วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2550

มายาคติการจัดการความรู้ที่ ศพช.เขต 5

คำนำ : บทความนี้เขียนก่อนมีโครงการสัมมนาเรื่องการจัดการความรู้ศพช.เขตเรา เพียง 1 อาทิตย์ เพียงแค่ตั้งใจเตือนสติพี่น้องพช. เรา มิได้มีอคติ เจตนาร้ายต่อใคร รวมถึงเจ้านายทุกคนอันเป็นที่รัก อยากสะท้อนว่า เรื่องเคเอ็ม. เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากจะทำเรื่องฮ็อตฮิตอย่างนี้ให้เป็นจริง และสำเร็จจริง มันมีประเด็นการบริหารจัดการ ที่ต้องพิจารณาร่วมกันอีกมาก...

เมื่อพูดถึงเรื่องการจัดความรู้ หรือ เคเอ็ม ของ ศพช.เขต 5 ทีไร ผมต้องสะดุ้งทุกครั้งไป เหตุที่มีอาการเช่นนี้ มิได้หมายความว่า ผมมีความรังเกียจใดๆ ต่อกระบวนการจัดการความรู้ หามิได้

แต่ที่รู้สึกเช่นนี้ เกิดจากการได้เห็นความตั้งอกตั้งใจ ของเพื่อนนักวิชาการด้านการพัฒนาชุมชน ที่อุตสาห์พยายาม ทำเรื่องเหล่านี้มาอย่างตั้งอกตั้งใจมาแรมปี นับตั้งแต่ เริ่มตั้งไข่เรื่องการจัดการความรู้คราวไปศึกษาดูงาน ฟังบรรยายจากผู้รู้นอกหน่วยงานมามากมาย แต่ฟังมาว่าสุดท้าย ฝ่ายผู้บริหารกลับมองว่า มีผลงานไม่เข้าเป้าเสียนี่ อีกกลุ่มที่ต้องบอกว่าน่าเห็นใจ ก็คือคนระดับล่างที่ตั้งใจเต็มร้อย ต้องอยู่กับความเป็นจริง และต้องเป็นเจ้าภาพหลัก ในการจัดประชุม หารือ หรือขับเคลื่อนเรื่องนี้ ต้องเหน็ดเหนื่อยกับภารกิจเตรียมการ วางแผนกิจกรรม โครงการที่ต้องผูกไว้กับระบบงบประมาณ การตัดสินใจของระบบองค์การ กว่าจะผ่านความเห็นชอบ แต่ละขั้นตอน ขนาดยังไม่ได้ถึงขั้นดำเนินการ ก็เหนื่อยจนหืดขึ้นคอ เพื่อนนักวิชาการหลายคนมองว่า การจัดการความรู้ เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ที่ต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องที่ต้องให้ซึมลึกเข้าไปในสายเลือด แล้วในที่สุดกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในองค์การเล็กๆของเรา การจัดการความรู้ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ สักแต่ว่าผู้มีอำนาจสั่งให้ทำ แต่ต้องอาศัยความเต็มอกเต็มใจ ต้องอาศัยแรงกระตุ้นจูงใจ ใช้เหตุและผลในการคิด คนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องพร้อมที่จะหนุนเสริม มิฉะนั้น จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากสิ่งที่เรียกว่าการจัดการความรู้ – นี่ เป็นข้อทุกข์ใจที่ต้องฝืนใจทำหรือต้องฝืนใจฟังครับ

ประการที่ต่อมา ผมเสียดายเวลา บทเรียนการทำงานที่ผ่านมา ที่เพื่อนหลายคนมองออกว่า เราได้สิ่งที่เห็นเป็นบทเรียนการทำงานพัฒนาอยู่มากพอแล้ว แต่เรากลับไม่ได้นำมาใช้ หรือคิดแก้ไขปัญหาเพื่อทำงานต่อไปให้ราบรื่นดังที่เราต้องการ แต่เรากลับเขวไปตามข้อสั่งการ หรือความคิดของผู้บริหารเสียแทบทุกเรื่องทุกกรณี ที่ผมเห็นว่า แย่ที่สุด ก็คือ ไม่สามารถมองเห็น กระบวนการเคลื่อนไหวอันเนื่องจากการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ ที่ผ่านมาได้ ว่าที่แท้แล้ว การจัดการความรู้ของศพช. เขต 5 สองปีที่ผ่านมา สามารถวิเคราะห์ แลเห็นได้ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพด้วยซ้ำไป กรณีเวทีวันพุธ กิจกรรมการถอดบทเรียน การเขียน การแสดงออกในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ของนักวิชาการระดับล่าง ก็เป็นผลพวง ที่บอกได้ว่า คุณูปการจากการจัดการความรู้ของ ศพช.เขต 5 มิได้ อยู่บนความว่างเปล่า แต่ก็แปลกใจ ที่ดูเสมือนกิจกรรมความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในสายตา กลับถูกมองไปในทางตรงกันข้ามเสียหมด ทำให้นักวิชาการพัฒนาจำนวนมาก มักมีคำถามคาใจโยงถึงความเชื่อและศรัทธา ว่าถ้าเช่นนั้น ผู้บริหารระดับสูง หรือผู้อำนวยการศพช.เขต 5 ที่เป็น “ นายใหญ่ ” ของพวกเรา มีความรู้/ความเข้าใจในหลักการจัดการความรู้ ตรงกับนักวิชาการหรือนักปฏิบัติการพัฒนาชุมชนส่วนใหญ่หรือเปล่า สมมุติฐานนี้ใครตั้ง จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แล้วเราควรจะจัดการ หรือทำอะไรร่วมกันต่อไปล่ะ เพื่อให้การจัดการความรู้ของ ศพช.เขต 5 ทัดเทียมการจัดการความรู้ ของที่อื่นๆ
หรือว่าคิดว่า แค่การมีคำสั่งให้ทุกคนทำกิจกรรม 5 ส การให้นักวิชาการออกไปทำความสะอาด ดูแลบริเวณสถาน ที่รอบตึกเพียงพอแล้วสำหรับการจัดการความรู้ หรือพูดได้เพียงว่า ไม่เคยเห็นรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้

ประการสุดท้าย ผมไม่สบายใจ เพราะมีความเข้าใจ ในหลักการจัดการความรู้ เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ ว่า การจัดการความรู้ เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ดังที่ว่าแล้ว เป็นบรรยากาศการทำงานบนพื้นฐานความสุข ความตระหนัก เต็มใจ ไม่ใช่การออกกฎระเบียบ บังคับ อาจพูดแบบง่ายๆว่า ต้องเป็นเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยของคนในองค์การ เหมือนที่ทุกคนต้องการปฏิบัติต่อประชาชนนอกองค์การ คือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ด้านจิตใจมากกว่าด้านวัตถุ ดังนั้น หากคนส่วนใหญ่ขาดการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง หรือบังเอิญ จัดเป็นประเภทต้องคอยรับคำสั่งการ ความคิดริเริ่ม หรือความต้องการของคนส่วนใหญ่ รวมถึง วัฒนธรรมองค์การ ระบบ ระเบียบ ขั้นตอนราชการ ที่มีอยู่มากมาย ที่มิได้มีการพูดถึง ตีความเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน หรือจัดการความรู้ เลยนั้น จะทำให้การจัดการความรู้เป็นไปตามหลักการที่เป็นจริงหรือไม่
นอกจากนี้ ผมยังเกรงว่า หากเราทำเรื่องจัดการความรู้ แบบลวกๆ หรือขาดการส่งเสริมให้คนในองค์การมีส่วนร่วมด้วยจิตใจจริงๆ ในที่สุดวิญญูชนอื่นๆ ก็จะมองว่า การจัดการความรู้ของศพช. เขต 5 ที่แท้จริงแล้ว เป็นแค่การสร้างภาพ และแค่ราคาคุย ผมไม่อยากได้ยินได้เห็นเช่นนั้น จริงๆ ...ช่วยด้วย...

ไม่มีความคิดเห็น: