วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

การวิจัยPAR.กับทีมวิจัยเขต 5

คำนำ ขณะนี้ ศพช. เขต 5 มีการเผยแพร่และนำ หลักการการวิจัยที่เรียกกัน โดยย่อว่า PAR เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการพัฒนาชุมชน ผมพบเอกสารเก่าที่เคยทำไว้เมื่อปี 48 จึงนำมาเสนออีกครั้ง สำหรับเพื่อนพ้องที่สนใจ (การเปรียบเทียบเดิมเขียนเป็นช่องตาราง แต่ในBlog ทำไม่ได้)จึงเสนอไว้เช่นนี้ โปรดพิจารณาเอาเอง หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้าง
-----------------------------------------------------------------
เปรียบเทียบการวิจัย PAR) กับการวิจัยทั่วไป และเปรียบเทียบกับ วิธีการพัฒนาชุมชน

กระบวนการค้นหาปัญหาหรือวิจัยแบบเก่า (Problem Solving process)

1. การกำหนดปัญหา(Problem Solving process)

2.วิเคราะห์ปัญหา (Problem Analysis)


3.กำหนดวัตถุประสงค์ (Objective Setting)

4.วางแผนแก้ไขปัญหา (Planning)

5.ปฏิบัติการตามแผน (Implementing)
6.ติดตาม ประเมินผล (Monitor and Evaluate)
---------------------------------------------------------
แต่ กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (PAR Process)

ก.ขั้นวิเคราะห์สถานการณ์ชุมชน
1.นักพัฒนาลงสู่ชุมชน และศึกษาเรียนรู้กับชุมชน โดย
-ร่วมค้นหา ระบุประเด็นปัญหา ที่จะนำไปสู่การกำหนดเป็นหัวข้อวิจัย ร่วมกัน
-เลือกทีมทำงานวิจัย ( เพื่อค้นหาคำตอบวิจัย)
2. ฝึกอบรมนักวิจัยชาวบ้าน (รอบที่ 1)
3. ปฏิบัติการวิจัย

4.ฝึกอบรมนักวิจัยชาวบ้าน (รอบที่2)

5.ปฏิบัติการวิจัย
-รวบรวม/วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้
-กำหนดคณะทำงานวางแผนแก้ไขปัญหาจากการวิจัยที่ค้นพบ
-ให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา

ข.ขั้นวางแผนปฏิบัติการในชุมชน
-ฝึกอบรมคณะกรรมการวางแผนชุมชน
-ให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้
-จัดทำข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากแหล่งทุน(หรือขับเคลื่อนกันเอง)

ค.ขั้นปฏิบัติการตามแผนที่วางไว้
-ติดตาม
-ประเมินผลโครงการ
ง.ขั้นสร้างความเข้มแข็งศักยภาพชุมชนต่อ
-------------------------------------------------------
ความหมายคำต่างๆที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน

1. นักวิจัย หมายถึง นักพัฒนาชุมชน + ชาวบ้าน + คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสิทธิ์เป็นนักวิจัยได้ทุกคน
2. การวิจัย หมายถึง กระบวนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ค้นหาคำตอบสิ่งต่างๆอย่างมีระบบ ขั้นตอน โดยบ้านเอง ซึ่งเป็นคนในชุมชน
3. โครงการ/กิจกรรม หมายถึงสิ่งที่ชาวบ้าน และนักพัฒนาร่วมกันทำ(Action) เป็นผลิตผลการวิจัยแบบมีส่วนร่วมที่สำคัญ
4.การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) ไม่เน้นรูปแบบที่ตายตัวเหมือน หรือต้องเขียนเป็นเอกสารรูปเล่ม หรือเป็นเชิงวิชาการเหมือนงานวิจัยทั่วไป โดยชาวบ้านร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ คิดค้นปัญหา ชาวบ้านแก้ไขปัญหา ชาวบ้านติดตามประเมินผล ชาวบ้านพอใจมีความสุข – นักพัฒนาเข้าไปกระตุ้น ร่วมส่งเสริม ร่วมปฏิบัติให้เกิดกระบวนการนี้ขึ้น

สรุปได้ว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการฯ(PAR) เป็นเรื่องของการทำงานแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ขั้นตอน โดย คนทุกคนได้มีส่วนร่วม เป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง แล้วนำไปสู่การกระทำ แก้ไขปัญหา ร่วมกัน สนุก เรียนรู้ รับผลประโยชน์ร่วมกัน ชาวบ้านทุกคนเป็นนักวิจัยได้

ส่วนหลักวิธีการพัฒนาชุมชน เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นว่า มีความเหมือนกับกระบวนการ PAR. คือ วิธีการทั้งสองอย่าง เน้นการเข้าไปคลุกคลีทำงานกับชุมชน แล้วพยายามหาคำตอบ เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ที่มีอยู่ในชุมชน โดยมักใช้คำถามพื้นฐาน หลักอยู่ 5 คำถาม คือ
· สิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร หรือ (What is ?)
· ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น (Why it is?)
· อะไร (อาจ) จะเกิดขึ้น ถ้าหากว่า..................(What would happen if……..)
· อะไรบ้างที่จะเป็นตัวช่วยให้เกิดการเรียนรู้ หรือแก้ไขปัญหาได้? (What would stimulate?)

· แล้ว เราจะน่าจะทำอะไรต่อไป (What should be done?)

ลองเข้าไปหาชุมชน พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับชาวบ้าน ในสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมที่เขาเป็นอยู่จริง แล้วพยายามตั้งคำถาม เหล่านี้ร่วมกัน เมื่อใดที่คนในชุมชนตั่งคำถามวิจัยเหล่านี้ ก็รีบสนับสนุนเขาเถอะ นั่นแสดงว่า กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกำลังจะเกิดขึ้น รีบสนับสนุนส่งเสริมเขาได้ทันที ท่านก็จะได้เรียนรู้ ชุมชนก็จะได้เรียนรู้ (เป็นนักวิจัย) แล้วปฏิบัติการ (Action) ต่างๆ จะเกิดขึ้น แล้วทุกคนจะมีความสุขจากการทำงานร่วมกัน



ที่มา : แปล และเรียบเรียงจาก (สำหรับการบรรยาย เมื่อ 25 มกราคม 2548) จาก
1. Community Organizing - Participatory Action Research (CO-PAR) by Luz Canve Anung et all, Institute of Primary Health Care, Davao Medical school Foundation, Ateneo De Davao University, Philippines, 1992
2. Community Development Theory by James B. Cook Department of Community Development University of Missouri, U.S.A

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

เรียนภาษาอังกฤษสไตล์นักพัฒนา ;จดหมายข่าว (เดือน เมย.50)

คำนำ : เนื่องจาก ศพช.เขต5 ได้ผลิตจดหมายข่าวชื่อ"จุลสาระ" รายเดือน ได้เริ่มฉบับแรกแล้วเดือนเมย.50 คาดว่าจะทำไปเรื่อยๆจนกว่าคนทำจะหมดแรง หรือหมดทุน จึงได้นำสาระที่ได้นำเสนอแจกจ่ายไปแล้วบางส่วน ลงเสนอไว้ในBlogนี้อีกครั้ง รวมถึงเพื่อทีมเพื่อนในโครงการ "เรียนภาษาอังกฤษ; เพื่อนช่วยเพื่อน ศพช.เขต 5" จะได้ร่วมรายการ อย่างต่อเนื่อง แม้ในกรณีที่ไม่ได้รับเอกสารโดยตรงก็ตาม ก็อาจเปิดอ่านจาก Blog แหล่งนี้ได้ เราจะเอามาลงทุกฉบับ ขอบคุณครับ

ฉบับที่ 1 เมษายน 2550
A letter from a friend in Lampang to a friend named Lumduan

A. จดหมายภาษาอังกฤษ (ฉบับที่ 1)

Dear Lumduan,

As you know, last week I went to attend a training course in Bangkok. The course was very interesting. You may want to know what kind of course I attended. The course was about how to develop a simple routine work to become a research work. We call it shortly a “R2R”.

For me, R2R is very important because people, in fact, do a lot of jobs daily. But they do not develop them as a research. If they do, other people will then learn something new and interesting. In the meantime, they can also use research method to improve their jobs. Do you agree with me that lessons learnt from the jobs are very important for us as a community development worker?
Lumduan, I think that next time I will tell you more about my lessons learnt during my last visit to Bangkok. This is because I met a lot of C.D. workers from many provinces. We shared ideas and experiences with each other. I promise that I will write to you next month.

I always miss you.

Your friend from Lampang

B. กติกาเรียนภาษาอังกฤษแบบนักพัฒนาชุมชน

(1) อ่านคำถามภาษาไทย ทั้ง 7 ข้อก่อน
(2) พยายามอ่านจดหมายภาษาอังกฤษ และหาคำตอบ ทั้ง 7 ข้อ
(3) อ่าน ดูคำเฉลยจากคำแปลภาษาไทย ศึกษาคำ เทียบเคียงศัพท์ต่างๆ
(4) หากอ่านจดหมายภาษาอังกฤษแล้ว พบว่าท่านเข้าใจ ก็แสดงว่า ท่านตอบคำถาม ทั้ง 7 ข้อถูกต้องแล้ว ไม่เชื่อก็ลองดู และอย่าลืมเทียบศัพท์จากคำแปลด้วย
C. คำถามภาษาไทย
1. เพื่อนที่ลำปาง ไปกรุงเทพเมื่อไร?
2. ไปทำอะไรที่นั่น?
3. ได้เรียนรู้ เรื่องอะไร?
4. ทุกวันนี้ เราไม่ค่อยได้พัฒนางานประจำ ให้เป็นงานวิจัย ใช่หรือไม่?
5. งานวิจัย มีประโยชน์อะไรบ้าง?
6. บทเรียนจากการทำงาน จำเป็นมาก ใช่ไหม?
7. เพื่อนที่ลำปาง ได้พบใครบ้างที่กรุงเทพ?
D. คำแปล
(ลำดวนที่รักคิดถึง.. ดังที่เธอทราบ สัปดาห์ก่อน ฉันไปเข้าหลักสูตรการฝึกอบรมที่กรุงเทพ หลักสูตรฝึกอบรมนี้น่าสนใจมาก เธออาจอยากรู้ว่าหลักสูตรอะไร หลักสูตรที่ว่า คือการทำงานประจำ ที่ง่ายๆ ให้เป็นงานวิจัย หรือเรียกอย่างย่อว่า “หลักสูตร R2R” สำหรับฉัน อาร์ทูอาร์. สำคัญมาก เพราะคนทั้งหลายทำงานประจำกันทุกวัน แต่มิได้พัฒนางานประจำ ให้เป็นการศึกษาวิจัย ถ้าหากพวกเขาทำ คนอื่นๆ จะสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ และน่าสนใจ เขายังสามารถนำการวิจัยไปปรับปรุงงานของพวกเขาได้ด้วย เธอเห็นด้วยกับฉันหรือเปล่าว่า บทเรียน จากการทำงาน มีความสำคัญมากสำหรับพัฒนากร? ลำดวน ฉันคิดว่าฉันจะเล่าเรื่องที่ฉันได้เรียนรู้ ตอนไปพักที่กรุงเทพให้เธอฟังอีก ด้วยเหตุว่า ฉันได้พบเพื่อนพัฒนากรจากหลายจังหวัด พวกเราได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ในเดือนหน้าฉันสัญญาว่าจะเขียนถึงเธออีก คิดถึงเธอเสมอ จากเพื่อนเธอที่ลำปาง)

ส่งความคิดเห็น/หรือทดลองเขียนภาษาอังกฤษร่วมสนุกได้ที่ทีมเรียนภาษาอังกฤษ:เพื่อนช่วยเพื่อน อีเมล์ : K_rongv@hotmail.com ยินดีตอบ/ แลกเปลี่ยน - พบกันใหม่ฉบับหน้า


************

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

เรื่องด่วน .. ถึงจังหวัด 6 จังหวัด(นส.กรมฯลว.17 พค.50)

เรื่อง การจัดทำ Workshop 4 ภาค ตามโครงการเสริมสร้างค่านิยมองค์กร
มีรายละเอียด เพิ่มเติมจากที่ Fax มาแล้ว ดังนี้ครับ
(สำเนา)
บันทึกข้อความ
ด่วนที่สุด
ส่วนราชการ กรมการพัฒนาชุมชน กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร โทร.0 26223131 ต่อ 161
ที่ มท 0418/ว 712 วันที่ 17 พฤษภาคม 2550
เรื่อง การจัดทำ Workshop 4 ภาค ตามโครงการเสริมสร้างค่านิยมองค์กร
เรียน ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขตที่ 1,4 ,5 และ 8

กรมการพัฒนาชุมชน โดยกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร และกลุ่มภารกิจด้านนวัตกรรมการบริหาร ได้จัดทำโครงการเสริมสร้างค่านิยมองค์กรขึ้น เพื่อเพิ่มขีดสมรรถนะขององค์กรและบุคคลของกรมฯ ให้สามารถมีค่านิยม และวัฒนธรรมองค์กร ที่เอื้ออำนวยต่อวัฒนธรรมองค์กร ที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาชุมชน อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุตามวิสัยทัศน์ และพันธกิจของกรมการพัฒนาชุมชน อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ และพันธกิจของกรมการพัฒนาชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ บุคลากรของกรมฯในทุกระดับได้มีส่วนร่วมในการกำหนดค่านิยมองค์กร และเกณฑ์บ่งชี้พฤติกรรม ตามค่านิยมที่มีความเหมาะสม กับบริบท และสิ่งแวดล้อมของกรมฯ ให้มากที่สุด โดยยึดวิธีดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการเสริมสร้างค่านิยมของกรมฯ และหลักการ 4 Ds Phasing (Define, Deploy, Drive และ Deepen)
ดังนั้น เพื่อเป็นการตรวจสอบความคิดเห็น และข้อเสนอแนะตามค่านิยมและเกณฑ์บ่งชี้พฤติกรรมขององค์กร จึงกำกำหนดให้จัดWorkshop 4 ภาค ขึ้น เพื่อนำผลสรุป และข้อเสนอแนะมาดำเนินการปรับปรุง ก่อนที่จะประกาศใช้เป็นค่านิยมและเกณฑ์บ่งชี้พฤติกรรมของกรมฯ ต่อไปจึงให้ ศพช.เขตดำเนินการดังนี้
1.จัดกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 40 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จาก ศพช.เขต จังหวัด และอำเภอ ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบเข้าร่วมกิจกรรม Workshop ตามกำหนดการที่แนบมา โดยให้เบิกค่าใช้จ่ายพาหนะในการเดินทางจากต้นสังกัด
2.จัดเตรียมสถานที่ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในกิจกรรมการแบ่งกลุ่ม Workshop จำนวน 4 กลุ่ม
3.จัดเลี้ยงอาหารกลางวัน จำนวน 1 มื้อ อาหารว่าง และเครื่องดื่ม จำนวน 2 มื้อ สำหรับกลุ่มเป้าหมายตามระเบียบฯค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฯ โดยเบิกจ่ายงบประมาณจากโครงการเสริมสร้างค่านิยมองค์กร

จึงเรียนมาเพื่อดำเนินการ


นายวิชล มนัสเอื้อศิริ
รองอธิบดี รักษาราชการแทน
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน
----------------------------
กำหนดการจัดกิจกรรมWorkshop 4 ภาค ตามโครงการเสริมสร้างค่านิยมองค์กร
วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม 2550
ณ ศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขตที่ 5 จังหวัดลำปาง

08.30 - 09.30 น. - รายงานตัว
09.30 - 11.00 น. - หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหารบรรยายหัวข้อ
“ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน”
11.0 – 12.00 น. - แบ่งกลุ่มฯ วิเคราะห์ค่านิยมองค์
12. 00 - 13.00 น. - พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.0 - 15.00 น. - วิเคราะห์เกณฑ์บ่งชี้พฤติกรรมตามค่านิยมองค์กร
15.0 - 16.30 น. - นำเสนอ/สรุปประเด็น และปิดกิจกรรม Workshop

หมายเหตุ : พักรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่ม เวลา 10.30 – 10.45 น.
และเวลา 14.30-14.45 น.

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ตามไปดูฝรั่งทำแผนพัฒนา 5 ปี

เมื่อหลายเดือนก่อน เจ้านายผมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ออสเตรเลีย กลับมา ท่านต้องรายงานผลต่อหน่วยเหนือ และเอาสิ่งที่ได้มาทำอะไรอีกหลายอย่าง ผมได้รับมอบหมายให้ร่วมแปลสรุปความเอกสารภาษาอังกฤษ บางชิ้น แต่อีกเรื่อง ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาเมือง 5 ปี ผมเห็นว่าน่าสนใจ ประกอบกับตอนไปราชการอยู่ที่สวีเดน เช้าเย็นผมได้คลุกคลี อยู่กับสำนักงานเทศบาลนครของเมืองๆ หนึ่ง ได้มีโอกาสคุยกับนายกเทศมนตรีของเมืองนี้ออกบ่อย แต่แค่คุยกันเรื่องต้มยำกุ้ง และเรื่องภารกิจงานที่ผมรับผิดชอบตรงๆ แม้คุยบ้างเรื่องหลักการวางแผนพัฒนาเมืองก็แค่เฉียด ๆ แต่ก็มีโอกาสออกไป ปฏิบัติงานแถบนอกเมืองแทบทุกอาทิตย์ เวลาผ่านไป ทำให้ ผมต้องกลับมาทบทวนประสบการณ์เหล่านั้นใหม่ อีกที จับแพะชนแกะที่ออสเตรเลีย เอากระทิงดุ ผสมผสมแม่วัวนม หรือเอาม้าผสมลาที่ไปพบเห็นมาที่สวีเดน บวกข้อมูลเอกสารจากฟากออสเตรเลีย ก็เขียนเป็นเรื่องเล่า ให้เห็นว่าฝรั่งเขามีวิธีคิด เขาวางแผนพัฒนาบ้านเมืองเขากันอย่างไร เหมือนหรือต่างจากบ้านเราหรือไม่ อย่างไร...........

(เกริ่นไว้แค่นี้ก่อน สมองไม่แล่นแล้ว หมู่นี้ช่างกำลังทาสี ตกแต่งสำนักงานเหม็นกลิ่นสีมาก ทำอะไรไม่สะดวก – แต่ก็มิใช่ข้ออ้าง ว่าไป ก็คงต้องพยายามเขียนเสนอในคราวต่อไปครับ) อ้อ... ผมจะพูดและวิเคราะห์ถึงกรณีของเทศบาลนคร ดังที่จั่วหัวไว้ข้างล่างนี้ครับ
; จริงๆก็อ่านจบ หลายรอบแล้ว แต่เรีบบเรียง เขียนถ่ายทอดไม่ออกขออภัย)
Campbelltown City, Social Plan, December 2004 – November 2009

ที่นี่ ;จะจัดการความรู้อย่างไรให้ได้ผลดี

คำนำ นี่เป็นข้อเขียนแสดงความคิดเห็นที่ศึกษาเพิ่มเติม จากแหล่งความรู้ ผสมผสานปรากฏการณ์ความเป็นจริง ที่ได้พบเห็นที่บอกถึงความคาดหวัง ต่อการดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการความรู้แต่ละครั้ง ข้อเขียนนี้ คงเป็นสาระที่จะแลกเปลี่ยนกันได้บ้างตามสมควร จึงเอามาเล่าสู่กันฟังใหม่

ถ้าผมเป็นครูใหญ่ ต้องไปจัดการสัมมนาครูน้อยซึ่งอยู่โรงเรียนเดียวกับผม ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถเอาวิธีการจัดการความรู้ (KM) ไปปฎิบัติได้อย่างเป็นผล จนโรงเรียนเรา เป็นโรงเรียนน่าอยู่ สามารถสร้างนักเรียน ให้เป็นคน ดีฉลาด ซึ่งจะทำให้ผมมีความสุขด้วย ผมคงต้องพูดโน้มน้าว ให้ครูน้อย ที่ทำงานร่วมสุขทุกข์กับผมได้เห็นความสำคัญ ตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจ และมีแรงบันดาลใจ เอาความรู้ ไปใช้ให้ได้ ใน ปี 2550 โดยให้สัญญาว่า จะร่วมผลักดันทุกวิถีทาง ที่จะทำให้ทุกคน นักการภารโรงในโรงเรียนของเรา สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จ แบบทุกคนมีความสุข และในฐานะครูใหญ่ ผมจะคอยเอาใจใส่ดูแล อำนวยความสะดวก แก่ทุกคนอย่างเต็มที่ ด้วยผมเองทราบดีว่า งานนี้มันท้าทายความสามรถ และว่า เมื่อสิ้นปี 2550 เราจะลองประเมินผลงานของพวกเรา เราจะฉลองชัยแห่งความสำเร็จ ในการทำงาน K.M. ด้วยความเหนื่อยยาก ร่วมกัน ผมขอสัญญา และจะเริ่มต้นประชุม ตามลำดับ ดังนี้........
ข้อที่ 1 กำหนดเป้าหมาย และข้อตกลงร่วมกัน เช่น อาจร่วมกันหาคำตอบทำนองว่า
- คำว่า “ได้ผลดี” น่าจะหมายถึง คนในโรงเรียนทุกคน ทุกระดับ มีความรู้ความเข้าใจว่า การจัดการความรู้ คืออะไร
-การจัดการความรู้ ทำแล้ว ได้ประโยชน์แก่ตนเองด้วย มิใช่ผลงานพิเศษของคนใดคนหนึ่ง แต่คนในโรงเรียน มีความสุข จากการร่วมกันทำงาน
-คนทุกคนอยากทำ อยากมีส่วนร่วมบนฐานความเต็มใจ มิใช่ถูกบังคับ กะเกณฑ์ หรือคำสั่งการใด ๆ เป็นต้น
ข้อที่ 2 ทบทวนอดีต ปัจจุบัน ( หาข้อมูลเก่า บวก ใหม่)
ลองทบทวน การดำเนินการการจัดการความรู้ ปีที่แล้ว ทำอย่างไร ผลเป็นอย่างไรบ้าง
(ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ) มีความคิดเห็น และข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง ลองสรุปให้เห็นเป็นบทเรียน (Lessons Learned) สักหน่อย ถ้าจะเดินต่อ ในปี 2550 โรงเรียนของเรา ควรทำอย่างไร อาทิ ดู
·ทีมงาน KCO. Facilitator ฯลฯ
·ขอบเขตงาน KM ที่ต้องการทำ (KM Focus Area) ก็หนีไม่พ้น ต้องพิจารณาจากพันธกิจ วิสัยทัศน์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ขององค์การใหญ่ บวกกับความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับองค์กร และสภาพปัญหา ความต้องการต่างๆ
ที่พบในโรงเรียน ประเด็นสภาพ ปัญหาความต้องการของคน อันหลัง ผมถือว่าสำคัญกว่าทั้งหมด จะทำ KM ทั้งที ถ้าไม่โฟกัสที่เรื่องนี้ ซึ่งเป็นบริบทสำคัญ ของการขับเคลื่อนนโยบายหน่วยงาน ทำไป ก็ป่วยการ เพราะเท่ากับไปเอาอำนาจ กฏเกณฑ์ เงื่อนไขจากภายนอก มากำหนดวิถีชีวิตการทำงานของคนในโรงเรียนเสียทั้งหมด ครูน้อยของผม ก็จะไม่มีความสุข หรือเครียด เหมือนเดิม
·เป้าหมายที่อยากให้เป็น หรืออยากเห็นในการทำงานจัดการความรู้ คืออะไร
จากที่กล่าวข้างต้น อาจตั้งเป็นคำถาม แล้วช่วยกันตอบ คือ
-อะไรที่เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ของหน่วยงานเรา และเอาเรื่องจัดการความรู้มาช่วยได้
-อะไรที่ เป็นเรื่องปัญหา ความต้องการที่ครูในโรงเรียน ยังค้างคาใจ และเอาเรื่องการจัดการความรู้ มาช่วยจัดการได้ (อันนี้แหละที่สำคัญทีสุด ก่อนไปขับเคลื่อนอย่างอื่น) และ
-สิ่งนี้ ก็คือ สิ่งที่คนในโรงเรียน ทำร่วมกันได้ ลองผิดลองถูกบ้าง แล้วเกิดความรู้สึกว่า...
·คนทุกคนในโรงเรียนมีความสุข อาจขนาดบรรลุ ดัชนีวัดความสุขที่คณะครูต้องการร่วมกันได้
·โรงเรียนแห่งนี้ โด่งดัง และผู้เกี่ยวข้องยอมรับฝีมือ
·โรงเรียนแห่งนี้ สามารถจัดบริการแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้อย่างสมใจ
ข้อ 3 วางแผน เดินสู่อนาคตร่วมกัน ( แบบทีม หรือปัจเจก ก็ยังได้ แต่เห็นว่าควรมีทั้ง 2 แบบ จะได้พัฒนาได้พร้อมๆกัน)

ถ้าทุกคนเห็นเป้าหมาย จากข้อ (2) เรามาช่วยกันทำแผนปฏิบัติการการจัดการความรู้ สำหรับปี 50 กันดีไหม ก็เอาศักยภาพทำที่ประเมินได้ อาจต้องต้องมีคำถามท้าทายกันหน่อย
* หากจะทำให้บรรลุเป้าหมายตามงานของยุทธศาสตร์ กรมด้านการศึกษา ของเขตบริหารการศึกษา และบรรลุปัญหาความต้องการของเหล่าครูในโรงเรียนเรา ความรู้/ข่าวสารที่ต้องการ คืออะไร หรือควรทำอะไรบ้าง
·คงต้องแยกให้เห็นเป็นเรื่องๆ แสดงให้เห็นองค์ประกอบของการปฏิบัติการจัดการความรู้ ที่พวกเราต้องการให้เห็นเป็นด้านๆ หรือเรื่องๆ ไป
·อาจต้องแสดงให้เพื่อนครูน้อย ได้เห็นว่า ในการจัดการความรู้ เพื่อให้มุ่งสู่จุดหมายที่ต้องการ(Desired State) มักจะมีตัวชี้วัดใน 6 เรื่อง/ด้าน ดังต่อไปนี้ ( ซึ่งครูน้อย เอาไปแตกเป็นกิจกรรมต่างๆ แล้วผลักดันร่วมกัน ให้บรรลุเป้าหมายแต่ละด้าน )
(1) การเรียนรู้
(2) การวัด/ประเมินผล
(3) การสร้างความยอมรับ และสร้างแรงจูงใจ
(4) กระบวนการทำงาน และเครื่องมือ
(5) การสื่อสาร
(6) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน
พูดอีกนัยหนึ่งคือ เราจะเอามาเป็นกรอบในการพิจารณาเพื่อการวางแผนปฏิบัติการ ทำได้อย่างไร อย่าลืม “เรา” ในที่นี้ เป็นทั้งตัวเป้าหมาย (End) และตัวขับเคลื่อนมรรควิธี (Means) ในกระบวนการพัฒนา ด้วย

ข้อ 4 ไหนๆ ก็มาเป็นประธานพิธีเปิดสัมมนาแล้ว บอก แสดงวิสัยทัศน์ อารมณ์ ความรู้สึกในฐานะครูใหญ่ที่ดี สักหน่อย จะเป็นไรไป

เพื่อให้เพื่อนครู ได้รู้ เข้าใจครูใหญ่เสียหน่อย ก็ไม่เสียหาย ตามประสาครูใหญ่ หรือนักบริหารโรงเรียนที่ดี เพราะ คำพูด วลีสั้นๆ เหล่านี้ อาจเตือนสติ และทำให้ครูน้อย รัก นับถือ เข้าใจครูใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น งาน KM. ก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย สอดคล้อง วิถีชีวิตจริงๆและสนุก คำ หรือวลี ต่อไปนี้ คือสิ่งที่ผมซึ่งเป็นครูใหญ่ จะบอกให้ทุกคน

“จะจริงใจ ไม่สำทับ ไม่ขู่ ไม่ใช้อารมณ์ แต่ใช้เหตุผลในการทำงานมากขึ้น ไม่อวดรู้ ให้เกียรติ เคารพสิทธิส่วนตัวครูน้อย รักษาเวลา ทำเรื่องอยากให้ง่าย ลดขั้นตอนงานที่ไม่จำเป็น ติดดิน มีมาตรฐาน การคิดการทำงาน และสร้างบรรยากาศการทำงาน ฯลฯ”

อ้อ.....ในฐานะครูใหญ่ของโรงเรียน นอกจากแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ ความตั้งใจ (Commitment) ของผมต่องานนี้ ผมควรถือโอกาสสำคัญให้กำลังใจครูน้อย เพื่อนร่วมงาน ป้าแก้ว ลุงคำ นายรอดบุญ ซึ่งเป็นนักการภารโรง และคนขับรถโรงเรียน ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงานหนนี้ด้วยว่า ผมตระหนัก สำนึกในความตั้งใจของทุกคน ที่ได้ร่วมกันทำงานหนัก อาจยกตัวอย่างความพยามยามในการทำงาน KM. ที่ผ่านมา วิเคราะห์ให้เห็นชัดๆ ก่อนจบ ชมเชยความพยายามของครูน้อย กับผลงานที่ผ่านมาด้วยท่าทีจริงใจ แสดงความคาดหวัง พูดเชื้อเชิญ ให้ทุกคน เห็นพ้อง ด้วยความรู้สึกที่ดี ( คิดว่า ผมไม่ควรนั่งบรรยายคนเดียวดีกว่า เขาเห็นหน้าผมบ่อย อาจเบื่อหน้าผม เพราะถ้าพูดไม่ดีอีก จะหมด อารมณ์ตั้งแต่ยกแรก - ตกลง ผมควรให้ครูเก่งคนหนึ่ง หรือคนอื่นๆ ช่วยพูด ผมควรดูห่างๆ หรือบางครั้งหาจังหวะช่วยเติมเต็ม เสริมแรงเพื่อนครูดีกว่า

เสียงปรบมือก้อง....บ้างพยักหน้า....ยิ้มแย้ม.....กาแฟและขนมเบรกอุ่น หอมกรุ่น โชยมาแล้ว.........








เขียนโดย ครูใหญ่โรงเรียนวัดดอนกระโทก เพื่อสนับสนุนการสัมมนาเรื่องการจัดการความรู้ ระหว่างวันที่ 7 - 8 ธันวาคม 2549 บันทึกเมื่อเช้าวันที่ 3 ธันวาคม 2549
ที่มาของข้อมูล : ข้อเขียนสังเคราะห์ความรู้ จากหนังสือต่อไปนี้
1. Knowledge Management หลายสำนักคิด
2. The Seven Habits of Highly Effective People
3. The Study Circle Method -จากหลายสำนักคิด
4. Lessons Learned: A Value Added Product of the Project Life Cycle โดย R Gilman
5. Strategic Planning Through Inquiry Approach หลายสำนักคิด

(โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความนี้ )

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

แบกเป้เที่ยวไปในต่างแดน; ท่องโลกกว้างกับเมีย สไตล์พัฒนาชุมชน (ตอนที่1)

บทนำ เดิมผู้เขียนตั้งใจเขียน เล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนในสำนักงานอ่านกันเล่นๆไม่จริงจังอะไร หลังจากกลับจากการเดินทางแล้ว ประกอบกับเพื่อนฝูงหลายคนสนใจ (ที่มีชีวิตรอดกลับมา) สอบถามวิธีการเดินทาง จึงลองเขียนไว้เพื่อนำเสนอ จนเวลาผ่านไป ขณะนี้กระแสการเดินทางไปท่องเที่ยว หรือศึกษางานต่างประเทศมีมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่เจ้านาย ซึ่งมีโอกาสดีกว่า กลับมาก็เขียนไว้มาก นั่นก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง แต่นี่เป็นการเดินทางอีกรูปแบบหนึ่ง อาจเหมาะ สำหรับคนจนๆ หรือชอบลุยหน่อย จึงเขียนเล่าใหม่ เผื่อคนที่สนใจ ใครถามเรื่องนี้ หรืออยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์อีก ก็จะได้อ้างถึงได้...
มีคำกล่าวที่ว่าการเดินทางท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง เปรียบเสมือนได้อ่านหนังสือสิบเล่มใหญ่ สำหรับในชีวิตจริงของเพื่อนนักพัฒนาอย่างเราๆ วันคืนที่ผ่านไป ดูเหมือนกำลังจมปลักอยู่กับคำว่า“งานๆ ๆ ”จนแทบไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่น โดยเฉพาะการเดินทางพักผ่อนและท่องไปในโลกกว้าง หมู่นี้ข่าวการท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านกำลังฮิตฮ็อต วันหนึ่งจึงตัดสินใจกับเมียวางแผน ไปเที่ยวเวียตนามและลาวกัน เร่มต้นลงทุนซื้อหนังสือเฉพาะเรื่องมาอ่าน ศึกษาจากอินเตอร์เน็ต คุยกับผู้รู้ อุ่นเครื่องอยู่พักใหญ่ พอได้ข้อมูล พร้อมเก็บเงิน เตรียมสุขภาพ ก็เริ่มเดินทางกัน
แน่นอน นี่เป็นการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ เพราะคิดว่าเป็นการเดินทางกับบุคคลสำคัญมาก และเป็นการเดินทางแบบท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยมีใครในบ้านเรานิยมกันนัก คือการเดินทางแบบแบกเป้เที่ยว 2 คนในต่างประเทศ(กับเมียหรือภรรยา) ครังแรก แม้เราเองจะเคยเดินทางแบบนี้มาแล้วคนเดียวในหลายประเทศ
1.เริ่มต้นการเดินทาง
เราสองคนเลือกเดินทางแบบซำเหมาพเนจร มุ่งให้เป็นการเดินทางแบบประหยัด จึงเลือกใช้ทางบก และเน้นการช่วยเหลือตัวเอง เริ่มภาคประเทศไทยจากจังหวัดเชียงใหม่โดยขึ้นรถทัวร์ปรับอากาศแบบสบายอารมณ์ในค่ำวันหนึ่ง ลูกชายลูกสาวทำหน้าที่มาส่งที่ท่ารถขนส่ง พวกเรามีเป้ ติดตัวกันเบ็ดเสร็จตามสูตร3 ใบ ด้วยต้องประเมินให้พอดีกับการแบกน้ำหนัก ใบใหญ่แข็งแรงใส่เสื้อผ้าของใช้ร่วมกัน ใบนี้สำหรับอยู่บนหลัง เวลาเดินเหินช่วงสั้น และเพื่อสามารถเก็บไว้ในห้องเก็บของของพาหนะ ติดป้ายชื่อภาษาไทยอังกฤษหนาแน่นเรียบร้อย ใบเล็กกว่าอีกคนละใบ สำหรับติดหลังตัวใครตัวมันให้อยู่ติดตัว ใส่กล้องถ่ายรูป พาสปอร์ตเอกสารสำคัญ อาหารขบเคี้ยว/ยา กระติกน้ำชาอันโปรด ไว้ซดยามกระหาย สมุดบันทึก คู่มือเดินทาง แผนที่ ของใช้อื่นๆ ที่จำเป็น

ที่ท่ารถขนส่ง ถ่ายรูปกันนิดหน่อย ด้วยรู้สึกว่ามันเป็นบรรยากาศที่แปลกกว่าที่เคยเป็น เราต่างแต่งกายกันดูทะมัดทะแมง ใส่เสื้อยืดรองเท้าสายรัดส้น หมวก อุปกรณ์พร้อม ถูกทำให้คล่องตัว ราวกับไปสนามรบ

รถโดยสารพาเราเดินทางสู่ขอนแก่น ถึงขอนแก่นเช้าตรู่ ทานอาหารเช้า กาแฟไข่กระทะที่ขึ้นชื่อของที่นั่น เดินเที่ยวเล่นกันพอได้เหงื่อ ซื้อตั๋วรถยนต์เดินทางต่อไปมุกดาหาร วันนั้น รถยนต์ปรับอากาศ มีผู้โดยสารมาก มีคนยืนกันเต็มรถ ในรถมีเด็กหนุ่มแนะนำตัวเอง ว่าเป็นอาจารย์มหาลัยแห่งหนึ่งแถวอีสาน ยืนอยู่ข้าง เราซึ่งนั่งอยู่ ได้คุยกันไปตลอดทาง ถามที่มาที่ไปก็ทราบว่า ตอนแรกเพราะเข้าใจว่าเราสองคน เป็นนักท่องเที่ยวจากจีนหรือญี่ปุ่น ด้วยหน้าตาจะออกไปทางนั้น ครั้นเห็นโลโก้ระบุชื่อสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งที่เสื้อเรา ก็สนใจ คุยด้วยกันพอประมาณ – ดีเหมือนกันวิว สองข้างทางระหว่างขอนแก่น-มุกดาหาร ก็คุ้นเคยอยู่แล้ว มีเพื่อนร่วมเดินทางดีๆ มาคุยด้วยสักจะเป็นไรไป

ถึงท่ารถบขส.มุกดาหารประมาณบ่ายๆ พวกเราพักเที่ยวที่มุกดาหาร 1 คืน ติดต่อเช่าห้องอะพาร์ตเม้นท์ราคาพอสวย เที่ยวชมเมือง ทานอาหารรสแปลกของมุกดาหารที่ร้านริมฝั่งโขง จิบกาแฟลาว เดินเที่ยวตลาดอินโดจีนกัน และที่สำคัญตรวจความพร้อม และข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศลาวที่เริ่มในวันถัดไป เพื่อความแน่ใจ

ที่มุกดาหาร บังเอิญเรามีหลานคนหนึ่งทำงานเป็นผู้พิพากษาที่นั่น ครั้นทราบว่าพวกเรามามุกดาหาร จึงชวนคุณพ่อจากกรุงเทพ มาสมทบด้วยอีกคน เมื่อมีโอกาสพบกันที่มุดหารอีกครั้งก็ดีใจจึงวางแผนข้ามโขงเที่ยวฝั่งลาวที่สะหวัดนะเขตด้วยกันในวันรุ่งขึ้น

วิเศษมากทีเดียว เพราะตามโปรแกรมที่พวกเรากำหนดไว้จะพักที่แคว้นสะหวันนะเขต 1 คืน การที่ญาติจะข้ามโขงไปเที่ยวลาวอีกฝั่งด้วยกันสัก 1 วัน ก็เป็นไอเดียที่ดี พวกเราไม่รอช้าวางแผน กำหนดเวลาเที่ยวกัน

เที่ยวมุกดาหาร ภาคกลางวัน กลางคืน ดูพี่น้องลาวข้ามโขงมาเที่ยวฝั่งไทย ซึ่งวันนั้นมีงานบุญประจำปีออกพรรษา จนได้ที่แล้ว วันรุ่งขึ้นตอนเช้า พวกเรารวม 4 คน ออกจากที่พัก เตรียมข้ามโขงไปยังสะหวันเขต (ช่วงนั้นสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ยังไม่เปิดใช้)โดยมีผู้จัดการทัวร์คนหนึ่ง ซึ่งบังเอิญได้รู้จักติดต่อกันทางโทรศัพท์จนสนิทสนมกับเรา ให้เกียรติปลีกเวลาเป็นพิเศษ ช่วยเป็นไกด์อำนวยความสะดวก ในการไปเที่ยวสะหวันนะเขตครั้งนี้ รวมทั้งจัดการหนังสือเดินทางให้พวกเราโดยเรียบร้อย การข้ามชายแดนไปยังลาวสำหรับคนไทย หากไปเช้าเย็นกลับ ไม่ค้างคืนที่นั่น ก็ไม่จำเป็นต้องถือพาสปอร์ต เพียงแค่มีหนังสืออนุญาตข้ามแดนเท่านั้น ยกเว้นพวกเรา 2 คนเท่านั้น มีต้องถือปฏิบัติตามระเบียบการเดินทางเข้าประเทศของลาว เพราะต้องพักค้างและเดินทางผ่านประเทศเขา
ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเช้าวันนั้น เราเจอะเจอแต่ฝรั่งเพื่อนร่วมเดินทาง คนลาว เวียตนามที่อาจเป็นนักธุรกิจหรือข้าราชการ มีคนนักท่องเที่ยวไทยอยู่จำนวนหนึ่งไม่มากนัก ที่ดูเหมือน เดินทางกับบริษัททัวร์ สอบถามได้ความว่าจะไปเวียตนามเช่นกัน แต่ก็มิได้ถามวิธีการเดินทางพวกเขา ด้วยคนพลุกพล่าน ทุกคนต่างต้องทำธุระของตนเองเป็นหลักเรื่องตรวจคนเข้าเมือง มิฉะนั้นจะไม่ทันลงเรือข้ามฟากแต่ละเที่ยว -ที่น่าสนใจ มีชายไทยรายหนึ่ง ได้คุยกับเราช่วงสั้น ทราบว่าเป็นคนนครศรีฯ แต่ดันไปทำงานเป็นนักข่าว อยู่นิวยอร์ค เดินทางเดี่ยว จะไปเดียนเบียนฟู เพื่อศึกษาเรื่องราวของชนเผ่าไทยดำที่นั้น มีกระเป๋าใบเล็ก 1 ใบใส่ล้อลาก แต่งกางเกงขาสั้น ใส่เสื้อยืดสีขาวสีมัวๆมีข้อความด้านหน้าของเสื้อว่า นักโทษบางขวางแดน 7 ทำนองนี้ ยิ้ม ทักทาย บอกที่มาที่ไปกันพอประมาณ ดูท่าทางแปลกๆ แล้ว ก็แยกทางกันไป พวกเรา 4 พร้อมผู้จัดการทัวร์ ลงเรือข้ามฟากขนาดเล็ก เสียงในเรือดังอึงมี่ทั้งเสียงเครื่องยนต์และคนคุยตะโกนกัน ข้าวของสัมภาระกองระเกะระกะเต็มไปหมด - แม่น้ำโขงน้ำสีขุ่นแดง ดูกว้างไกล มองไปอีกด้าน ไกลอยู่ข้างหน้า คือสะพานมิตรภาพไทยลาวที่ยัง สร้างค้างเติ่งอยู่ พักใหญ่ๆ ก็เห็นตลิ่งอีกฝั่งโขง นั่นคือท่าเทียบเรือของเรา และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองลาว เห็นป้ายภาษาลาวแล้วแต่ไกล อ้อ...นั่น คงเป็นร้านอาหารเขยลาวกระมัง เห็นคนและรถพลุกพล่านอีกแผ่นดินของอีกประเทศหนึ่ง ตื่นเต้นจังและอากาศกลางแม่น้ำโขงก็ช่างสดชื่นดี ผิดกับอากาศบนถนนในเมืองไทย
ก็เป็นธรรมดาล่ะครับ มีกล้องก็ต้องรีบถ่ายรูปสวยๆไว้ แต่เอ๊สาวลาวอีกคน ที่นั่งตรงข้ามพวกเรา เธฮแต่งกายแบบลาว ก็ดูสวยน่ารักดี....

การแบกเป้เที่ยวในต่างแดน โดยเฉพาะในต่างประเทศ ว่าไปก็ทำให้พวกเรา ต้องตื่นตัว เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา แตกต่างจากเดินทางไปกับบริษัททัวร์ หรือไปเป็นคณะใหญ่ อาจดูเป็นทางการ ซึ่งมีไกด์เป็นหลักบริการ สำหรับพวกเรา เมื่อเลือกเดินทางโดยวิธีนี้ การเดินดุ่มๆไป สังเกตสอบถามไป อ่านศึกษาเอกสารต่างๆ ทั้งภาษาอังกฤษ/ไทย ดูจะเป็นการเตรียมพร้อม ที่จำเป็น กำลังใจและสุขภาพที่แข็งแรง ดูจะเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ด้านสวัสดิภาพ ความปลอดภัย ก็เป็นเรื่องที่ถูกสอบถาม และกลัวกันมาก ด้วยกลัวว่าจะไปมีเหตุ เดือดร้อนระหว่างเดินทาง พวกเรามั่นใจว่า สำหรับที่ลาวโจรผู้ร้ายคงน้อยกว่าที่ประเทศไทย อย่างไรก็ตามก็ต้องไม่ประมาท ในครั้งนี้ สำหรับชีวิตความปลอดภัยของพวกเรา 2 คน หากมีเหตุฉุกเฉินใดๆ พวกเราก็พร้อมที่จะบินกลับโดยสายการบินชั้นดีกลับไทย ได้ทันที หรือหากต้องตายในต่างแดน ก็พอมีเพื่อนพ้องที่ทำงานในองค์การระหว่างประเทศไปจัดการศพได้ เมื่อตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้ ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป - ถึงฝั่งแคว้นสะหวันเขตแล้ว พวกเราคงต้องไปเจรจาหารถสะกายแล็ป ราคาเหมาะๆสักคัน เพื่อพาพวกเราเที่ยว....
(ตอนหน้า - ร้านขายทองแบกะกิน ผู้หญิงเวียตนามที่สะหวัดเขต)