วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ลาก่อนเจ้านาย เราก็รักท่านนะ!

อีกไม่กี่วันเจ้านายหลายคนของพวกเรา ต้องเกษียณอายุราชการออกไป ซึ่งคิดไปแล้ว ก็ใจหาย

หลังจากนี้ เราจะไม่ได้เจอะเจอกันบ่อยเหมือนเคยเป็น เจ้านายผู้เกษียณเหล่านั้น ต้องไปอยู่ในโลกของตัวเอง–กับสิ่งที่ตัวเองเคยรักชอบหรือกับ สิ่งซึ่งตัวเองที่เคยมี เคยสร้างเอาไว้ตอนวัยทำงาน อันเป็นเวลาที่ต้องออกไปใช้ทักษะชีวิตของใครของมัน ที่มิใช่โลกของระบบราชการ ในสำนักงานแบบเดิมอีกต่อไป

เมื่อวันเวลาแห่งการอำลานี้ เดินมาถึงวันนี้ เจ้านายของผมก็คงทำใจได้ และมีเวลาเตรียมตัวอย่างพร้อมสรรพแล้ว เรื่องเงินทองสิ่งของตัวเองคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงอีกแล้ว เหลือแต่ ด้านสุขภาพกายกับใจเท่านั้น ซึ่งแต่ละคนจะต้องแสวงหาเอาเอง ตามฐานานุรูป - พูดภาษาธรรมะสักหน่อยต้องว่า แล้วแต่บุญกรรมของแต่ละคน

ในระบบของหน่วยงานเรา ดูเหมือนจะไม่ได้สอนหรือเน้นให้คนพยายามบูรณาการการทำงานในสำนักงาน ให้เข้ากับเรื่องการพัฒนาทักษะชีวิตไปพร้อมๆกัน แต่มักมองแยกส่วนออกจากหน้าที่การงาน การใช้หรือความพยายามในการสร้างทักษะชีวิต จึงไม่ได้ผูกติดกับเรื่องฐานะ ยศตำแหน่ง ที่เคยมี แต่เป็นเรื่องที่เจ้านาย ทุกคนต้องแสวงหาพัฒนาตัวเองด้วยตัวเอง

ซึ่งหมายความว่า ต่อนี้ไปเจ้านาย ต้องไปอยู่ในโลกของตัวเองอย่างจริงจังเสียที จะกดกริ่งเรียกคนมาสั่งๆงาน ทำงานในห้องพิเศษ ติดแอร์ เย็นเฉียบ แวดล้อมไปด้วยลูกน้องเอาอกเอาใจ คอยสดับตรับฟังจัดบริการทุกอย่างให้ แถมอาจมีอภิสิทธิ์มากมายในองค์กร จนแทบไม่ต้องทำอะไรโดยตนเอง ก็จะมีโอกาสน้อยที่จะทำเช่นนั้นได้อีก เวลาที่เหลือ จึงขึ้นอยู่กับทักษะชีวิตของแต่ละคน ที่จะทำให้ชีวิตหลังชีวิตสำนักงาน เป็นไปอย่างราบรื่น มีความสุข

เคยพบว่า เจ้านายหลายคน ช่วงใกล้เกษียณอายุราชการ ถ้าเกิดไปยึดติดกับสิ่งเหล่านี้มากเกินพอดี ซ้ำเกิดภาวะปรับกายใจไม่ได้ เพราะขาดประสบการณ์หรือฝึกปรือทักษะชีวิตไว้ เจอะเจอโลกธรรมอีกแบบ ก็จะกลับกลายเป็นความทุกข์

เอาล่ะ ถึงเวลาที่เราต้องจากกันแล้ว จึงอยากมองว่า การเกษียณจากงาน แท้จริงแล้ว มิใช่การเดินทางถึงจุดสุดท้ายชีวิต คนหลายคนยังมองว่าเป็นโอกาส หรือสิ่งใหม่ที่น่าตื่นเต้นสำหรับชีวิต

ฉันเองไม่มีโอกาส เข้าร่วมงานวันแห่งการล่ำลาอาลัย รวมถึงลิ้มรสชาติอาหาร มื้อพิเศษในวันอำลาที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ได้ อีกทั้งไม่มีโอกาสได้ชมวีดีทัศน์ “ปัจฉิมบทการทำงาน”ของเจ้านายแต่ละคน ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเตรียมกันมาเสนอเป็นอย่างดี

ขอหยุดเวลาที่เดินไปแล้วสักหน่อยสิ เปิดโอกาสให้ฉันได้ร่วมค้นหาความทรงจำและบอกกันหน่อยว่า สิ่งที่ฉันกับเจ้านายเคยทำร่วมกัน ไม่ว่าโดยทางตรง โดยอ้อม เพื่อกรมการพัฒนาชุมชน ทำให้ฉันคิดถึงพวกท่าน โดยเฉพาะ เรื่องดีๆ จะขอเก็บไว้ในความทรงจำ เป็นพิเศษ ด้วยสักคน

สำหรับฉันแล้ว ไม่นิยมเก็บความทรงจำว่า ใครคือเจ้านาย หรืออดีตเจ้านาย แต่มักทรงจำเสมอว่า ทุกคนใน พช. คือผู้ร่วมงาน หรือหนักเข้าหน่อยถ้าระดับพัฒนากร ก็ถึงขนาดผู้ร่วมชะตากรรมกันเลย จึงมีความดีความน่ารักมากน้อยผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง แต่เราต่างกันแค่บทบาท/หน้าที่ที่ถูกสมมุติขึ้นในเวลาหนึ่ง เท่านั้น

วันนี้ เราอาจชื่นชม หรืออาจห่วงหาอาลัยต่อกันบ้าง แต่สำหรับวันพรุ่งนี้ หากไม่พวกเราไม่เจ็บป่วยล้มตายเสียก่อนในวัยอันควร จึงหมายถึง ลุง ป้า ผู้อาวุโส สามารถร่วมวงเสวนา ลิ้มรสน้ำชาหอมอุ่นๆ จากถ้วยชาใบเดิมเก่าๆ ที่เคยบริการได้เหมือนเดิมเสมอ ห้องทำงาน และใจของฉัน และเพื่อนพ้องดีๆ อีกหลายคน ก็ยังมีประตูหัวใจ เปิดกว้างสำหรับคนพัฒนาชุมชนที่ร่วม หรือ เคยร่วมสุขทุกข์ด้วยกัน เสมอ

เจ้านายในวันนี้ หรือลุงป้า ของคนในร่างเดิมพรุ่งนี้ คือกัลยาณมิตร ที่ไม่เคยต่างจากที่ฉันเคยมอง หรือให้ความสำคัญดุจเพื่อนร่วมงานทุกคนเหมือนตอนทำงานในกรมการพัฒนาชุมชน เพราะฉันรู้ดีว่ายศฐา บรรดาศักดิ์ แท้จริงแล้ว เป็นหัวโขนที่ทุกคนไม่สามารถสวมใส่ติดตัวไปได้ตลอดชีวิตหรอก

เจ้านายครับ ที่ผ่านมาบังเอิญว่า ฉันเห็นฉันรู้เรื่องราวของท่านมากกว่า เพราะบังเอิญท่านเป็นตัวละครชูโรงมากกว่าฉัน การกระทำที่ผ่านมาบางเรื่องราว ถ้าเป็นเรื่องผิดพลาดในองค์กร ก็ช่างมันเถอะ เราอโหสิกรรมกันได้...

ชีวิตจริงข้างหน้า มันอาจหนักหนาสาหัสกว่านี้ เอาเรี่ยวเอาแรงไว้สู้ในรูปของทักษะชีวิตเพื่อชีวิตส่วนหนึ่งดีกว่านะ

ลาก่อนเจ้านายที่รัก ถึงเวลาที่เราต้องอำลาจากกันไปแล้ว หวังว่า บรรยากาศ อาหารแลทุกสิ่ง ในบรรยากาศที่จัดแล้วอย่างเป็นทางการ คงทำให้ทุกคนผู้เกี่ยวข้องมีความสุข และขณะเดียวกัน ก็เห็นชีวิต สัจจะธรรมใหม่ๆ สำหรับชีวิตด้วย

ที่ผ่านมา ฉันเพียงยืนเกาะรั้วราวสูง เผ้าสังเกตพวกคุณเท่านั้น แม้กระนั้น ฉันก็ให้ความสำคัญต่อพวกคุณ จะคิดถึงพวกคุณ จะลืมเลือนกันอย่างสิ้นเชิงได้อย่างไร เพราะบ่อยครั้งไปพวกคุณ เป็นตัวละคร ที่มีส่วนทำให้ฉันหัวเราะ ขำกริ้ง กับวิธีคิดและการกระทำ แต่บางครั้ง ก็เศร้า สมหวัง คละเคล้ากันจนเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลาทีเดียว ชีวิตจริง และวัฒนธรรมองค์การราชการ ก็ดูจะเป็นเช่นนี้

ฉันให้สัญญากับตัวเองว่า จะต้อนรับพวกคุณด้วยความยินดี เสมอต้น-ปลาย ดังที่เคยทำ กับกัลยาณมิตร พช.ทุกคน หากว่าวันใด เราต้องพบกันนอกรั้วราวสูง อีก

เราจะคุยเรื่องสนุกๆ ปรัชญาชีวิต สัจจะธรรม คุณค่าความดีงาม เรื่องราวการผจญภัยในโลกกว้างร่วมกัน

ด้วยฉัน และชาวพัฒนาชุมชนอีกมากมาย อาจโดยบังเอิญ ล้วนถูกอบรม สอนสั่ง ให้เข้าใจธรรมชาติ เรียนรู้ความจริงของชีวิตและโลกอยู่ตลอดเวลาจากการทำงานหนัก จึงมีเวลาที่จะเสวนา สามารถเข้าใจ และต้อนรับ ใครได้ทุกคน โดย ไม่ต้องมัวเสียเวลากับการเติมคุณค่าใหม่ อะไรลงไปอีก...

การชุมนุม:ม็อบธรรมะ VS ม็อบอธรรม

การแสดงประชามติ โดยวิธีการชุมนุม เป็นวิถีทางประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องมือบอกปัญหา บอกความต้องการของคนในชุมชนหรือสังคม แล้วนำพา ไปสู่การแก้ไขปัญหาความต้องการในสังคมร่วมกัน
ซึ่งเหมือนกับเราไปส่งเสริมให้เกิดการจัดเวทีประชาคม ก็เพื่อให้สังคมเกิดการปฏิบัติการบางอย่าง กับปัญหา นั้นๆเสีย

ต่างกันแต่ว่า ใครเป็นคนคิด สนับสนุนและทำให้เกิดกิจกรรม (Mobilize) กิจกรรมเหล่านี้ขึ้น ต่างหาก

ถ้าคนฝ่ายรัฐจัด คนมักไม่มีปฏิกิริยาอะไร และไม่ ถูกเรียกว่า “ม็อบ” แต่ถ้าตรงกันข้าม ซ้ำไม่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังเช่นกรณี การเคลื่อนไหวของชาวบ้าน/กลุ่มองค์การชาวบ้านเอง ก็ถูกมองเป็น “ม็อบ” ซึ่งมักเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า เป็นกลุ่ม ที่ไม่ค่อยปรารถนาดีต่อสังคม สักเท่าใด ฝ่ายบ้านเมืองอาจให้มีการสืบเสาะที่มาที่ไปว่า ใครเป็นแกนนำ หรืออยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว

ผมคิดว่าโดยแท้จริงแล้วการเคลื่อนไหว ของทั้ง 2 รูปแบบ ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ก็เพื่อที่จะให้ปัญหาความต้องการหรือความทุกข์ ที่กำลังพบ หรือ อาจพบในวันข้างหน้า ถูกพิจาณาแก้ไขให้ดีขึ้น แต่กิจกรรมอันแรกเสียอีก ซึ่งส่วนมาก กลับเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสนับสนุนให้ทำ เพื่อประโยชน์ของราชการ หรือพูดง่ายๆ เพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน เสียมากกว่า แต่จะแก้ปัญหาได้ผล เพียงใด ดูจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในงานพัฒนาชุมชน และสังคมยุคใหม่ คนที่เข้าถึงประชาธิปไตยจริงๆ จึงมิได้มองว่ากิจกรรมการเคลื่อนไหวเหล่านี้เลวร้ายอะไร แต่เป็นการเคลื่อนไหวแนวราบ ที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่งเพิ่มเติมจากกิจกรรม โดยกลไกทางการเมืองการปกครอง โดยปรกติ

ในเชิงหลักการพัฒนาชุมชนและสังคม เขาเรียกขั้นตอน/วิธีการนี้ว่าเป็น “การปฏิบัติการทางสังคม” (Social Action) อย่างหนึ่ง ก็เพื่อที่จะตะโกน (Voice) ปกป้องร้องป่าว (Advocacy) ให้คนที่มีอำนาจ ในการตัดสินใจ หรือ ให้คนทั่วไปได้ลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ไข/ผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา หรือทำให้ความต้องการเป็นจริง โดยเฉพาะ คนที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายการเมือง ได้ร่วมกันทำออกมาเป็นแผนและนโยบายสาธารณะ (Social Planning and Policy) อีกที

คนที่จะทำงานพัฒนาชุมชนเชิงกระบวนการหรือความเคลื่อนไหวเหล่านี้ จำเป็นต้องมีวิธีการศึกษา/ทำงาน เพื่อให้ทราบถึงความทุกข์ยากและชะตากรรมของคนที่ประสบปัญหาจริงๆ เป็น รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนะ มุมมองค่านิยมด้วย จึงจะเข้าถึงรากเหง้าปัญหาสังคม และเพื่อมิให้เกิดการทำงานพัฒนาชุมชนแบบฉาบฉวย หรือทำงานพัฒนาชุมชน กับชุมชนแบบ “ยื้อโรค” คือ ทำมานานนม แต่ ไม่ได้แก้ปัญหาสักที

ว่าไปแล้วขั้นตอนวิธีการเหล่านี้ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

เราคงไม่ไปพูดเรื่องการออมทรัพย์กับกลุ่มชาวบ้าน ที่กำลังเดินทางไปแสดงความต้องการ เรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ จนเดือดร้อนแสนสาหัส ที่ศาลากลางจังหวัด แต่ในอนาคต คนกรมฯ เราอาจต้องฝึกฝนการเป็นคนกลางช่วยเจรจาต่อรอง เป็นทูตสันทวไมตรี ในฐานะที่เคยนั่งในหัวใจ และรู้ปัญหาชาวบ้านกลุ่มนี้ ให้สามารถเจรจาต่อรอง หรือขจัดปัดเป่าปัญหาความต้องการให้ได้รับการตอบสนองอย่างใส่ใจ และผู้ว่าราชการ หรือ นายอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่รัฐเกิดความอุ่นใจขึ้น กับเรื่องเหล่านี้ โดยมีเราเป็นผู้คอยช่วยเหลือ แนะนำอย่างมืออาชีพ หรือ

พัฒนาชุมชนอาจต้องยอมเหนื่อย หรืออาจขัดใจเจ้านายสักหน่อย ในการทำงานนอกกรอบ โดย ลงไปช่วยพัฒนาข้อเสนอ ร่วมออกแบบโครงการที่หลายหน่วยงานทำไว้ แล้วทิ้งๆขว้างๆ เราไปทำแบบต่อยอด ให้กลายเป็นเครือข่ายทำงานที่เข้มแข็ง จนสามารถปฎิบัติการทางชุมชนด้วยตัวเอง รวมถึงได้รับการตอบสนองจากทุนแหล่งทรัพยากรเพิ่มขึ้นในการทำงาน แก้ปัญหาเองได้ ตามตัวอย่างทั้งหมดที่ยกมานี้ หรือ

ทำอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นนักพัฒนาชุมชน (ที่พยายามพัฒนาให้เป็นวิชาชีพสักหน่อย) ซ้ำยังเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการพัฒนาในอำเภอ ต่อชะตากรรมของชาวบ้านที่พบว่ายังยากไร้ ที่จะขอร้อง อรรถาธิบายให้นายอำเภอ กพอ. หรือคณะทำงานต่างๆ ประชาสังคม ในอำเภอ ร่วมแรงร่วมใจกัน คิดจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของอำเภอชนิดเจ๋งๆ ด้วยจิตสำนึก ที่แท้จริงเพื่อประชาชน แล้วช่วยกัน ขับเคลื่อน เรียนรู้กันให้สนุกๆ มากกว่า การคิดทำโครงการที่ไร้สาระ ติงต๊อง ผลาญเวลา งบประมาณ โดยไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนเท่าที่ควร

การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน ต้องมีองคาพยพด้านมิติการเมืองการปกครองอยู่ด้วย คือต้องพูดถึงหรือให้ความรู้ประชาชน ไม่มากก็น้อยและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากระบบของการเมืองการปกครองบ้านเรา ยังกอร์ปด้วยนักการเมืองที่ทำงานไม่เอาไหน ชั่วและฉ้อฉลอยู่ และพวกเขาได้เข้าไปกำหนดนโยบายบริหารประเทศ ก็จะมีผล กระทบต่อชีวิตชุมชนในชนบทด้วยแน่นอน อีกประการหนึ่ง ก็คือการเข้าถึงข่าวสารดีๆอย่างทั่วถึงของประชาชนส่วนใหญ่ถ้ายังอยู่ในวงจำกัด การทำงานพัฒนาชุมชนเชิงรุกของพัฒนาชุมชนที่อยู่ในภาครัฐและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออยู่ในระบบของกระทรวงมหาดไทยเสียด้วย

คนที่รักและเข้าใจชีวิตสังคมชนบท และเป็นนักพัฒนาโดยสายเลือดโดยวิชาชีพ อาจต้องทำงานหนัก และผจญกับสิ่งท้าทายความสามารถ ในการทำงานตอบสนองความต้องการ และปัญหาที่แท้จริงของประชาชน มากมายทีเดียว ...................

วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ถึงเพื่อนพ้องที่เข้ามาอ่าน

บทความ ข้อเขียนในเวปบล็อกนี้ แม้จะเก่าไปหน่อย แต่หลายเรื่องก็เริ่มมีคนพูดถึง ผมเองไม่มีเวลาเข้ามาอัพเดทใหม่
ในขณะนี้ แม้จะเขียนเรื่องใหม่ๆไว้หลายเรื่อง เอาไว้โอกาสดีๆ แล้วพบกัน หากมีข้อสงสัย หรือต้องการติดต่อผมก็เชิญได้นะครับ
พบกันใหม่ ขอบคุณครับ -บุญส่ง เวศยาสิรินทร์