วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2550

Partnership broker;ผู้ชักนำการพัฒนา- ฤาจะเป็นบทบาทใหม่ของคนเขต 5?

คำนำ : วันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา อากาศร้อนมาก เราเองตัดสินใจไม่ออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านกัน มีเพื่อนรักจากกรุงเทพแวะมาเยี่ยมเยียน กับมอบหนังสือให้อีก 2 เล่มใหญ่ ก็พยายามแกะ เก็บความ เขียนมาเล่าต่อ อย่างย่นย่อเท่าที่ทำได้ คิดว่าสิ่งที่เสนอต่อไปนี้ อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจบ้าง...

คงเป็นอีกบทบาทหนึ่งของผู้ทำงานพัฒนาชุมชนยุคใหม่ บทบาทที่ว่านี้ เริ่มเป็นที่กล่าวถึงกันมากในระยะหลัง ในฐานะเป็นหลักการของการพัฒนายุคใหม่ นั่นคือ บทบาทการเป็นผู้ชักนำการพัฒนา (Partnership broker) ซึ่งจะเทียบกับการเป็น “นักเชื่อมประสาน” ก็คงไม่แตกต่างกันมากนักกระมัง การชักนำการพัฒนาเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะที่พวกเราอาจต้องหันกลับมาเรียนรู้กัน ซึ่งในระยะยาว ย่อมเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และอาจหมายถึงความอยู่รอดของหน่วยงาน

ผู้ชักนำการพัฒนา จึงเป็นคนกลาง หรือผู้ทำหน้าที่คอยเชื่อมประสานความต้องการ ระหว่างบุคคล กลุ่ม องค์กร ไม่ว่ารัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ หรือประชาคม เพื่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจ และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผู้ชักนำการพัฒนา จะต้องมีองค์ความรู้ ทั้งศาสตร์และศิลปะในการทำหน้าที่กับพันธมิตรต่างๆ (Partners)

กล่าวกันว่า ผู้ชักนำการพัฒนาที่ดี ควรเป็นผู้ที่สามารถทำบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบในเรื่องสำคัญ ประเภทต่างๆ ต่อไปนี้
1. เป็นผู้ทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการธุรกิจ ที่จะทำให้ธุรกิจนั้นๆประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย
2. เป็นเสมือนเลขานุการในการจัดทำ รวบรวม เก็บรักษาและให้ข้อมูลที่ดีในการติดต่อสื่อสารกัน
3. เป็นเสมือนครู ในการคอยกระตุ้นจิตสำนึก และเตรียมความพร้อมและความเข้มแข็ง
4. เป็นเสมือนพยาบาล - เพราะคอยประคับประคอง เยียวยารักษาความสัมพันธ็มิให้เกิดปัญหา
5. เป็นเสมือนผู้ปกครอง ที่คอยพัฒนาระดับความสัมพันธ์ให้เติบโตและแนบแน่น
6. เป็นเสมือนผู้คอยพิทักษ์ เพราะคอยตรวจสอบพันธมิตรว่ามีความสุจริต โปร่งใสต่อกันหรือไม่ เพียงใด

สำหรับผู้บริหาร หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Leader) ยุคใหม่ บทบาทนี้ เป็นบทบาทที่ท้าทาย เนื่องจากเปลี่ยนบทบาท ความเป็นผู้นำจากการพยายามเป็นนายใหญ่ หรือ ตัวชูโรงในกระบวนการบริหารจัดการทุกเรื่อง แต่เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้นำอยู่เบื้องหลังฉาก หรือเบื้องหลังความสำเร็จมากกว่า ทั้งนี้ โดยทำหน้าที่เป็นผู้คอยกระตุ้น (Catalyst) ในกระบวนการบริหารจัดการ

แน่นอนว่าผู้นำหรือผู้บริหารแบบนี้ ต้องไม่ธรรมดา แต่เป็นผู้ที่มีขีดความสามารถสูง แตกต่างจากการเป็นผู้นำแบบเดิมๆ เช่น ต้องมีขีดความสามารถในเรื่องต่อไปนี้
1. ความสามารถในการนำสร้าง ความชัดเจนในเรื่องปัญหาที่ซับซ้อนได้ดี ด้วยเหตุที่ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงในทุกด้านเร็วและมีความซับซ้อน ระบบข่าวสารข้อมูลเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากเช่นกัน
2. ทักษะการช่วยเหลือและเอื้ออำนวยการ ให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มองค์กรที่มีความแตกต่างหลากหลาย
3. ความพอใจและพร้อมทำงานท้าทาย
4. เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ให้คนอื่นอยากทำงานอย่างเห็นอนาคต
5. มีความตั้งใจสูงที่จะสนับสนุนให้ผู้อื่นประสบผลสำเร็จ เกิดความเข้มแข็งขึ้น

กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าภาวะผู้นำแบบไม่นิยมสั่งการ(Non-directive leadership) จัดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด ที่นำไปสู่การความเป็นพันธมิตร หรือการร่วมมือร่วมใจ และมีผู้ชักนำด้านการพัฒนาเกี่ยวข้องอยู่

แต่ สำหรับในระดับบุคคล เข้าใจว่ามีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนของเราจำนวนไม่น้อย พยายามหรือได้ทำบทบาทในฐานะผู้ชักนำที่ดีมาบ้างแล้ว ไม่มากก็น้อย ในพื้นที่จังหวัดอำเภอตัวเอง เพียงแต่อาจโชคไม่ดี ตรงที่เรายังขาดเวทีดีๆสำหรับคนเหล่านี้เท่านั้น แต่แม้กระนั้น เรื่องนี้ คงเป็นเครื่องยืนยัน ว่าขณะนี้ การทำงานพัฒนาชุมชนให้บังเกิดผลดี เราไม่สามารถทำงานได้ตามลำพัง โดดๆ หรือเป็นพระเอกคนเดียว ตั้งรับ และแบบเดิมๆได้อีกต่อไปแล้ว

ตัวอย่างที่ดีที่พอยกตัวอย่างได้ เช่น กรณี พัฒนาชุมชนอำเภอสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเก็บและใช้ประโยชน์ข้อมูล จปฐ. แต่กรณีนี้ หากพัฒนาชุมชน จะทำบทบาท เป็นผู้ชักนำการพัฒนาระหว่างองค์กรท้องถิ่นกับองค์กรประชาชนในหมู่บ้านให้ได้ผลดี แบบมืออาชีพ ก็น่าที่จะทำเรื่องนี้ให้ดูเนียนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ต้องทำงานในฐานะผู้ชักนำที่ดี และทำงานอย่างมีระบบมากขึ้น รวมถึงให้คนได้คิด ตัดสินใจได้มากขึ้น
สำหรับ ในระดับศพช.เขต เมื่อเร็วๆนี้ เรามีงาน ที่เป็นเรื่องการสร้างพันธมิตรพัฒนา โดย ศพช. เขตทำหน้าที่เป็นผู้ชักนำการพัฒนา และพอจะยกเป็นตัวอย่างได้ ณ ที่นี้ คือโครงการการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ชุมชน หรือ “KBO” (Knowledge-based OTOP)ที่ได้ทำนำร่องเขตละ 1 จังหวัด โครงการดังกล่าวนี้ได้ดำเนินไปเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนได้อ่านเอกสารรายงานผลการดำเนินงานฯ แล้ว แต่ก็รู้สึกเสียดายเล็กน้อย ที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการได้ต่อเนื่อง มิฉะนั้น คงมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบตรงไปตรงมากันบ้าง (แต่ก็เฝ้าสังเกต ติดตามอยู่ห่างๆ) โครงการนี้ดูจะเจาะจงให้พัฒนาชุมชน ได้ฝึกหัดการทำงานอย่างพันธมิตรกับภาคส่วนอื่น หลายแหล่ง เช่น สถาบันการศึกษา กับภาคธุรกิจ ภาคประชาคม และที่สำคัญกำลังฝึกหัด ให้คนศพช. เขตเราทำบทบาทเป็นผู้ชักนำการพัฒนา อย่างมืออาชีพ มากขึ้น - ซึ่งได้แต่หวังว่า บทเรียนที่ได้รับคงได้มีการเอาไปปรับใช้ประโยชน์ อย่างจริงจังมากขึ้น

ในที่นี้ เพียงจะขอนำเสนอแนวทางที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป เพื่อหน่วยงานพัฒนาชุมชน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำหน้าที่ผู้ชักนำที่ดี
ดังนี้ ;
(1) การสนับสนุนให้มีการจัดทำ MoU ระหว่างหน่วยงาน- เอกสารเช่นนี้ มีจุดประสงค์ เพื่อมุ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจเบื้องต้น ว่าสองหรือหลายหน่วยงาน ปรารถนาที่จะร่วมมือกันทำงาน
(2) การสนับสนุนให้มีข้อตกลงความร่วมมือ (Partnering Agreement) - เอกสารที่จัดทำร่วมกันและมีการระบุบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ และกระบวนการตัดสินใจของหน่วยงานที่ตกลงร่วมมือกัน

(3) วาระการประชุม ที่ได้ตกลงหรือจัดทำไว้ หรือ Minute of Meetings – เป็นเอกสารระบุสิ่งที่ได้ตัดสินใจหรือทำร่วมกันระดับหนึ่งแล้ว โดยระบุประเด็นกิจกรรมสำคัญเพื่อให้ผู้เข้าประชุม หรือขาดประชุมได้ทราบถือปฏิบัติ อ้างอิง หรือประสานกับบุคคล องค์กรอื่น เช่น กรณี องค์กร CIU. แห่งสวีเดน มีข้อตกลงในลักษณะนี้ ในเรื่องของการทำกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาอาชีพแก่ อดีตเยาวชนไทยในโครงการแลกเปลี่ยนในชุมชน กับกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อ ที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันทำงานต่อไป กับท้องถิ่น และหน่วยงานพันธมิตรอื่น
(4) เอกสารสรุปย่อโครงการ (Project description) – เอกสารรายละเอียดโครงการ กิจกรรมระบุวัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีการดำเนินงาน และระยะเวลา เพื่อให้เกิดพันธสัญญา หรือบอกแหล่งทรัพยากรที่จำเป็นที่จะต้องจัดหาร่วมกันต่อไปจากพันธมิตรอื่น
(5) เอกสารบันทึกฐานข้อมูล/แหล่งทรัพยากร (Resource Records) – เอกสารบ่งบอก แหล่งที่ตั้ง ขนาด ปริมาณของทรัพยากร ที่จำเป็นที่ต้องใช้ในอนาคต รวมถึงระบุการใช้ทรัพยากรที่จำเป็นร่วมกัน
(6) จดหมายข่าว (Newsletter) – เอกสาร ที่จะบอกความเคลื่อนไหวของกิจกรรม เพื่อ ให้ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่า พันธมิตร แหล่งสนับสนุนทุน ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอก ได้ทราบความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ จะได้เกิดแรงบันดาลใจ ความตั้งใจ ที่จะทำภารกิจร่วมกันอย่างจริงจัง
(7) กรณีศึกษากิจกรรมที่ทำ (Case Studies) – เป็นเอกสารที่บอกผลการดำเนินงานความเป็นมาเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง และบุคคลภายนอกสะดวกในการศึกษา ติดตาม ตลอดจนบุคคลหน่วยงานภายนอกจะได้รับประโยชน์
(8) การเปิดแถลงข่าวต่อประชาชน/หรือสื่อ (Information for the general public/Media) เป็นเอกสาร หรือถ้อยความที่พันธมิตรผู้ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน ตกลงและแถลงผลความก้าวหน้า หรือความสำเร็จร่วมกัน

จากที่กล่าวมาแล้ว คงได้พบว่า มีคนของเรา หรืออาจเป็นคนระดับรากหญ้าของเรา เป็นจำนวนมาก ได้ทำบทบาทของการเป็นผู้ชักนำการพัฒนา มาแล้วมากพอสมควร แต่การเป็นผู้ชักนำการพัฒนาที่ดี ซึ่งจะส่งประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง และอาจนำพาไปสู่ความอยู่รอดขององค์กรด้วยนั้น คงเป็นภารกิจที่ท้าทายการทำงานของพวกเราชาวเขต 5 ทุกคน ?

************




หมายเหตุ :
- คำว่า “ผู้ชักนำการพัฒนา” (Partnership Broker) เป็นศัพท์ที่ผู้แปลได้บัญญัติขึ้นเอง เท่าที่ทราบ ยังไม่มีใครบัญญัติ คำนี้ไว้
- บทความนี้แปล/ เขียน เรียบเรียงจากหนังสือของ UNDP. ชื่อ
1. The Brokering Guidebook, Navigating effective sustainable development partnership
2. Partnering for Development - Making It Happen

ไม่มีความคิดเห็น: