านกัน มีเพื่อนรักจากกรุงเทพแวะมาเยี่ยมเยียน กับมอบหนังสือให้อีก 2 เล่มใหญ่ ก็พยายามแกะ เก็บความ เขียนมาเล่าต่อ อย่างย่นย่อเท่าที่ทำได้ คิดว่าสิ่งที่เสนอต่อไปนี้ อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจบ้าง...

คงเป็นอีกบทบาทหนึ่งของผู้ทำงานพัฒนาชุมชนยุคใหม่ บทบาทที่ว่านี้ เริ่มเป็นที่กล่าวถึงกันมากในระยะหลัง ในฐานะเป็นหลักการของการพัฒนายุคใหม่ นั่นคือ บทบาทการเป็นผู้ชักนำการพัฒนา (Partnership broker) ซึ่งจะเทียบกับการเป็น “นักเชื่อมประสาน” ก็คงไม่แตกต่างกันมากนักกระมัง การชักนำการพัฒนาเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะที่พวกเราอาจต้องหันกลับมาเรียนรู้กัน ซึ่งในระยะยาว ย่อมเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และอาจหมายถึงความอยู่รอดของหน่วยงาน

ผู้ชักนำการพัฒนา จึงเป็นคนกลาง หรือผู้ทำหน้าที่คอยเชื่อมประสานความต้องการ ระหว่างบุคคล กลุ่ม องค์กร ไม่ว่ารัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ หรือประชาคม เพื่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจ และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผู้ชักนำการพัฒนา จะต้องมีองค์ความรู้ ทั้งศาสตร์และศิลปะในการทำหน้าที่กับพันธมิตรต่างๆ (Partners)

กล่าวกันว่า ผู้ชักนำการพัฒนาที่ดี ควรเป็นผู้ที่สามารถทำบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบในเรื่องสำคัญ ประเภทต่างๆ ต่อไปนี้
1. เป็นผู้ทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการธุรกิจ ที่จะทำให้ธุรกิจนั้นๆประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย
2. เป็นเสมือนเลขานุการในการจัดทำ รวบรวม เก็บรักษาและให้ข้อมูลที่ดีในการติดต่อสื่อสารกัน
3. เป็นเสมือนครู ในการคอยกระตุ้นจิตสำนึก และเตรียมความพร้อมและความเข้มแข็ง
4. เป็นเสมือนพยาบาล - เพราะคอยประคับประคอง เยียวยารักษาความสัมพันธ็มิให้เกิดปัญหา
5. เป็นเสมือนผู้ปกครอง ที่คอยพัฒนาระดับความสัมพันธ์ให้เติบโตและแนบแน่น
6. เป็นเสมือนผู้คอยพิทักษ์ เพราะคอยตรวจสอบพันธมิตรว่ามีความสุจริต โปร่งใสต่อกันหรือไม่ เพียงใด

สำหรับผู้บริหาร หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Leader) ยุคใหม่ บทบาทนี้ เป็นบทบาทที่ท้าทาย เนื่องจากเปลี่ยนบทบาท ความเป็นผู้นำจากการพยายามเป็นนายใหญ่ หรือ ตัวชูโรงในกระบวนการบริหารจัดการทุกเรื่อง แต่เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้นำอยู่เบื้องหลังฉาก หรือเบื้องหลังความสำเร็จมากกว่า ทั้งนี้ โดยทำหน้าที่เป็นผู้คอยกระตุ้น (Catalyst) ในกระบวนการบริหารจัดการ

แน่นอนว่าผู้นำหรือผู้บริหารแบบนี้ ต้องไม่ธรรมดา แต่เป็นผู้ที่มีขีดความสามารถสูง แตกต่างจากการเป็นผู้นำแบบเดิมๆ เช่น ต้องมีขีดความสามารถในเรื่องต่อไปนี้
1. ความสามารถในการนำสร้าง ความชัดเจนในเรื่องปัญหาที่ซับซ้อนได้ดี ด้วยเหตุที่ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงในทุกด้านเร็วและมีความซับซ้อน ระบบข่าวสารข้อมูลเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากเช่นกัน
2. ทักษะการช่วยเหลือและเอื้ออำนวยการ ให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มองค์กรที่มีความแตกต่างหลากหลาย
3. ความพอใจและพร้อมทำงานท้าทาย
4. เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ให้คนอื่นอยากทำงานอย่างเห็นอนาคต
5. มีความตั้งใจสูงที่จะสนับสนุนให้ผู้อื่นประสบผลสำเร็จ เกิดความเข้มแข็งขึ้น

กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าภาวะผู้นำแบบไม่นิยมสั่งการ(Non-directive leadership) จัดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด ที่นำไปสู่การความเป็นพันธมิตร หรือการร่วมมือร่วมใจ และมีผู้ชักนำด้านการพัฒนาเกี่ยวข้องอยู่

แต่ สำหรับในระดับบุคคล เข้าใจว่ามีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนของเราจำนวนไม่น้อย พยายามหรือได้ทำบทบาทในฐานะผู้ชักนำที่ดีมาบ้างแล้ว ไม่มากก็น้อย ในพื้นที่จังหวัดอำเภอตัวเอง เพียงแต่อาจโชคไม่ดี ตรงที่เรายังขาดเวทีดีๆสำหรับคนเหล่านี้เท่านั้น แต่แม้กระนั้น เรื่องนี้ คงเป็นเครื่องยืนยัน ว่าขณะนี้ การทำงานพัฒนาชุมชนให้บังเกิดผลดี เราไม่สามารถทำงานได้ตามลำพัง โดดๆ หรือเป็นพระเอกคนเดียว ตั้งรับ และแบบเดิมๆได้อีกต่อไปแล้ว

ตัวอย่างที่ดีที่พอยกตัวอย่างได้ เช่น กรณี พัฒนาชุมชนอำเภอสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเก็บและใช้ประโยชน์ข้อมูล จปฐ. แต่กรณีนี้ หากพัฒนาชุมชน จะทำบทบาท เป็นผู้ชักนำการพัฒนาระหว่างองค์กรท้องถิ่นกับองค์กรประชาชนในหมู่บ้านให้ได้ผลดี แบบมืออาชีพ ก็น่าที่จะทำเรื่องนี้ให้ดูเนียนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ต้องทำงานในฐานะผู้ชักนำที่ดี และทำงานอย่างมีระบบมากขึ้น รวมถึงให้คนได้คิด ตัดสินใจได้มากขึ้น
สำหรับ ในระดับศพช.เขต เมื่อเร็วๆนี้ เรามีงาน ที่เป็นเรื่องการสร้างพันธมิตรพัฒนา โดย ศพช. เขตทำหน้าที่เป็นผู้ชักนำการพัฒนา และพอจะยกเป็นตัวอย่างได้ ณ ที่นี้ คือโครงการการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ชุมชน หรือ “KBO” (Knowledge-based OTOP)ที่ได้ทำนำร่องเขตละ 1 จังหวัด โครงการดังกล่าวนี้ได้ดำเนินไปเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนได้อ่านเอกสารรายงานผลการดำเนินงานฯ แล้ว แต่ก็รู้สึกเสียดายเล็กน้อย ที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการได้ต่อเนื่อง มิฉะนั้น คงมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบตรงไปตรงมากันบ้าง (แต่ก็เฝ้าสังเกต ติดตามอยู่ห่างๆ) โครงการนี้ดูจะเจาะจงให้พัฒนาชุมชน ได้ฝึกหัดการทำงานอย่างพันธมิตรกับภาคส่วนอื่น หลายแหล่ง เช่น สถาบันการศึกษา กับภาคธุรกิจ ภาคประชาคม และที่สำคัญกำลังฝึกหัด ให้คนศพช. เขตเราทำบทบาทเป็นผู้ชักนำการพัฒนา อย่างมืออาชีพ มากขึ้น - ซึ่งได้แต่หวังว่า บทเรียนที่ได้รับคงได้มีการเอาไปปรับใช้ประโยชน์ อย่างจริงจังมากขึ้น

ในที่นี้ เพียงจะขอนำเสนอแนวทางที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป เพื่อหน่วยงานพัฒนาชุมชน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำหน้าที่ผู้ชักนำที่ดี
ดังนี้ ;
(1) การสนับสนุนให้มีการจัดทำ MoU ระหว่างหน่วยงาน- เอกสารเช่นนี้ มีจุดประสงค์ เพื่อมุ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจเบื้องต้น ว่าสองหรือหลายหน่วยงาน ปรารถนาที่จะร่วมมือกันทำงาน
(2) การสนับสนุนให้มีข้อตกลงความร่วมมือ (Partnering Agreement) - เอกสารที่จัดทำร่วมกันและมีการระบุบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ และกระบวนการตัดสินใจของหน่วยงานที่ตกลงร่วมมือกัน

(3) วาระการประชุม ที่ได้ตกลงหรือจัดทำไว้ หรือ Minute of Meetings – เป็นเอกสารระบุสิ่งที่ได้ตัดสินใจหรือทำร่วมกันระดับหนึ่งแล้ว โดยระบุประเด็นกิจกรรมสำคัญเพื่อให้ผู้เข้าประชุม หรือขาดประชุมได้ทราบถือปฏิบัติ อ้างอิง หรือประสานกับบุคคล องค์กรอื่น เช่น กรณี องค์กร CIU. แห่งสวีเดน มีข้อตกลงในลักษณะนี้ ในเรื่องของการทำกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาอาชีพแก่ อดีตเยาวชนไทยในโครงการแลกเปลี่ยนในชุมชน กับกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อ ที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันทำงานต่อไป กับท้องถิ่น และหน่วยงานพันธมิตรอื่น
(4) เอกสารสรุปย่อโครงการ (Project description) – เอกสารรายละเอียดโครงการ กิจกรรมระบุวัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีการดำเนินงาน และระยะเวลา เพื่อให้เกิดพันธสัญญา หรือบอกแหล่งทรัพยากรที่จำเป็นที่จะต้องจัดหาร่วมกันต่อไปจากพันธมิตรอื่น
(5) เอกสารบันทึกฐานข้อมูล/แหล่งทรัพยากร (Resource Records) – เอกสารบ่งบอก แหล่งที่ตั้ง ขนาด ปริมาณของทรัพยากร ที่จำเป็นที่ต้องใช้ในอนาคต รวมถึงระบุการใช้ทรัพยากรที่จำเป็นร่วมกัน
(6) จดหมายข่าว (Newsletter) – เอกสาร ที่จะบอกความเคลื่อนไหวของกิจกรรม เพื่อ ให้ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่า พันธมิตร แหล่งสนับสนุนทุน ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอก ได้ทราบความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ จะได้เกิดแรงบันดาลใจ ความตั้งใจ ที่จะทำภารกิจร่วมกันอย่างจริงจัง
(7) กรณีศึกษากิจกรรมที่ทำ (Case Studies) – เป็นเอกสารที่บอกผลการดำเนินงานความเป็นมาเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง และบุคคลภายนอกสะดวกในการศึกษา ติดตาม ตลอดจนบุคคลหน่วยงานภายนอกจะได้รับประโยชน์
(8) การเปิดแถลงข่าวต่อประชาชน/หรือสื่อ (Information for the general public/Media) เป็นเอกสาร หรือถ้อยความที่พันธมิตรผู้ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน ตกลงและแถลงผลความก้าวหน้า หรือความสำเร็จร่วมกัน

จากที่กล่าวมาแล้ว คงได้พบว่า มีคนของเรา หรืออาจเป็นคนระดับรากหญ้าของเรา เป็นจำนวนมาก ได้ทำบทบาทของการเป็นผู้ชักนำการพัฒนา มาแล้วมากพอสมควร แต่การเป็นผู้ชักนำการพัฒนาที่ดี ซึ่งจะส่งประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง และอาจนำพาไปสู่ความอยู่รอดขององค์กรด้วยนั้น คงเป็นภารกิจที่ท้าทายการทำงานของพวกเราชาวเขต 5 ทุกคน ?

************




หมายเหตุ :
- คำว่า “ผู้ชักนำการพัฒนา” (Partnership Broker) เป็นศัพท์ที่ผู้แปลได้บัญญัติขึ้นเอง เท่าที่ทราบ ยังไม่มีใครบัญญัติ คำนี้ไว้
- บทความนี้แปล/ เขียน เรียบเรียงจากหนังสือของ UNDP. ชื่อ
1. The Brokering Guidebook, Navigating effective sustainable development partnership
2. Partnering for Development - Making It Happen

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2550

มายาคติการจัดการความรู้ที่ ศพช.เขต 5

คำนำ : บทความนี้เขียนก่อนมีโครงการสัมมนาเรื่องการจัดการความรู้ศพช.เขตเรา เพียง 1 อาทิตย์ เพียงแค่ตั้งใจเตือนสติพี่น้องพช. เรา มิได้มีอคติ เจตนาร้ายต่อใคร รวมถึงเจ้านายทุกคนอันเป็นที่รัก อยากสะท้อนว่า เรื่องเคเอ็ม. เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากจะทำเรื่องฮ็อตฮิตอย่างนี้ให้เป็นจริง และสำเร็จจริง มันมีประเด็นการบริหารจัดการ ที่ต้องพิจารณาร่วมกันอีกมาก...

เมื่อพูดถึงเรื่องการจัดความรู้ หรือ เคเอ็ม ของ ศพช.เขต 5 ทีไร ผมต้องสะดุ้งทุกครั้งไป เหตุที่มีอาการเช่นนี้ มิได้หมายความว่า ผมมีความรังเกียจใดๆ ต่อกระบวนการจัดการความรู้ หามิได้

แต่ที่รู้สึกเช่นนี้ เกิดจากการได้เห็นความตั้งอกตั้งใจ ของเพื่อนนักวิชาการด้านการพัฒนาชุมชน ที่อุตสาห์พยายาม ทำเรื่องเหล่านี้มาอย่างตั้งอกตั้งใจมาแรมปี นับตั้งแต่ เริ่มตั้งไข่เรื่องการจัดการความรู้คราวไปศึกษาดูงาน ฟังบรรยายจากผู้รู้นอกหน่วยงานมามากมาย แต่ฟังมาว่าสุดท้าย ฝ่ายผู้บริหารกลับมองว่า มีผลงานไม่เข้าเป้าเสียนี่ อีกกลุ่มที่ต้องบอกว่าน่าเห็นใจ ก็คือคนระดับล่างที่ตั้งใจเต็มร้อย ต้องอยู่กับความเป็นจริง และต้องเป็นเจ้าภาพหลัก ในการจัดประชุม หารือ หรือขับเคลื่อนเรื่องนี้ ต้องเหน็ดเหนื่อยกับภารกิจเตรียมการ วางแผนกิจกรรม โครงการที่ต้องผูกไว้กับระบบงบประมาณ การตัดสินใจของระบบองค์การ กว่าจะผ่านความเห็นชอบ แต่ละขั้นตอน ขนาดยังไม่ได้ถึงขั้นดำเนินการ ก็เหนื่อยจนหืดขึ้นคอ เพื่อนนักวิชาการหลายคนมองว่า การจัดการความรู้ เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ที่ต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องที่ต้องให้ซึมลึกเข้าไปในสายเลือด แล้วในที่สุดกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในองค์การเล็กๆของเรา การจัดการความรู้ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ สักแต่ว่าผู้มีอำนาจสั่งให้ทำ แต่ต้องอาศัยความเต็มอกเต็มใจ ต้องอาศัยแรงกระตุ้นจูงใจ ใช้เหตุและผลในการคิด คนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องพร้อมที่จะหนุนเสริม มิฉะนั้น จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากสิ่งที่เรียกว่าการจัดการความรู้ – นี่ เป็นข้อทุกข์ใจที่ต้องฝืนใจทำหรือต้องฝืนใจฟังครับ

ประการที่ต่อมา ผมเสียดายเวลา บทเรียนการทำงานที่ผ่านมา ที่เพื่อนหลายคนมองออกว่า เราได้สิ่งที่เห็นเป็นบทเรียนการทำงานพัฒนาอยู่มากพอแล้ว แต่เรากลับไม่ได้นำมาใช้ หรือคิดแก้ไขปัญหาเพื่อทำงานต่อไปให้ราบรื่นดังที่เราต้องการ แต่เรากลับเขวไปตามข้อสั่งการ หรือความคิดของผู้บริหารเสียแทบทุกเรื่องทุกกรณี ที่ผมเห็นว่า แย่ที่สุด ก็คือ ไม่สามารถมองเห็น กระบวนการเคลื่อนไหวอันเนื่องจากการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ ที่ผ่านมาได้ ว่าที่แท้แล้ว การจัดการความรู้ของศพช. เขต 5 สองปีที่ผ่านมา สามารถวิเคราะห์ แลเห็นได้ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพด้วยซ้ำไป กรณีเวทีวันพุธ กิจกรรมการถอดบทเรียน การเขียน การแสดงออกในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ของนักวิชาการระดับล่าง ก็เป็นผลพวง ที่บอกได้ว่า คุณูปการจากการจัดการความรู้ของ ศพช.เขต 5 มิได้ อยู่บนความว่างเปล่า แต่ก็แปลกใจ ที่ดูเสมือนกิจกรรมความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในสายตา กลับถูกมองไปในทางตรงกันข้ามเสียหมด ทำให้นักวิชาการพัฒนาจำนวนมาก มักมีคำถามคาใจโยงถึงความเชื่อและศรัทธา ว่าถ้าเช่นนั้น ผู้บริหารระดับสูง หรือผู้อำนวยการศพช.เขต 5 ที่เป็น “ นายใหญ่ ” ของพวกเรา มีความรู้/ความเข้าใจในหลักการจัดการความรู้ ตรงกับนักวิชาการหรือนักปฏิบัติการพัฒนาชุมชนส่วนใหญ่หรือเปล่า สมมุติฐานนี้ใครตั้ง จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แล้วเราควรจะจัดการ หรือทำอะไรร่วมกันต่อไปล่ะ เพื่อให้การจัดการความรู้ของ ศพช.เขต 5 ทัดเทียมการจัดการความรู้ ของที่อื่นๆ
หรือว่าคิดว่า แค่การมีคำสั่งให้ทุกคนทำกิจกรรม 5 ส การให้นักวิชาการออกไปทำความสะอาด ดูแลบริเวณสถาน ที่รอบตึกเพียงพอแล้วสำหรับการจัดการความรู้ หรือพูดได้เพียงว่า ไม่เคยเห็นรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้

ประการสุดท้าย ผมไม่สบายใจ เพราะมีความเข้าใจ ในหลักการจัดการความรู้ เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ ว่า การจัดการความรู้ เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ดังที่ว่าแล้ว เป็นบรรยากาศการทำงานบนพื้นฐานความสุข ความตระหนัก เต็มใจ ไม่ใช่การออกกฎระเบียบ บังคับ อาจพูดแบบง่ายๆว่า ต้องเป็นเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยของคนในองค์การ เหมือนที่ทุกคนต้องการปฏิบัติต่อประชาชนนอกองค์การ คือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ด้านจิตใจมากกว่าด้านวัตถุ ดังนั้น หากคนส่วนใหญ่ขาดการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง หรือบังเอิญ จัดเป็นประเภทต้องคอยรับคำสั่งการ ความคิดริเริ่ม หรือความต้องการของคนส่วนใหญ่ รวมถึง วัฒนธรรมองค์การ ระบบ ระเบียบ ขั้นตอนราชการ ที่มีอยู่มากมาย ที่มิได้มีการพูดถึง ตีความเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน หรือจัดการความรู้ เลยนั้น จะทำให้การจัดการความรู้เป็นไปตามหลักการที่เป็นจริงหรือไม่
นอกจากนี้ ผมยังเกรงว่า หากเราทำเรื่องจัดการความรู้ แบบลวกๆ หรือขาดการส่งเสริมให้คนในองค์การมีส่วนร่วมด้วยจิตใจจริงๆ ในที่สุดวิญญูชนอื่นๆ ก็จะมองว่า การจัดการความรู้ของศพช. เขต 5 ที่แท้จริงแล้ว เป็นแค่การสร้างภาพ และแค่ราคาคุย ผมไม่อยากได้ยินได้เห็นเช่นนั้น จริงๆ ...ช่วยด้วย...

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2550

คนอื่นเขาคิดอย่างไรต่อสภาพการทำงานคล้ายของเรา

กำลังเขียนบทความเรื่องธรรมชาติ หรือธรรมะของนักพัฒนาจวนเจียนจะเสร็จอยู่แล้วพอดี เนื้อหาตั้งใจให้นักพัฒนาอย่างเราๆ ได้เข้าใจธรรมชาติของการทำงานในระบบงานพัฒนา ตามประสาคนที่พอมีไฟในเรื่องนี้หลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งได้พูดถึงปัญหา อันเกิดจากระบบงานในองค์การ สภาพสิ่งแวดล้อมในการทำงาน การมีส่วนร่วม และชีวิตของผู้คนในแวดวง ซึ่งสุดท้าย ปรากฏการณ์ บรรยากาศการทำงานพัฒนาเหล่านั้น จะนำไปสู่การเรียนรู้ สร้างแรงจูงใจ บันดาลใจที่จะนำพาไปสู่การร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ มีความจริงจัง มากขึ้น คนทำงานมีความสุขมากขึ้น แต่พอถึงเวลานี้วันนี้ ต้องขอยกเอาไว้พูดกันในหนต่อไป
เอาเป็นว่า จนถึงวัยเกือบสุดท้ายของชีวิตราชการแล้ว ผมยังเชื่อเหมือนคนทั้งหลายว่า งานพัฒนาชุมชน เป็นงานที่ยาก และหนัก (จริงๆ )

เปิดปฏิทินการทำงาน และสมุดบันทึกส่วนตัวดู เดือนนี้จรดเดือนหน้า ดูมีงานที่คิดเตรียม รับปาก นายสั่ง และนัดหมายใครต่อใครถูกบันทึก ไว้รอทำ เต็มไปหมด แยกได้เป็นทั้งงานหลวง และงานราษฎร์ว่างั้นเถอะ ชีวิตคนราชการแต่ต้องทำงานพัฒนาชุมชน และอยู่มหาดไทย ก็ดูเหมือน เป็นเช่นนี้แหละชั่วนาตาปี มีสุข มีทุกข์ เหนื่อย ล้า คละเคล้ากัน

ผมเหนื่อยมาหลายวันต่อต่อกัน มีงานหนังสือ เอกสาร งานประชุม ประกอบกับช่วงนี้อากาศร้อนๆหนาวๆ บางวันฝนตก มีเวลาและโลกส่วนตัวบ้างห้วงสั้นๆ บังเอิญเห็นบทความชื่อหมายเหตุ ก.พ. หัวข้อ “ ชีวิตสมดุลของข้าราชการ” โดยนายพิษณุโลก เขาเขียนไว้น่าสนใจ จึงขอคัดนำมาเสนอ ดังนี้ครับ
“.... ผมเคยเล่าว่า ดร.ภาณุมาคย์ พงษ์อติชาต ข้าราชการรุ่นใหม่ไฟแรงของสำนักงาน ก.พ. กำลังจับงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง คือการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานของบุคลากรภาครัฐของไทย หรือที่ใช้ภาษาอังกฤษติดปากกันว่า Work Life Balance

พร้อมกับเปิดเผยงานวิจัยให้ดูเห็นกันจะๆ หนึ่งชิ้น คือการเสนอให้ใช้ระบบการหยุดทดแทน เพื่อให้ข้าราชการได้มีโอกาสเลือกวันหยุดทำงาน เป็นการชดเชยได้ หากจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา หรือต้องมาทำงานในวันหยุด

ดร.ภานุภาคย์ “ฟันธง” ว่า แนวคิดในเรื่องสร้างสมดุลนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในเมืองไทย แต่ก็น่าดีใจที่หลายฝ่ายเริ่มหันมาให้ความสนใจกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดให้การสร้างความสมดุลของชีวิตและการทำงาน เป็นมิติหนึ่งในโครงการนำร่องการพัฒนาสมรรถนะการบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Scorecard) ของส่วนราชการ ที่มุ่งให้ประเมินคุณภาพของคนทำงาน โดยให้ความสำคัญกับลักษณะ 3 ประการ คือ
(1) ความพอใจของคนทำงานที่มีต่อสภาพแวดล้อม ระบบ บรรยากาศ และการนำ IT มาใช้ในการทำงาน เพื่อให้คนทำงานง่ายขึ้น ได้งานมากขึ้น แต่เหนื่อยน้อยลง (2) สร้างสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมที่พึงมีให้แก่คนทำงานในองค์กร (3) ความสัมพันธ์อันดีระหว่างพนักงานของรัฐ

และหากจะมองกันให้รอบด้านจริงๆ แล้ว ดร.ภาณุภาคย์ เล่าว่า จำเป็นต้องพิจารณามิติต่างๆ ที่แวดล้อมตัวเรา รวมเข้าไปด้วย ซึ่งก็คือความยืดหยุ่นในการทำงาน การลาหยุดงานทั้งที่ได้รับค่าตอบแทน และไม่รับค่าตอบแทน การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การดูแลผู้อยู่ในอุปการะ ความช่วยเหลือทางการเงิน การมีส่วนร่วมในชุมชน การมีส่วนร่วมในการบริหาร และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร

พร้อมทั้งการสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนค่านิยมจากเดิมที่เคยให้คุณค่ากับการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ (Long-hour Culture) ไปสู่การให้คุณค่ากับผลการปฏิบัติงาน และชีวิตด้านอื่นๆ นอกจากที่ทำงานมากขึ้น

เคยถามตัวเองไหมครับว่า การที่ต้องนั่งทำงานหามรุ่งหามค่ำ หรือบ้านบ้านมืดๆ ทุกวันนั้น เราทำอะไรอยู่...

บางท่านอาจบอกว่า มีงานสุมเข้ามาจนลุกไม่ขึ้น จะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะไม่อยากให้งานค้าง ต้องสู้จนเสร็จแล้วจึงกลับบ้าน แบบนี้รับรองว่า เมื่อกลับถึงบ้านก็แทบไม่อยากพูดกับใคร..ชีวิตกับสมาชิกที่บ้านก็ขาดหายไป

บางท่านก็บอกว่า งานไม่ค่อยเท่าไรหรอก แต่เขียนหนังสือฉบับเดียว ถูกส่งกลับไปกลับมา ให้แก้นั่นแก้นี่จนหมดวัน.. แบบนี้เรียกว่า ไม่ได้งาน แถมเสียเวลาอย่างไม่คุ้มค่าด้วย
ผลที่เกิดจากเหตุการณ์เหล่านี้ สร้างความไม่พอดีให้กับชีวิตทั้งนั้นครับ ”

อ้อ....อ่านแล้วก็ใจชื้นขึ้นมาบ้าง เพราะเคยคิดว่า ตัวเองอยู่ในแวดวงที่โดดเดี่ยว ว่าแต่อีกสักครู่ผมต้องเข้าประชุม เรื่องด่วนสุดยอดสำคัญแล้วล่ะ เจ้านายท่านกรุณาโทรศัพท์ไปบอกที่บ้านเมื่อคืน ขณะที่ผมเอางานแฟ้มใหญ่ไปนั่งทำที่บ้านอยู่พอดี

ช่องติดต่อสื่อสารข้อมูล/รายงาน กับ 6 จังหวัด

เรียน นวช.พช.จาก 6 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และแม่ฮ่องสอน)ที่เกี่ยวข้องครับ ผมขอทดลอง สำรองใช้ช่องนี้ ในการติดต่อ สื่อสารกับท่าน ในเรื่องข้อมูลการรายงานบางเรื่อง ที่ผมต้องติดต่อท่านในโอกาสต่อไป

ขอบคุณครับ

ภาษิต คำคมเจ็บๆจากที่ต่างๆ

คำนำ : วันหนึ่งเจ้านายเรียกใช้ผม ให้ช่วยค้นหาภาษิต คำคมเพื่อเอาไปใช้ประกอบงาน อ้างอิงสักหน่อย ทำไปทำมา ผมก็ได้ความรู้เรื่องนี้ไปด้วย จึงเก็บรวบรวมไว้ให้คนอื่นๆอ่านเล่น บางอัน ก็เขียนเพิ่มเข้าไปเสนอเจ้านาย ให้ฮือฮากันเล่น

(1)
ไปหาประชาชน รัก และเรียนรู้จากเขา;
วางแผน ช่วยเหลือ;
เริ่มจากที่เขามี ใช้เวทีที่เขารู้
ชูเชิดผู้นำ
ครั้นภารกิจเสร็จ งานก้าวหน้า
มวลประชาชนชื่นชม
“ว่า แท้จริงแล้ว เราทำได้ด้วยพวกเราเอง”
Go in search of your people: Love Them; Learn from Them; Plan with Them; Serve Them.Begin with what They have;Build on what They know.
But of the best leaders when their task is accomplished, and their work is done,The people all remark:"We have done it ourselves."
(2)
หากโลกนี้มีสันติภาพ โลกจะเต็มด้วยรอยยิ้มสดใส ประดุจมวลดอกไม้บาน
ครอบครัว และผู้คนในสังคมของเรา จะเกิดความสุขจากคุณูปการแห่งสันติภาพและสันติสุขนั้น
(ทิช นัช ฮันท์)


If we are peaceful, if we are happy,we can smile and blossom like a flowerand everyone in our family,in our entire society will benefit from our peace." Thich Nhat Hanh
(3)
จงช่วยกันทำให้แสงเทียนส่องสว่าง เพื่อเราทุกคนที่นี่ และที่อื่นๆ
Keep a candle burning for all of us, here and beyond.
(4)
อย่ากลัวความล่าช้า แต่จงกลัวการหยุดนิ่ง
Be not afraid of growing slowly, but afraid only of standing still

(5)
ขุดบ่อน้ำ ก่อนที่คุณจะกระหายน้ำ
Dig the well before you are thirsty

(6)
ทำสิ่งดี ได้รับสิ่งดี ทำสิ่งไม่ดี ได้รับสิ่งไม่ดี
Do good, reap good, do evil, reap evil.

(7)
อยากรู้หนทางไปข้างหน้า ให้ถามคนที่เดินมาก่อน
To know the road ahead, ask those coming back.

(8)
คนที่ไม่กล้าถาม ย่อมไม่เกิดการเรียนรู้
He who is afraid to ask is ashamed of learning
ภาษิตดัชช์

(9)
ถ้าคุณไม่พยายาม ทำสิ่งนอกเหนือความเก่งของคุณ ในที่สุดคุณจะไม่เก่ง
Unless you try to do something beyond what you have already mastered, you will never grow. (Ronald E. Osborn)

(10)
สมประสงค์ คือ คุณมีโทรศัพท์ 1 เครื่อง
ฟุ่มเฟือย คือ คุณมีโทรศัพท์ 2 เครื่อง
แต่ สวรรค์ คือ คุณไม่จำเป็นต้องมีโทรศัพท์เลย
Utility is when you have one telephone, luxury is when you have two, and paradise is when you have none.

(11)
อี๊ด อ้อย และ เอ๋
รู้ไหม เพราะฉันมา ฉันได้เห็น และฉันจึงได้ซื้อ(ของ)
Veni, Vidi, Visa:I Came. I Saw. I Shopped.

(12)
สิ่งมองเห็น ภายในนั้นเล่า คือหน้าที่
มองเห็น ข้างนอก คือ แรงบันดาลใจ
แต่ มองเห็นด้านบน คือ ความเชื่อ
Vision that looks inward becomes duty.Vision that looks outward becomes aspiration.Vision that looks upward becomes faith


(13)
มองไกล ไร้การกระทำ เป็นแค่ฝันกลางวัน
แต่การกระทำที่ไร้การมองไกล คือฝันร้าย (ภาษิตญี่ปุ่น)
Vision without action is a daydream. Action without vision is a nightmare. (Japanese proverb)


(14)
ทุกสิ่งมีสองด้านเสมอ ยกเว้นเรื่องสามีภรรยาทะเลาะกัน พบว่ามักมีสามด้านเสมอ คือด้านของเธอ ด้านของฉัน และด้านที่เป็นความจริง
We have all heard that there are two sides to every story, but after listening to many husband and wife arguments I have come to realize there are three sides to every story, her side, his side, and the truth.

(15)
จงทำตามคำที่พูด และพูดตามสิ่งที่ได้ทำ
Walk the words you talk and talk the words you walk.


(16)
จงสำรวจความคิด และแปลงให้เป็นคำพูด
สำรวจคำพูด แล้วแปลงเป็นการกระทำ
สำรวจการกระทำ แล้วแปลงเป็นนิสัย
สำรวจนิสัย แล้วแปลงเป็นบุคลิกภาพ และ
สำรวจบุคลิกภาพ แล้วแปลงเป็นเป้าหมายการทำงาน

Watch your thoughts; they become words.Watch your words; they become actions.Watch your actions; they become habits.Watch your habits; they become character.Watch your character; for it becomes your destiny!!!

(17)
พวกเราหนักขึ้น เพราะไม่เพียงแต่อายุมากขึ้น ยังมีข่าวสารข้อมูลอยู่เต็มศีรษะ
We all get heavier as we get older because there is a lot more information in our heads. (Vlade Divac)

(18)
อยู่ใต้ฟ้าเดียวกันก็จริง แต่คนเราเห็นขอบฟ้าไม่เหมือนกัน
We all live under the same sky, but we don't see the same horizon.

(19)
อาจชื่นชมสิ่งที่เห็นได้ แต่ในที่สุดเราคงต้องรักสิ่งที่ เรารู้จักมันดีที่สุด
We can admire what we see, but we can only love what we truly know.

(20)
เราไม่สามารถ สร้างอนาคตให้เยาวชนของเราได้ แต่เราสามารถสร้างเยาวชน ของเรา เพื่ออนาคตได้ (รูสเวลท์)
We can't always build the future for our youth, but we can build our youth for the future. (Franklin D. Roosevelt)

(21)
เรารักสิ่งที่ทำ หาใช่เพราะเราพบสิ่งที่ดีที่สุด แต่เราพบวิธีการเรียนรู้เพื่อค้นหา และ พัฒนาสิ่งนั้นต่างหาก
We come to love not by finding a perfect person but by learning to see an imperfect person perfectly.

(22)
เราควบคุมกระแสลมไม่ได้ แต่เราควบคุมการตัดสินใจ ที่จะเดินเรือได้
We can't control the wind, but we have the power to adjust the sails.

(23)
อย่าเปลี่ยนนิสัยเพื่อนเราเลย ถ้าเข้าใจว่า ทำไมเขาจึงเปลี่ยนแปลง
We don't have to change friends if we understand that friends change.

(24)
มิตรภาพของเราสองคนแปลก และยอดเยี่ยมมาก นั่นก็คือเขาเป็นคนแปลกๆ และฉันเอง เป็นคนยอดเยี่ยมสำหรับเขา
We have a strange and wonderful relationship: He's strange and I'm wonderful. (Mike Ditka, on Jim McMahon)

(25)
มองสรรพสิ่งอย่างที่มันเป็น มองเราอย่างที่เราเป็น
We see things not as they are, but as we are.

(26)
สิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนวิชาเคมีคืออะไร ? – ห้ามเลียช้อน
What is the most important thing to learn in chemistry?Never lick the spoon

(27)
รักนาย อย่าใช้ไม้ ตียุงบนหน้าผากของนาย
(ภาษิตคนเขต5)
If love your boss, don’t batch mosquito on the boss’s forehead
(28)
รถเก่าดีกว่ารถไม่มีน้ำมัน รถไม่มีน้ำมันย่อม ดีกว่าไม่มีรถ
(ภาษิต คนเขต5)
Old car is better than non-fuelled car, but non-fuelled car is worse than have no car. (CD5 Proverb)

(29)
ทำตัวให้เมีย/สามี รักและเข้าใจ ง่ายกว่าทำให้ นายรักและเข้าใจ
(ภาษิต คนเขต5)
Behave to be loved by wife or husband is easier than to be loved by a boss (CD5 Proverb)

(30)
สิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนวิชาเคมีคืออะไร ? – ห้ามเลียช้อน
What is the most important thing to learn in chemistry?Never lick the spoon.

(31)
เราไม่ได้รับมรดกโลกใบนี้จากบรรพบุรุษของเรา แต่เรายืมโลกใบนี้ จากเด็กรุ่นใหม่ของพวกเรา (ภาษิตโบราณ)
We have not inherited the earth from our ancestors, we have only borrowed it from our children. (Ancient Proverb)

(32)
คนเราบางที อาจไม่ได้สิ่งต้องการเหมือนที่ต้องการ แต่ขอบคุณฟ้าดินเถอะ เพราะอย่างน้อย คุณก็ไม่ได้เป็น เหมือนดังที่เคยเป็นเมื่อวาน
We may not be what we want to be, but thank God we are not what we used to be. (Tim Storey)

(33)
ทำ ดีกว่าพูดแสนคำ
Well done is better than well said. (Benjamin Franklin)


(34)
เรายอมรับความล้มเหลวในบางเรื่อง แต่ต้องไม่ยอมแพ้ในการสร้างความหวัง (มาร์ติน ลูเธ่อร์ คิง)
We must accept finite disappointment, but never lose infinite hope. (Martin Luther King)

(35)
รู้ไหมว่า เราอยู่ในสังคม ที่คนขายฟิตซ่า ไปถึงบ้าน ก่อนที่ตำรวจจะไปถึง
We live in a society where pizza gets to your house before the police.

(36)
พิจารณาคนอื่น ให้ดูการกระทำ พิจารณาตัวเองให้ดูความตั้งใจ
We judge others by their actions; we judge ourselves by our intentions.
เราไม่เคยรู้คุณค่าของน้ำ จนกระทั่งน้ำในบ่อ เริ่มเหือดแห้ง (ภาษิตฝรั่งเศส)
We never know the worth of water till the well is dry. (French proverb)

(37)
สิ่งที่คุณทำวันนี้ คือสิ่งที่คุณเกี่ยวข้องเมื่อวันก่อน สิ่งที่คุณทำวันนี้ คือสิ่งที่จะบอกคุณว่า คุณได้อะไรเมื่อถึงวันพรุ่งนี้
What is done now, is influenced by what you did then, and will determine what you do when now is then.

(38)
คนเรามักกลัวการถูกปฏิเสธ แต่คนจำนวนมาก ก็ปฏิเสธความสามารถตัวเอง ก่อนที่คนอื่น จะมีโอกาสปฏิเสธ
We often fear being rejected so very much that we reject ourselves first before anyone else has the chance.

(39)
เชื่อไหม เรามักเห็นสิ่งที่อยู่ไกลจากน้ำตาของคน มากกว่าเห็นความไกล จากกล้องส่องทางไกล
We often see further through a tear, than through a telescope.

(40)
จะเติบโตทั้งที จงรู้จักก้าวออกจากจุดที่เห็นว่าสะดวกสบายเสียบ้าง
We only grow when we step outside our comfort zone.

(41)
สิ่งที่ฉันกำลังทำ เป็นแค่หยดน้ำหนึ่งหยดในมหาสมุทร แต่น้ำในมหาสมุทรจะน้อยลง ถ้าขาดน้ำเพียงหนึ่งหยด (แม่ชีเทราซ่า)
We ourselves feel that what we are doing is just a drop in the ocean, but the ocean would be less because of that missing drop. (Mother Teresa)

(42)
เราทุกคนอยากเลือกคนดีที่สุด แต่คนดีที่สุด ก็ไม่แสดงตัวให้เราได้เลือก
We would all like to vote for the best man but he is never a candidate.

(43)
“ท่านกำลังทำอะไรอยู่?” ชายคนหนึ่ง ถามคนงานก่อสร้าง 3 คนในบริเวณจุดก่อสร้าง
คนที่หนึ่งตอบ “กำลังตัดแต่งก้อนกิน”
คนที่สองยิ้ม และตอบ “กำลังรอเวลา ให้งานเหมาะๆมา”
คนที่สามครุ่นคิดนิดหนึ่ง แล้วตอบเรียบๆ “กำลังสร้างปราสาทพระราชา”
"What are you doing?" a man asked of three laborers beside a building under construction. The first man replied, "Stone-cuttin."The second smiled, "Putting in time until a better job comes along." The third man waited a moment and then said simply, "I m building a cathedral."

(44)
เธอช่างแสนดี ถามหน่อยเถอะ ดอกไม้อะไรอยู่ระหว่างจมูก และคางของเธอ?... ดอกทิวลิป
What flowers grow between your nose and your chin? .... Tulips.

(45)
สิ่งที่คุณทำวันนี้ คือสิ่งที่คุณเกี่ยวข้องเมื่อวันก่อน สิ่งที่คุณทำวันนี้ คือสิ่งที่จะบอกคุณว่าได้ทำอะไร เมื่อวาน เมื่อถึงวันพรุ่งนี้
What is done now, is influenced by what you did then, and will determine what you do when now is then.

(46)
บ่อยครั้ง คนมักลืมความถูกต้องดีงาม เพราะความสะดวกสบายจนเกินไป
What is right is often forgotten by what is convenient.



***************

มุมมอง ทัศนะนักพัฒนา

หมู่นี้ เวลาไปเข้าเวทีประชุม สัมมนาในแวดวงการพัฒนาทีไร มักได้ยินวิทยากร ผู้บรรยาย
พูดภาษาไทย แต่มีศัพท์ภาษาอังกฤษปนอยู่เสมอ ที่เป็นเช่นนี้ อาจแสดงให้เห็นอะไรได้หลายอย่าง เป็นเพราะคนพูดถนัดใช้ภาษาต่างประเทศ หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรืออาจเป็นเพราะวิทยาการสมัยใหม่ ส่วนใหญ่เขียนหรือมาจากภาษาต่างประเทศ หรือเพราะปัจจัยอื่นๆ แต่ ในที่สุด เราคงหลีกเลี่ยงภาษาต่างประเทศไม่ได้เสียทั้งหมด

ในแวดวงพช.หมู่นี้ ก็มีศัพท์ภาษาอังกฤษน่าสนใจ เกี่ยวข้องอยู่หลายคำ จึงขอนำเสนอ ขยายความ เผื่ออาจเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ ปฏิบัติบ้าง ดังนี้ครับ

Best Practice (วิธีการปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จ) หมายถึง วิธีหรือเทคนิคการทำงานที่คนปฏิบัติอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ได้รับการพิสูจน์ หรือยอมรับว่าดีเหมาะสม และนำไปสู่ความสำเร็จของงานที่ทำ
คำนี้ใช้มากในแวดวงการสาธารณสุข การศึกษา การบริหารจัดการองค์การ เป็นต้น
จากคำนิยาม การกระทำที่ประสบผลสำเร็จหรือวิธีดีที่สุด ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกที่

Community of Practice (ชุมชนแห่งการปฏิบัติ) หมายถึง กลุ่มคนที่มีวัตรปฏิบัติ หรือมีความสนใจ หรือมีความความรู้ ความชำนาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เหมือนๆ กัน โดยอาจอยู่กันคนละที่ ก็ได้ อีกคำคือคำว่า
Lessons learned หรือ Lessons Identified (สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ หรือบทเรียน การถอดบทเรียน) หมายถึง การดึงเอาความรู้ ประสบการณ์ในปฏิบัติการงาน ในเรื่องใดเรื่อง หนึ่งที่ได้ทำมา ไม่ว่าเป็นเรื่องผลสำเร็จ หรือความล้มเหลวก็ได้ แล้วนำสิ่งที่ได้ไปแก้ไข ปรับปรุงงานต่อไป เพื่อให้ได้ผลอย่างน่าพอใจ

Expertice Locator (แปลง่ายๆว่า การค้นหาความชำนาญ หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง) อันนี้ก็จำเป็นในองค์การมากครับ การค้นหาก็เพื่อให้เป็นตัวอย่าง แม่แบบ หรือช่วยการเรียนรู้ แก่คนอื่นๆ ในหมู่เจ้าหน้าที่เรามีคนเก่งมากมาย ลองค้นหา แล้วใช้ประโยชน์ได้ น่าจะดี
Evident report database หมายถึงหลักฐานที่ชัดแจ้ง หรือเชิงประจักษ์ ซึ่งพวกเราชอบเรียก/ ถามหากัน มีความสำคัญไม่น้อย ที่จะบอกว่าได้ทำจริงหรือไม่ เพื่อเป็นบทพิสูจน์การทำงาน

Alert System หมายถึง ระบบเตือนภัย พูดง่ายๆ คือวิธีการจัดการความเสี่ยง (Risk) ในองค์การ ซึ่งขณะนี้ มีการพูดถึงกันมาก เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม มองระยะยาว
การวางแผนที่ดี เลยต้องเอาประเด็นนี้เข้าพิจารณาด้วย เรื่องเหล่านี้มีคำว่าระบบ (System) ต่อท้าย อะไรที่เป็นระบบ ก็แสดงว่า มีคนทำหลายคน หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งหลายสิ่ง/หลายคน ทำคนเดียวไม่ได้ครับ

ศัพท์เหล่านี้ เราชาวพช.ได้ยินจนเริ่มคุ้นหูแล้ว ว่ากันว่าคำทั้ง 5 (ยกเว้นCommunity of Practice) จริงๆแล้ว ก็คือเป้าหมายของการจัดการความรู้ หรือที่เรียกว่า KM. (Knowledge Management) นั่นเอง ซึ่งกว่าจะบรรลุเป้าหมายการจัดการความรู้ได้ เราต้องใช้วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Sharing of Knowledge) หรือบางคน ก็เรียกว่าการเสวนา (Dialogue) กันเสียก่อน

เห็นไหมครับ ว่าคำเหล่านี้มันเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ กันอยู่ การจัดการความรู้ จึงต้องใช้วิธีการหนึ่ง ที่เรียกว่าการแลก เปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่เป้าหมาย 5 ประการ ( ตามคำศัพท์ ) ที่ว่า
แล้ว....

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2550

ธรรมะของนักพัฒนาชนบท

ธรรมะของนักพัฒนาชนบท

พูดถึงการเป็นนักพัฒนาชุมชน ไม่ว่าคนชาติไหน ดูเหมือนจะมีบุคลิกภาพ เฉพาะ ที่ดูคล้ายๆ กัน
“เปิดเผย จริงใจ มีมนุษยสัมพันธ์ เรียบง่าย ชอบคิด ช่างฝัน ฯลฯ” คุณลักษณะพื้นฐานที่ว่าบางส่วนนี้เราสัมผัส รับรู้ ได้จริงๆ หากไปพบนักพัฒนาประเภท มืออาชีพเข้า

ผมเองบังเอิญได้เจอะคุณนิคลัส มาเรีย ในเช้าวันที่มีหิมะตกหนัก เราสองคนลงจากรถยนต์คันเก่าๆ ไม่ต่างจากพัฒนากรบ้านเรา เดินดุ่มๆ เก้ๆ กังๆ บนถนนบ้านนอกฝรั่ง เงียบเชียบ ไร้ผู้คน มองไปเห็นขาวโพลน เห็นเปียกชื้น

ในสิ่งที่ได้พบเห็นหนนั้น พอกลับบ้านเรา ผมก็ถึงบางอ้อ ว่าการทำงานชุมชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างนั้น ที่แท้แล้วไม่ว่าที่ประเทศไหน เป็นงานที่ยาก และหนักทั้งนั้น
และ คำตอบส่วนใหญ่ ต้องอยู่ที่หมู่บ้านหรืออยู่กับชุมชนจริงๆ อย่างที่เค้าว่ากัน
อีกนัยหนึ่ง หากรักจะเป็นนักพัฒนาหรือนักบริหารการพัฒนา จะคิดนั่ง สั่งการใดๆในห้องแอร์ ไม่เรียนรู้เรื่องคน เรื่องสังคม อยู่ไม่ติดดิน ไม่ได้จริง ๆ

ธรรมชาติหรือธรรมะของระบบการพัฒนา หากจะให้เห็นผลจริงอย่างปรมาจารย์ นักคิด ด้านการพัฒนาชุมชนทั้งหลายว่ากัน มันมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น นอกจากคุณนิคลัส และมาเรีย เพื่อนผม ที่สวีเดน กับผมที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการพัฒนาแล้ว ยังมีองค์ประกอบเรื่องเทคนิควิธีการทำงานกับชาวบ้าน หน่วยงานต้นสังกัดหรือองค์การที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายคือชาวบ้านหรือชุมชน อีก

เท่าที่ว่าแล้วยังไม่พอ มีสภาพแวดล้อม/ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีก แต่ละองค์ประกอบ ยังเต็มไปด้วยรายละเอียด เจียระไนกันได้อีก ใครคิดจะสร้างความเข้มแข็งใคร ก็ต้องมอง ต้องทำกันอย่างเป็นระบบ คิด ตัดสินใจ คนเดียวไม่ได้ แต่ต้องรู้จักทำงานกับคน ชนิดที่มีความเป็นคน

เลยอนุมานเอาเองว่า ถ้าทุกคนรู้ธรรมะหรือธรรมชาติการพัฒนาชุมชนจริงๆ และสร้าง หาโอกาสเปิดใจกันในเวทีแบบคนๆ ลดการใช้อำนาจเชิงโครงสร้างระบบราชการมาใช้มาบังคับกัน ก็คงสามารถทำอะไรให้เข้ากับจริต พฤติกรรมปัญหาความต้องการของคนได้ง่ายขึ้น ซึ่งหมายถึงความสำเร็จของงานก็เกิดง่ายขึ้น และคนก็มีความสุข หรือถ้าทุกข์ หรือเหนื่อย ก็น้อยลง พูดถึงประเด็นนี้ เห็นไหม นักพัฒนาอย่างผมก็ชอบฝัน

เอาล่ะ เมื่องานพัฒนา มีธรรมชาติแบบที่ว่า ดังนั้นใครที่เข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องนี้ ก็ควร จะมีลักษณะที่จะต้องรู้จักวิธีการทำงานประเภท พยายามทำ
“ เรื่องยาก ให้เป็นเรื่องง่าย หรือ ทำเรื่องง่าย ให้ง่ายๆ ยิ่งขึ้น”
เช่นเรื่อง การหาวิธีทำงานโดยลดเวลา ขั้นตอนให้ สั้น สะดวก ยืดหยุ่นมาก ปรับพฤติกรรมการทำงาน เพื่อให้ประโยชน์ทั้งหลาย ทั้งปวงเกิดแก่คน ที่อยู่ในสังคมอย่างเป็นระบบ โดยไม่ต้องเสียเวลาทรัพยากรกับระเบียบ ขั้นตอนที่สุดจุกจิก หยุมหยิม ที่ผมอยากเรียกรวมๆ โดยศัพท์บัญญัติผมเองว่า “วัฒนธรรมองค์การแบบล้าหลัง เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจ” ซึ่งบางคนก็บอกว่า สิ่งนี้ เป็นอุปสรรคที่ใหญ่หลวงในการพัฒนา และสร้างความเป็นคน ทีเดียว ผมเห็น มีสังฆกรรมกันเมื่อไร ก็พูดถึงแต่เรื่องนี้ แต่ไม่เคยมีการแก้ไขกันสักที
ใครอยากทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมืออาชีพ ก็ลองพิจารณาลองดู เพราะมันเป็นเรื่องท้าทายเชิงจริยธรรม ทีเดียว

แต่ที่ยังติดใจมากก็คือ คนที่อยู่ในระบบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานพัฒนาที่ว่านี้ มีความตระหนัก เข้าใจ และใช้ความพยายามในการหาแนวทางทำงานที่สอดคล้องกับธรรมชาติ หรือธรรมะของการทำงานพัฒนาสักแค่ไหน เพื่อให้งานแบบนี้เป็นไป โดยยึดเอาธรรมชาติ เป็นหลักให้มากที่สุด เพราะเห็นคุยกันที่ไร คนที่เรียกว่านักพัฒนาเอง จะเกิดวาทะกรรมประเภทเหล่านี้เสมอเชียว
“ ก็คุณเป็นข้าราชการของรัฐนี่ มิใช่พวกเอ็นจีโอ”
“ การเป็นข้าราชการกับการเป็นนักพัฒนาที่ดี มันไปด้วยกันไม่ได้ดอก” หรือสุดท้ายแสบสันหน่อย เจอะแล้ว
“ เรื่องนี้ ให้คุณเป็นอธิบดีก่อน แล้วค่อยทำ รู้จักบทบาทหน้าที่หรือเปล่า”

นั่นก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากทันทีได้ว่า บางครั้งคนที่เป็นนักพัฒนาเอง ก็ยังติดตรึงอยู่กับกรอบ กฎเกณฑ์ของหน่วยงานค่อนข้างมาก แทนที่เอาประโยชน์ของคนทำงาน หรือของชาวบ้านเป็นหลักมากๆ
คนทำงานพัฒนาส่วนใหญ่ขณะนี้ พอลงทำงานในชุมชน จึงรู้สึกว่าไม่เพียงแต่ต้องมีสิ่งที่ว่าแล้วข้างต้น แต่ต้องการการสร้างแรงบันดาลใจค่อนข้างสูง กว่าอาชีพอื่นด้วยซ้ำไป รวมถึง ต้องการความเข้าใจ ไม่เพียงจากชาวบ้าน แต่ต้องความเข้าใจจากพวกเดียวกันอีกด้วย

บวกน้ำอดน้ำทน เพื่อที่จะสู้กับงานหนัก ความไม่สมเหตุสมผล หรือ สิ่งท้าทายความสำเร็จอื่นๆ อีกสารพัด ทั้งหมดเค้าบอกว่ามีเอาไว้แก้ทั้งสิ้น

ในการบริหารจัดการการพัฒนาช่วงหลัง เราจึงหันมาพูดเรื่องการเอื้ออำนวยความสะดวก ให้ชาวบ้าน หรือ แก่นักพัฒนากันมากขึ้น เพราะเชื่อว่า เป็นทางไปสู่การสร้างความเข้มแข็ง และการเรียนรู้ พัฒนาตัวเองได้ดีมากขึ้น ในบรรยากาศการทำงาน ที่เป็นธรรมชาติ ไม่เสแสร้ง กันจนเคยชิน แล้วก็พยายามค้นหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่เป็นเดิมทุนแล้ว และพยายามเอาสิ่งนั้นมาเป็นแบบอย่าง ขยายผล และเอามาหนุนเสริมการทำงานต่อ

มาถึงศตวรรษนี้ คนที่ทำงานพัฒนาเป็น จึงมิใช่คนที่รู้สาระของของอะไรๆ ได้หมด หรือรู้วิธีการไปหมดทุกเรื่อง หรือสั่งการให้คนทำหมดได้ทุกเรื่อง แต่กลับไปอยู่ที่การรู้จักการแบ่งปัน เรียนรู้ หนุนเสริมซึ่งกันและกัน เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ การปรับตัวเองได้ เขาก็ได้งานได้ความสุข เราต่างก็ได้งานได้ความสุข อย่ามัวแต่สั่งการคนอื่นจนเพลิน จนลืมนึกถึงว่า เขาเป็นคน..........


โดย บุญส่ง เวศยาสิรินทร์

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2550

การเขียนข้อเสนอโครงการ

เอกสารประกอบการสัมมนานักศึกษาฝึกงานภาคสนามฯ
ตัวอย่างการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ
(Project Proposal)

1.ชื่อโครงการ
-ท่านต้องการเรียกชื่อโครงการนี้ว่าอย่างไร

2.ระยะเวลาของโครงการ
-ห้วงเวลาของการดำเนินการโครงการนี้ ใช้เวลานานเท่าใด ปี หรือเดือน หรือวัน

3. ที่ตั้งโครงการ
-โครงการนี้ตั้งอยู่ ณ ที่ใด

4. สถานภาพโครงการ :
- เป็นโครงการใหม่ โครงการเก่า หรือโครงการต่อเนื่อง

5. ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ
-ใครบ้าง จำนวนเท่าใด ลักษณะอย่างไร
เช่น กรณี ปัญหาชาวบ้านขาดที่ดินทำกิน

6. ความเป็นมา หรือภูมิหลังของโครงการ
-ปัญหา ความต้องการที่พบคืออะไร เป็นเช่นไร เกิดอย่างไร ผลกระทบต่อใครบ้าง ผลกระทบในเรื่องใด เป็นต้น
7.เหตุผลความจำเป็นของโครงการ (Project Justification)
-ทำไมต้องจัดการปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
- ปัญหานี้ส่งผลต่อประชาชนอย่างไร
- ปัญหานี้มีสาเหตุจากอะไร
- โครงการนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาอะไร เคยมีโครงการเช่นนี้และดำเนินการโดยประชาชนบ้างหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร ทำไมประชาชนจึงต้องการโครงการนี้ เป็นต้น

8. วัตถุประสงค์ของโครงการ
- คืออะไร (แยกให้เห็นเป็นข้อๆ อาจมีวัตถุประสงค์ทั่วไป หรือเฉพาะ)
9.ลักษณะด้านรายละเอียดโครงการ (Project Description)

- เช่น จัดเป็นโครงการประเภทประเภทใด เช่น การให้กู้ยืมเงิน หรือเป็นประเภทสนับสนุนด้านอาชีพ บรรยายลักษณะให้เห็นว่ามีการดำเนินการอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง ฯลฯ

10.องค์กร/หน่วยงานที่รับผิดชอบ
- ใครบริหาร/จัดการ ภายใต้หน่วยงานหรือโครงสร้างแบบใด สมาชิกจำนวนเท่าใด องค์กรหรือกลุ่มก่อตั้งเมื่อใด ฯลฯ

11. แผนปฏิบัติการโครงการ
- ซึ่งอาจเป็นการอธิบายให้เห็น แต่ละกิจกรรมย่อยว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง ใครรับผิดชอบ ทำเมื่อไร และผลที่คาดว่าจะได้ในแต่ละกิจกรรม

12. งบประมาณของโครงการ
- อาจแยกให้เห็นว่า สิ่งที่ต้องใช้งบประมาณมีอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด จะขอรับการสนับสนุนจากใคร/หน่วยงานใด เช่น อบต. จากหน่วยงานราชการ หรือจากภาคเอกชน เป็นต้น
รวมเป็นเงินเท่าใด

13. การติดตาม ประเมินผลโครงการ
- ให้ระบุว่า จะติดตามอะไรบ้างในระหว่างดำเนินโครงการ เช่น อาจเป็นติดตามเรื่องเงิน งาน หรือติดตามเรื่องคน ใครจะรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำอย่างไร บ่อยแค่ไหน
เช่น อาจเป็นการติดตามโดย หลักฐานทางบัญชี รายงาน วาระการประชุม เป็นต้น ส่วนการประเมินผล ให้ระบุว่าใครเป็นผู้ประเมิน ทำอย่างไร เป็นต้น

แปลและเรียบเรียงจาก
Community Participatory Action Research by Luz Anung,
Ateneo de Davao University, Philippines
บุญส่ง เวศยาสิรินทร์
13/03/50 23:43:13 น.