วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ADB-NGO AIDS Competence กับ KM. ของคนทำงานพัฒนาชุมชน (ภาครัฐ)คนหนึ่ง


อีกงานหนึ่งที่มีในเดือน เมษายน 2552 ในเวลาไล่เลี่ย กับงาน 2008 Asia Pacific Regional Health Impact Assessment Conference ซึ่งได้เขียนเล่าให้ฟังแล้ว คืองานประชุมที่เรียกว่า “เวทีสรุปบทเรียนโครงการ ADB-NGO Competence -ประเทศไทยและการทำงานด้านเอดส์” เมื่อ 29 เมษายน 2552 ที่โรงแรมธาริน จังหวัดเชียงใหม่

จริงๆแล้ว กิจกรรมนี้เขาจัด 27-29 เมษายน 2552 (รวม 3 วัน) กลุ่มเป้าหมาย ที่เข้าประชุมล้วนแล้วแต่ทำงานเกี่ยวข้องด้านเอดส์ ทั้งสิ้น นับตั้งแต่ผู้ติดเชื้อ,เอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวกับเอดส์,ชุมชนเครือข่าย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องบางส่วน นอกจากนี้มีตัวแทนจากยูเอ็น ตัวแทนองค์กรด้านศาสนา รวมทั้งหมดประมาณ 30 คน จากจังหวัดพื้นที่เข้าเกี่ยวข้องกับโครงการ ทั่วประเทศ

ผมมิได้เข้าร่วมประชุมใน 2 วันแรก เพราะผู้จัดต้องการให้เป็นการทบทวนความก้าวหน้าการดำเนินงาน และการขยายผลการทำงานที่ผ่านมา กับกลุ่มกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ คือทีมที่เรียกว่า NFT(หรือน่าจะเป็น National Facilitation Team?)และองค์กรกลุ่มเครือข่าย ที่ได้มีการเรียนรู้ ฝึกอบรมด้านหลักการเทคนิควิธีการทำงานเอดส์ไปขับเคลื่อนในชุมชนของตัวเองมาแล้ว

(นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่วิทยากร พยายามอธิบาย ขั้นตอนวิธีการทำงาน โดยใช้แนวคิด ที่เรียกว่า HCR ไปใช้ในการทำงานเอดส์ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน)

วันสุดท้าย เขาจึงแยกกิจกรรมไว้ต่างหาก ให้ผู้เข้าประชุมที่ได้รับเชิญเข้าใหม่ ลงทะเบียนแจกเอกสาร พร้อมจัดบรรยากาศเรียนรู้ แบบสบายๆ ผ่อนคลาย และเปิดโอกาสให้แสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมผลการประชุม 2 วันที่ผ่านมา โดยจัดขั้นตอนการนำเสนอ คือ ;

· นำเสนอให้เห็น กระบวนการทำงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเอดส์ หรือเรียกง่ายๆว่า ACP
· มีการแนะนำให้รู้จักโครงการที่เรียกว่า ADB-NGO Competence ประเทศไทย
· แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการทำงานขององค์กรที่ร่วมในโครงการ และเครือข่ายขยายผล โดยให้จัดให้เยี่ยมชมนิทรรศการ พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันคนทำงานในองค์กรต่างๆ
· การแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ทำงานด้านเอดส์ กับเครือข่ายต่างๆในกลุ่มย่อย
โดยวิธี ที่เรียกว่า “กระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer assist) ใช้วิธีจัดการความรู้หาองค์ความรู้ (Knowledge Assets)

พร้อมให้ช่วยกันคิด นำเสนอ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์และแผนงานที่จะทำในปีต่อไป จบด้วยกิจกรรมประเมินผลการอยู่ทำงานร่วมกันตลอด 3 วัน โดยใช้เทคนิคประเมินผล แบบ AAR.

การจัดประชุมสรุปบทเรียน รอบนี้ ผมทราบจากผู้จัด ว่าจะเป็นกิจกรรมสุดท้าย (ของเฟสของความร่วมมือกับแหล่งทุน?) เพราะหลังจากนี้ ก็จะไม่มีแล้ว หรือ ถ้ามีก็จะว่าหรือเน้นหนักกันไปในเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับงานเอดส์) สำหรับเฟสของประเทศไทยครั้งนี้ ก็จะเป็นกิจกรรม ที่เรียกกันว่า Thailand National Review (ทบทวน สรุปบทเรียนภาคประเทศไทย-ทำนองนี้)

ดังนั้น ถ้าติดตามกิจกรรม ครบ 3 วัน ก็จะทราบว่า แต่ละกลุ่ม องค์กร เอ็นจีโอ เครือข่าย หรือผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ที่ทำงานกันหลากหลายนั้น มีวิธีคิด วิธีทำงาน และให้การสนับสนุนงานด้านเอดส์อย่างไร

คนที่เกี่ยวข้องระดับปฏิบัติกับชุมชน ก็จะได้เรียนรู้ ทบทวน เรื่องเทคนิควิธีการ และเครื่องมือในการทำงาน ที่เคยฝึกฝนเรียนรู้มาก่อนหน้านี้ การประเมินตนเองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับปัญหานับตั้งแต่ การใช้แผนภูมิแม่น้ำ แผนภูมิบันได เครื่องมือวัดความก้าวหน้าด้านความสามารถในการจัดการปัญหาเอดส์ กระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อน (peer-assist)กระบวนการจัดทำองค์ความรู้ (Building Knowledge Assets) บทบาทของทีมจัดกระบวนการเรียนรู้ (Facilitation Team) และเทคนิคการทำงานกับชุมชน ที่เรียกโดยย่อ ว่า SALT การวิเคราะห์บทบาทหญิงชายในการป้องกันและดูแล (Gender Continuum Exercise) การจัดทำแผนภูมิเวลา (Timeline) เพื่อทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านไป การทำแผนที่ (mapping) แสดงการนำกระบวนการไปใช้ และขยายผล
ถึงวันนี้กล่าวได้ว่าโครงการ ADB-NGO Competence-ประเทศไทย เขาส่งเสริมกิจกรรมมาฯ อย่างต่อเนื่อง ครบ 2 ปีแล้วตามพันธสัญญา ที่มีต่อกันแก่ อพช.องค์กรประชาชน องค์กรประชาสังคม รวมถึงเครือข่ายผู้ติดเชื้อ ของชุมชนต่างๆ โดยการสนับสนุนงบประมาณ จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่ง มีองค์กรหลักขับเคลื่อนหลัก ที่เรียกองค์กรว่า The Constallation for AIDS Competence

องค์กรนี้ได้จดทะเบียน เป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความความรู้ความตั้งใจ ในการทำงานช่วยเหลืองานเอดส์ โดยเชื่อมโยงการทำงานด้านเอดส์ในระดับชุมชนทั่วโลก และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันด้านเอดส์ องค์กรConstellationได้จดทะเบียนที่เบลเยี่ยม มีสำนักงานฝ่ายเลขานุการอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง องค์กรนี้ จึงเป็นองค์กรลูกผสม ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญจาก หลากหลายประเทศ รวมตัวกัน เป็น คณะกรรมการและทำงานร่วมกันตามอุดมการณ์

หากพิจารณาเชิงบริหารจัดการ องค์กรแม่อย่าง Constellation for AID Competence ต้องรับผิดชอบงานหนักหน่อย เพราะ ต้องทำหน้าที่เป็นองค์กรแกนหลัก และประสานงานกับชุมชนต่างๆ ในประเทศภาคี อีกนับ 10 ประเทศ ขณะเดียวกันองค์กรย่อย หรือหน่วยในระดับประเทศ อย่างเช่น โครงการเอดส์ศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายเลขาฯขององค์กร) ก็ต้องทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนงานเอดส์ ในระดับประเทศ ส่วนประเทศภาคีอื่นๆ ก็จะขับเคลื่อนงานในประเทศของตนไปตามรูปแบบ อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ในการทำงานในแต่ประเทศภาคี ก็มีการกำหนดให้มีโค้ช (coach) ทำหน้าที่คอยประสานงานในระดับประเทศนั้นๆด้วย

ถ้าดูกระบวนการทำงานขององค์กร Constellation ซึ่ง มีเครือข่ายย่อยทำงาน อยู่หลายมุมโลก จึงจำเป็นต้องมีระบบการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ยุคนี้จึงหนีไม่พ้น ต้องเอาระบบไอทีเข้ามาช่วยในการจัดการความรู้ เพื่อให้คนในองค์กรต่างๆ ผู้สนใจในทุกระดับทุกประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร รู้ความเคลื่อนไหว ของกันและกัน เพียงเข้าไปดูเว็ปไซต์ ที่ถูกออกแบบ ขึ้นอย่างดีเพื่อการนี้

นอกจากกิจกรรมเคลื่อนไหวในประเทศของตัวเอง ตามวาระที่กำหนดไว้เป็นแผนขับเคลื่อนงานเอดส์ร่วมกันในห้วง 2 ปีแรก ภายใต้การสนับสนุนจากแหล่งทุน แล้ว ยังมีกิจกรรม ประชุมสัมมนาระหว่างประเทศหรือนานาชาติ ตามวาระเพื่อให้เครือข่าย ผู้เกี่ยวข้องด้านเอดส์ ขยายการเรียนรู้และสร้างเครือข่ายร่วมมือมากขึ้นด้วย ซึ่ง ก็นับเป็นการวิธีการสร้างกระบวนการขับเคลื่อน ภารกิจ ที่สำคัญขององค์กรนี้

การสัมมนานานาชาติ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ หัวข้อ(Agenda) International Knowledge Fair เมื่อวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2552 ก็เป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่ทำให้คนทำงานด้านเอดส์ ผู้สนใจ แหล่งทุน และสังคมภายนอก มีโอกาส เดินทาง มาพบเรียนรู้ประสบการณ์ และขยายพรมแดนการทำงานกันได้มากขึ้น จากการมาตลาดความรู้นานาชาติ นี่เอง

ก่อนอำลากันในวันสุดท้าย เขามีการหารือกันว่าครั้งต่อไปจะจัดประชุมนานาชาติที่ใดดี จึงตกลงกันว่าจะเป็นการประชุมระดับนานาชาติ ครั้งที่ 9 ที่เรียกว่า The 9th International Congress on AIDS in Asia and the Pacific หรือเรียกโดยย่อว่า ICAAP 9 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย กำหนดวันที่ 9–13 สิงหาคม 2552 ซึ่งก็เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือและขยายผลการทำงานเอดส์ ให้เข้มข้นขึ้นร่วมกัน มีการกำหนดหัวข้อเน้น (Theme) ว่า “ร่วมติดอาวุธด้านความคิดแก่สังคม–สร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือให้แข็งขัน หรือ Empowering People - Strengthening Networks (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.icaap9.org/ )

โดยที่องค์กร Constellation for AIDS Competence เชื่อว่า องค์กรกำลังทำภารกิจสำคัญกับสังคมทั่วโลก ดังนั้น จึงพยายามกำหนดหลักการทำงานด้านเอดส์ บนฐานความเชื่อที่ว่า :
“ สังคมเอาชนะ เอชไอวี/เอดส์ ได้ โดยประชาชนเอง เพราะประชาชนมีพลังในจัดการ, สามารถเรียนรู้กันและกันได้ ซึ่งศักยภาพเหล่านั้น พร้อมที่จะถูกนำมาใช้ และเสริมสร้างเป็นความแข็งแกร่ง”

ดังนั้น การจัดการศึกษา หรือเสริมพลังการทำงานใดๆ แก่กลไกใดๆของการขับเคลื่อน ที่จะนำไปสู่การตอบสนอง สถานการณ์เอชไอวี/เอดส์ จึงต้องทำอย่างมีความรู้ ความเข้าใจที่ดีพอ เข้าใจถึงธรรมชาติ ความละเอียดอ่อนในประเด็นต่างๆ ที่มี การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเล็งเห็นถึงศักยภาพ การเข้าใจเรื่องการใช้เทคนิค วิธีการทำงาน และ เข้าใจใน มิติต่างๆของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ฯลฯ

ที่ผ่านมา ผมมีโอกาส เข้าร่วมประชุมสัมมนาในระบบไทยและเทศหลายครั้งในเรื่องนี้ ก็ด้วยความกรุณา จากผู้เกี่ยวข้องหลายท่าน รวมถึงการศึกษาหาความรู้ เท่าที่จะกระทำได้ และมีความสุขกับมัน

สุดท้ายผมใคร่ขออนุญาตเอ่ยนาม กล่าวขอบคุณสำหรับ ดร.อุษา ดวงสา แห่งโครงการ AIDS Education Programme ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้ให้เกียรติผม ในการพิจารณาอนุญาตให้เข้าแลกเปลี่ยน เรียนรู้ด้านเอดส์ในหลายเวที, คุณสมพงษ์ เจริญสุข แห่ง UNAIDS ที่ได้กรุณาช่วยเหลือด้านข้อมูลดีๆและยังส่งตำราภาษาอังกฤษจากยูเอ็นมาให้ศึกษาเสมอ จนอ่านไม่ทัน, คุณเพ็ญแข และคณะ แห่ง สสจ.ที่ลำปางกับโครงการ ที่จังหวัดลำปาง ชื่อ UN Joint Programme on Enhanced GFATM Grant implementation in Thailand through local partners capacity building and improved multi-sectoral local response programming for AIDS เพื่อนเอ็นจีโอ และเพื่อน จากกลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้ออีกหลายคน (ซึ่งจำชื่อไม่ได้หมด) ซึ่งทั้งหมด ดูเหมือนจะเป็นจุดลงตัว ที่ผสมผสานทำให้ผมได้เกิดการเรียนรู้อยู่ตลอดเช่นกัน มีเครือข่ายงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น มีแรงบันดาลใจใหม่ๆ อย่างไม่รู้สึกท้อแท้ เหน็ดเหนื่อยเลย

แล้วเราช่วยกันทำงาน เพื่อสังคมที่ดีกว่า และเพื่อผลแห่งความสุข จากสังคมที่ดี ร่วมกัน นะครับ...
เดือน พค.52
(รูปภาพมีเยอะครับ แต่เกิดปัญหาทางเทคนิค-เอาขึ้นไม่ได้)

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณที่บอกเล่าให้เป็นที่รู้กับในวงกว้าง ดีจังที่คุณบุญส่งทำอย่างนี้ เราอยากทำบ้าง จาก ขนิฏฐา