วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ที่นี่ ;จะจัดการความรู้อย่างไรให้ได้ผลดี

คำนำ นี่เป็นข้อเขียนแสดงความคิดเห็นที่ศึกษาเพิ่มเติม จากแหล่งความรู้ ผสมผสานปรากฏการณ์ความเป็นจริง ที่ได้พบเห็นที่บอกถึงความคาดหวัง ต่อการดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการความรู้แต่ละครั้ง ข้อเขียนนี้ คงเป็นสาระที่จะแลกเปลี่ยนกันได้บ้างตามสมควร จึงเอามาเล่าสู่กันฟังใหม่

ถ้าผมเป็นครูใหญ่ ต้องไปจัดการสัมมนาครูน้อยซึ่งอยู่โรงเรียนเดียวกับผม ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถเอาวิธีการจัดการความรู้ (KM) ไปปฎิบัติได้อย่างเป็นผล จนโรงเรียนเรา เป็นโรงเรียนน่าอยู่ สามารถสร้างนักเรียน ให้เป็นคน ดีฉลาด ซึ่งจะทำให้ผมมีความสุขด้วย ผมคงต้องพูดโน้มน้าว ให้ครูน้อย ที่ทำงานร่วมสุขทุกข์กับผมได้เห็นความสำคัญ ตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจ และมีแรงบันดาลใจ เอาความรู้ ไปใช้ให้ได้ ใน ปี 2550 โดยให้สัญญาว่า จะร่วมผลักดันทุกวิถีทาง ที่จะทำให้ทุกคน นักการภารโรงในโรงเรียนของเรา สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จ แบบทุกคนมีความสุข และในฐานะครูใหญ่ ผมจะคอยเอาใจใส่ดูแล อำนวยความสะดวก แก่ทุกคนอย่างเต็มที่ ด้วยผมเองทราบดีว่า งานนี้มันท้าทายความสามรถ และว่า เมื่อสิ้นปี 2550 เราจะลองประเมินผลงานของพวกเรา เราจะฉลองชัยแห่งความสำเร็จ ในการทำงาน K.M. ด้วยความเหนื่อยยาก ร่วมกัน ผมขอสัญญา และจะเริ่มต้นประชุม ตามลำดับ ดังนี้........
ข้อที่ 1 กำหนดเป้าหมาย และข้อตกลงร่วมกัน เช่น อาจร่วมกันหาคำตอบทำนองว่า
- คำว่า “ได้ผลดี” น่าจะหมายถึง คนในโรงเรียนทุกคน ทุกระดับ มีความรู้ความเข้าใจว่า การจัดการความรู้ คืออะไร
-การจัดการความรู้ ทำแล้ว ได้ประโยชน์แก่ตนเองด้วย มิใช่ผลงานพิเศษของคนใดคนหนึ่ง แต่คนในโรงเรียน มีความสุข จากการร่วมกันทำงาน
-คนทุกคนอยากทำ อยากมีส่วนร่วมบนฐานความเต็มใจ มิใช่ถูกบังคับ กะเกณฑ์ หรือคำสั่งการใด ๆ เป็นต้น
ข้อที่ 2 ทบทวนอดีต ปัจจุบัน ( หาข้อมูลเก่า บวก ใหม่)
ลองทบทวน การดำเนินการการจัดการความรู้ ปีที่แล้ว ทำอย่างไร ผลเป็นอย่างไรบ้าง
(ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ) มีความคิดเห็น และข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง ลองสรุปให้เห็นเป็นบทเรียน (Lessons Learned) สักหน่อย ถ้าจะเดินต่อ ในปี 2550 โรงเรียนของเรา ควรทำอย่างไร อาทิ ดู
·ทีมงาน KCO. Facilitator ฯลฯ
·ขอบเขตงาน KM ที่ต้องการทำ (KM Focus Area) ก็หนีไม่พ้น ต้องพิจารณาจากพันธกิจ วิสัยทัศน์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ขององค์การใหญ่ บวกกับความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับองค์กร และสภาพปัญหา ความต้องการต่างๆ
ที่พบในโรงเรียน ประเด็นสภาพ ปัญหาความต้องการของคน อันหลัง ผมถือว่าสำคัญกว่าทั้งหมด จะทำ KM ทั้งที ถ้าไม่โฟกัสที่เรื่องนี้ ซึ่งเป็นบริบทสำคัญ ของการขับเคลื่อนนโยบายหน่วยงาน ทำไป ก็ป่วยการ เพราะเท่ากับไปเอาอำนาจ กฏเกณฑ์ เงื่อนไขจากภายนอก มากำหนดวิถีชีวิตการทำงานของคนในโรงเรียนเสียทั้งหมด ครูน้อยของผม ก็จะไม่มีความสุข หรือเครียด เหมือนเดิม
·เป้าหมายที่อยากให้เป็น หรืออยากเห็นในการทำงานจัดการความรู้ คืออะไร
จากที่กล่าวข้างต้น อาจตั้งเป็นคำถาม แล้วช่วยกันตอบ คือ
-อะไรที่เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ของหน่วยงานเรา และเอาเรื่องจัดการความรู้มาช่วยได้
-อะไรที่ เป็นเรื่องปัญหา ความต้องการที่ครูในโรงเรียน ยังค้างคาใจ และเอาเรื่องการจัดการความรู้ มาช่วยจัดการได้ (อันนี้แหละที่สำคัญทีสุด ก่อนไปขับเคลื่อนอย่างอื่น) และ
-สิ่งนี้ ก็คือ สิ่งที่คนในโรงเรียน ทำร่วมกันได้ ลองผิดลองถูกบ้าง แล้วเกิดความรู้สึกว่า...
·คนทุกคนในโรงเรียนมีความสุข อาจขนาดบรรลุ ดัชนีวัดความสุขที่คณะครูต้องการร่วมกันได้
·โรงเรียนแห่งนี้ โด่งดัง และผู้เกี่ยวข้องยอมรับฝีมือ
·โรงเรียนแห่งนี้ สามารถจัดบริการแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้อย่างสมใจ
ข้อ 3 วางแผน เดินสู่อนาคตร่วมกัน ( แบบทีม หรือปัจเจก ก็ยังได้ แต่เห็นว่าควรมีทั้ง 2 แบบ จะได้พัฒนาได้พร้อมๆกัน)

ถ้าทุกคนเห็นเป้าหมาย จากข้อ (2) เรามาช่วยกันทำแผนปฏิบัติการการจัดการความรู้ สำหรับปี 50 กันดีไหม ก็เอาศักยภาพทำที่ประเมินได้ อาจต้องต้องมีคำถามท้าทายกันหน่อย
* หากจะทำให้บรรลุเป้าหมายตามงานของยุทธศาสตร์ กรมด้านการศึกษา ของเขตบริหารการศึกษา และบรรลุปัญหาความต้องการของเหล่าครูในโรงเรียนเรา ความรู้/ข่าวสารที่ต้องการ คืออะไร หรือควรทำอะไรบ้าง
·คงต้องแยกให้เห็นเป็นเรื่องๆ แสดงให้เห็นองค์ประกอบของการปฏิบัติการจัดการความรู้ ที่พวกเราต้องการให้เห็นเป็นด้านๆ หรือเรื่องๆ ไป
·อาจต้องแสดงให้เพื่อนครูน้อย ได้เห็นว่า ในการจัดการความรู้ เพื่อให้มุ่งสู่จุดหมายที่ต้องการ(Desired State) มักจะมีตัวชี้วัดใน 6 เรื่อง/ด้าน ดังต่อไปนี้ ( ซึ่งครูน้อย เอาไปแตกเป็นกิจกรรมต่างๆ แล้วผลักดันร่วมกัน ให้บรรลุเป้าหมายแต่ละด้าน )
(1) การเรียนรู้
(2) การวัด/ประเมินผล
(3) การสร้างความยอมรับ และสร้างแรงจูงใจ
(4) กระบวนการทำงาน และเครื่องมือ
(5) การสื่อสาร
(6) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน
พูดอีกนัยหนึ่งคือ เราจะเอามาเป็นกรอบในการพิจารณาเพื่อการวางแผนปฏิบัติการ ทำได้อย่างไร อย่าลืม “เรา” ในที่นี้ เป็นทั้งตัวเป้าหมาย (End) และตัวขับเคลื่อนมรรควิธี (Means) ในกระบวนการพัฒนา ด้วย

ข้อ 4 ไหนๆ ก็มาเป็นประธานพิธีเปิดสัมมนาแล้ว บอก แสดงวิสัยทัศน์ อารมณ์ ความรู้สึกในฐานะครูใหญ่ที่ดี สักหน่อย จะเป็นไรไป

เพื่อให้เพื่อนครู ได้รู้ เข้าใจครูใหญ่เสียหน่อย ก็ไม่เสียหาย ตามประสาครูใหญ่ หรือนักบริหารโรงเรียนที่ดี เพราะ คำพูด วลีสั้นๆ เหล่านี้ อาจเตือนสติ และทำให้ครูน้อย รัก นับถือ เข้าใจครูใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น งาน KM. ก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย สอดคล้อง วิถีชีวิตจริงๆและสนุก คำ หรือวลี ต่อไปนี้ คือสิ่งที่ผมซึ่งเป็นครูใหญ่ จะบอกให้ทุกคน

“จะจริงใจ ไม่สำทับ ไม่ขู่ ไม่ใช้อารมณ์ แต่ใช้เหตุผลในการทำงานมากขึ้น ไม่อวดรู้ ให้เกียรติ เคารพสิทธิส่วนตัวครูน้อย รักษาเวลา ทำเรื่องอยากให้ง่าย ลดขั้นตอนงานที่ไม่จำเป็น ติดดิน มีมาตรฐาน การคิดการทำงาน และสร้างบรรยากาศการทำงาน ฯลฯ”

อ้อ.....ในฐานะครูใหญ่ของโรงเรียน นอกจากแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ ความตั้งใจ (Commitment) ของผมต่องานนี้ ผมควรถือโอกาสสำคัญให้กำลังใจครูน้อย เพื่อนร่วมงาน ป้าแก้ว ลุงคำ นายรอดบุญ ซึ่งเป็นนักการภารโรง และคนขับรถโรงเรียน ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงานหนนี้ด้วยว่า ผมตระหนัก สำนึกในความตั้งใจของทุกคน ที่ได้ร่วมกันทำงานหนัก อาจยกตัวอย่างความพยามยามในการทำงาน KM. ที่ผ่านมา วิเคราะห์ให้เห็นชัดๆ ก่อนจบ ชมเชยความพยายามของครูน้อย กับผลงานที่ผ่านมาด้วยท่าทีจริงใจ แสดงความคาดหวัง พูดเชื้อเชิญ ให้ทุกคน เห็นพ้อง ด้วยความรู้สึกที่ดี ( คิดว่า ผมไม่ควรนั่งบรรยายคนเดียวดีกว่า เขาเห็นหน้าผมบ่อย อาจเบื่อหน้าผม เพราะถ้าพูดไม่ดีอีก จะหมด อารมณ์ตั้งแต่ยกแรก - ตกลง ผมควรให้ครูเก่งคนหนึ่ง หรือคนอื่นๆ ช่วยพูด ผมควรดูห่างๆ หรือบางครั้งหาจังหวะช่วยเติมเต็ม เสริมแรงเพื่อนครูดีกว่า

เสียงปรบมือก้อง....บ้างพยักหน้า....ยิ้มแย้ม.....กาแฟและขนมเบรกอุ่น หอมกรุ่น โชยมาแล้ว.........








เขียนโดย ครูใหญ่โรงเรียนวัดดอนกระโทก เพื่อสนับสนุนการสัมมนาเรื่องการจัดการความรู้ ระหว่างวันที่ 7 - 8 ธันวาคม 2549 บันทึกเมื่อเช้าวันที่ 3 ธันวาคม 2549
ที่มาของข้อมูล : ข้อเขียนสังเคราะห์ความรู้ จากหนังสือต่อไปนี้
1. Knowledge Management หลายสำนักคิด
2. The Seven Habits of Highly Effective People
3. The Study Circle Method -จากหลายสำนักคิด
4. Lessons Learned: A Value Added Product of the Project Life Cycle โดย R Gilman
5. Strategic Planning Through Inquiry Approach หลายสำนักคิด

(โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความนี้ )

ไม่มีความคิดเห็น: