วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การประชุมนานาชาติเรื่อง 2008 Asia and Pacific Regional Health Impact Assessment Conference : ผมได้เห็นอะไร คิดอย่างไร?

กิจกรรมนี้ มีระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2552 ที่โรงแรมดิอิมเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ผมเป็นคนหนึ่ง ที่เข้าร่วม มีผู้เข้าประชุมประมาณ 300 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้สนใจ หรือทำงาน ที่เกี่ยวข้อง จากกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และประเทศ อื่นๆ 20 ประเทศ ผมเองเข้าไปเกี่ยวข้องงานนี้ ในฐานะเป็นอาสาสมัคร ของสถาบันหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เขากำหนดให้เรา เป็นหน่วยงานเตรียมข้อมูลนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้เป็นกรณีศึกษาดูงาน ซึ่งเป็นหัวข้อหนึ่งในห้าสำหรับกลุ่มเป้าหมายลงศึกษา ผมกับเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ อีกคน รวม 2 คน จึงได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมประชุมด้วย

ว่าไปแล้ว นับว่าเป็นประโยชน์แก่พวกเรา เพราะ ที่หริภุญชัย มีการศึกษาเรื่องการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมกัน ค่อนข้างมาก พวกเราเป็นนักปฏิบัติ มีงานศึกษาวิจัย และโครงการ ในท้องถิ่นมากมาย ที่พวกเรา สามารถเอาความรู้เหล่านี้ ไปปรับใช้ หรือแลกเปลี่ยนได้ จึงมีประสบการณ์ ที่จะคุยได้มากพอควร แต่ลำพังต้องเสียค่าลงทะเบียนเอง คนละประมาณ 17,000 บาท เราคงไม่มีปัญญาเข้าประชุม แต่เรื่องอย่างนี้ พวกเรามักโชคดีเสมอ เพราะสุดท้ายแล้ว ชอบที่จะมีคนเกิดเห็นประโยชน์พวกเราเสมอ

ถ้าถามว่าได้อะไร จากการไปหนนี้ในฐานะนักพัฒนา ก็คงจะตอบได้ว่า ผมเข้าไปเกี่ยวข้องการประชุมเตรียมการมา อย่างน้อย 3 ครั้ง ตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อนประชุมใหญ่ ทำให้ ผมได้เห็นการเตรียมการ การบริหารจัดการ ของคนที่เกี่ยวข้อง ที่กระจัดกระจาย หรือเป็นเครือข่ายในหน่วยงาน ภาคส่วนต่างๆ เยอะแยะไปหมด จนเวียนหัว การบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ ระดับสากลภูมิภาคของโลก ต้องใช้ ศักยภาพในคิดวางแผน การปฏิบัติการ การติดตามประเมินผล การบูรณาการ และการสื่อสารอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย อ้อ คนที่เข้าประชุมที่เชียงใหม่นั้น หมายถึง ว่าพวกเขาจะต้อง ไปเข้าหลักสูตรฝึกอบรม เรื่อง HIA เพื่อมาเตรียมมาสัมมนาที่เชียงใหม่ 3 วัน ด้วย ในกรุงเทพ เป็นการฝึกอบรมที่ต้องเล่าเรียนเชิงลึกกันเลยล่ะ

ผมจะขอเขียนเล่าโดยสรุป เพื่อให้เห็นคร่าวๆเฉพาะการจัดกิจกรรมที่เรียกว่า “การประชุมแบบสัมมนา หรือ “Conference” และฉายภาพให้เห็นภาพว่า ถ้าจะเอาองค์ความรู้เรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาวะ หรือสุขภาพ นั้น เขาทำอย่างไรบ้าง เท่านั้น ผ่านมุมมองส่วนตัวของผม เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็พอจะแบ่งการเล่าเป็นเรื่องใหญ่ๆ ได้ 2 ประเด็น ตามลำดับ คือ

(1) ว่าด้วยเรื่ององค์กรที่ร่วมกันรับผิดชอบ พบว่า งานช้างขนาดนี้ ต้องอาศัยการเตรียมการ เพื่อให้เกิดความพร้อม และสมบูรณ์ที่สุดกันนาน เป็นปีๆและเกิดจากหน่วย องค์การหลายหน่วย ร่วมกันรับผิดชอบ กล่าวคือ หน่วยงานเจ้าภาพหลัก (Host) ในประเทศไทย ก็คือ หน่วยงาน ที่เรียกว่า National Health Commission, Thailand ส่วนหน่วยงานที่เป็นผู้ร่วมจัด เขาใช้คำว่า Co-Hosts ก็มีถึง 10 หน่วยงาน อาทิ กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข, มูลนิธินโยบายสุขภาวะ,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มูลนิธิส่งเสริมสุขภาวะไทย (Thai Health Promotion Foundation, Thailand),องค์การอนามัยโลก(ประเทศไทย), สำนักงานนโยบายและการวางแผนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม,สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และกรมควบคุมโรค เป็นต้น

หน่วยงานที่ว่าเหล่านี้ คงต้องมีการประชุมหารือกัน อย่างต่อเนื่องและแบ่งงานให้ชัดเจน ว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบในเรื่องใดบ้าง โดยพิจารณา ถึงรายละเอียด กรอบ เนื้อหา ขั้นตอนต่างๆของการดำเนินงานประชุมนานาชาติที่ควรจะเป็น เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายที่กำหนดไว้

ในประเด็นนี้ ทำให้เห็นการทำงานที่เป็นเครือข่าย ได้อย่างชัดเจน ถ้าลากเส้นเครือข่ายเชื่อมต่อกัน จะเห็นว่า มีองค์การที่อยู่ต่างประเทศอีกซีกโลกหนึ่ง ลากมายังประเทศไทยที่องค์การ Host จากนั้น ก็ลากเส้นโยงใย เชื่อมต่อหน่วยงาน มีเส้นโยงใดไปหมด จนกระทั่ง ถึงหน่วยงานหริภุญชัย ซึ่งเป็นแค่องค์กรด้านการพัฒนาในท้องถิ่นจังหวัดลำพูน นี่ยังไม่นับเครือข่ายที่เกิดจาก ผู้เข้าประชุมที่ลงทะเบียน เข้าร่วมประชุม จาก/หรือหน่วยงานจากประเทศต่างๆ อีก 20 ประเทศ ทำให้โลกที่กว้างใหญ่ไพศาลแคบลงถนัด และมีโอกาสที่จะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือความรู้กันได้อย่างจะๆ ผ่านภาษาอังกฤษ ที่ทุกคนจำเป็นต้องมีทักษะด้านนี้อยู่เป็นอย่างน้อย

แต่แม้กระนั้น เมื่อเข้าประชุม ก็ยังสามารถเรียนรู้ได้จากกิจกรรมหลายๆแบบ เช่น การแสดงด้านวัฒนธรรมก่อนเปิดประชุม นิทรรศการ การเลี้ยงรับรอง ที่มีการแสดงวัฒนธรรมประจำชาติ เอกสาร สิ่งพิมพ์ของที่ระลึก ซึ่งเขาเตรียมไว้แจกอย่างไม่อั้น ใครไม่ถนัดฟังภาษาอังกฤษ ก็มีเครื่องหูฟัง สำหรับฟังคำแปล ในบางรายการ มีเอกสารการสรุปให้ทราบ มีการจัดไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าร่วม

(2) ว่าด้วยกระบวนการเนื้อหา/เทคนิควิธีการนำเสนอในการประชุมสัมมนา (Conference) แน่นอนว่าจะต้องเป็นการนำเสนอเพื่อให้สังคมเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพของคนเราของสังคม ของสิ่งแวดล้อม หรือเรียกรวมๆว่าสุขภาวะเป็นสำคัญ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาวะ หรือ Health Impact Assessment จะเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหา อันเกิดผลกระทบในทางไม่ดีดังกล่าวได้ และ ก็จบลงทีว่า ถ้าเช่นนั้น สังคมก็ควรจะช่วยกัน ติดอาวุธทางปัญหาให้กับประชาชนหรือสังคม เพื่อ ให้เกิดวามมั่นใจว่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาด้านสุขภาพของคนของสังคมด้วยสิ หรือที่เขาได้ชูให้เห็นเป็น หัวข้อเด่น (Theme) หรือ highlight ของการจัดประชุมนานาชาติหนนี้ เป็นภาษาฝรั่งว่า “Empowering People Ensuring Health”

การจัดประชุมนานาชาติ โดยรูปแบบประชุมที่เรียกว่า Conference เมื่อทำกับคนกลุ่มใหญ่ หลากหลายเชื้อชาติวัฒนธรรม และกับคนที่หลากหลาย ความรู้ ประสบการณ์ แต่สนใจในเรื่องเดียวกัน จะให้เกิดการเรียนรู้ ก็ต้องใช้เทคนิคเครื่องมือ การสร้างบรรยากาศให้ต่อการเรียนรู้มากมาย นับตั้งแต่การกำหนด ออกแบบสถานที่ ซึ่งเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ มีห้องประชุมขนาดต่างๆ สำหรับกลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันที่ทันสมัย อาทิ จอมอนิเตอร์ เครื่องมือบอกข่าวสาร ข้อมูล รายงานโปรแกรมที่จะดำเนินการหรือกำลังดำเนินการในห้องต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าประชุม ได้เลือกเข้าศึกษาตามวาระ หรือตามความสนใจ มีมอนิเตอร์แจ้งรายการไม่ต่างกับอยู่ในสนามบิน ยังคำนึงถึงการจัดบริการอาหารเครื่องดื่ม ที่ทำให้รู้สึกสะดวกสบาย เกิดสิ่งที่ทำให้เรียนรู้ได้มากที่สุด มุมนิทรรศการ มุมเอกสาร หนังสือสิ่งพิมพ์เผยแพร่แจกฟรี ภาพถ่ายโปสเตอร์สวยๆ แถมมีถุงผ้าสวยๆ ให้ใส่เอกสารหนังสือกองพะเนินกลับบ้าน มุมลงทะเบียน/รับเอกสารคำแนะนำ ป้ายชื่อกระเป๋าสำหรับผู้ลงทะเบียนแถบลายปักชาวเขาดูสดสวย ห้องปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่ ล็อบบี้พักผ่อน บอร์ดแสดงความคิดเห็นห้องรับรองผู้สื่อข่าว คลินิกตอบปัญหา มุมตลาดความรู้/ให้ความช่วยเหลือ คำปรึกษาต่างๆ ฯลฯ เรียกว่าเป็นบรรยากาศแห่งการเรียนรู้เรื่อง HIA การแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างความสัมพันธ์ หรือเครือข่ายกัน อย่างแท้จริง

ครั้นได้เวลา ก็เปิดต้อนรับ ด้วยการแสดงทางวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ ชื่อชุดอะไรไม่ทราบ ถือเป็นพิธีเปิดและต้อนรับอย่างเป็นทางการ Open Ceremony จบการแสดงปล่อยเวทีห้องประชุม ให้ดูเงียบๆ สักพักแล้วตามด้วย VCD เสนอเรื่อง HIA: Empowering People, Ensuring Health ตามด้วย การนำเสนอ เรื่องราวของ ตัวแทนเรียกว่ากลุ่มคนไร้สัญชาติ (Stateless people) ซึ่งเป็นตัวแทนผู้พลัดถิ่น หรือคาดว่า น่าจะเป็นชาวเผ่าปะหร่อง ที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่อำเภอเชียงดาว เธอแต่งการชุดประจำเผ่าสวยงาม ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ สะท้อนเรื่องราวชีวิต ความรู้สึกเผ่าพันธุ์ของพวกเธอ เป็นภาษาของเธอเอง มีอักษรวิ่ง แปลคำพูดเธอ เป็นภาษาอังกฤษ เนื้อหากล่าวถึง ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ที่เผ่าชนของพวกเธอ มักถูกเป็นที่เข้าใจว่าเป็นตัวการตัด ไม้ทำลายป่า เป็นต้นเหตุให้เกิดไฟป่า น้ำท่วม และนำเสนอข้อเรียกร้อง เพื่อความเป็นธรรมด้านสิทธิมนุษยชน มีเสียงดนตรีและสไลด์ประกอบ สะกดให้ผู้เข้าประชุมซึมไปหมด ค่อยๆตามด้วยเสียงปรบมือ คล้ายๆจะเห็นด้วย และเข้าใจในชตากรรมของเพื่อนมนุษย์ ด้วยกัน

การกล่าวต้อนรับโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (Welcome Address) บุคคลสำคัญในฐานะเจ้าเมืองต่อผู้มาเยือน กล่าวถึงโครงการ และความสำคัญของการ ที่จะต้องติดอาวุธด้านความคิด เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาสุขภาวะ ถือเป็นสุนทรพจน์สั้นๆ เนื้อๆ (Key Note Speech) สร้างบรรยากาศ และสื่อบอกว่าพร้อมยินดี ที่จะต้อนรับ เพราะ เชียงใหม่เป็นเมืองสวยงาม เต็มไปด้วยของดีๆ

ที่สำคัญ ขาดเสียมิได้ของการประชุมแบบนี้ คือ กิจกรรมที่เรียกว่า Plenary Session หรือเรียก เป็นไทยว่า การประชุมรวม หรือการประชุมใหญ่ เพื่อชี้แจง หรือให้ข้อมูลเรื่องใหญ่สำคัญกับผู้เข้าประชุมทุกคนก่อนแยกย้าย กันออกไปเรียนรู้

ตอนบ่าย เป็นกิจกรรมประชุม อีกแบบ ที่เรียกว่า Concurrent Sessions เป็นกิจกรรมเรียนรู้ ที่มีความเกี่ยวข้องกัน และจัดขึ้นในเวลาพร้อมๆ กัน ผู้เข้าประชุมสามารถเลือกเข้าร่วมฟัง เรียนรู้ได้ ตามหัวข้อที่สนใจ ซึ่งจะแบ่งห้องประชุม ออกไป 4 ห้อง ราวกับเข้าไปดูหนัง ในห้าง มีหัวข้อนำเสนอ 4 หัวข้อใหญ่ ประกอบด้วย

(1) HIA and Integrated Impact Assessment (การประเมินผลกระทบด้านสุขภาวะแบบบูรณาการ)
(2) HIA and Local Government (การประเมินผลกระทบสุขภาวะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)
(3) HIA and Capacity Building (การประเมินผลกระทบสุขภาวะกับการเสริมสร้างความเข้มแข็ง) และ
(4) Beyond the Limits of Imagination (เหนือสิ่งวาดฝัน เพื่อสังคมที่ดีกว่า)

อันหลัง ผมแปลอย่างนี้แหละ แต่ห้องนี้เขาจัดไว้สำหรับการเรียนรู้ของผู้พิการ หรือคนที่ทำงานเกี่ยวข้อง โดยมองว่า ผู้พิการมักถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากสังคมกระแสหลักอย่างเท่าเทียม ดังนั้น การเปิดโอกาสให้คนพิการได้มีสิทธิ มีเสียง มีกฎหมาย และนโยบาย ที่ดี มากขึ้นเท่าใด จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการได้รับการพัฒนา ให้ดีขึ้นด้วย สุขภาวะเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สังคมไม่ควรมองข้าม

แต่ละห้องจะมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็น ประธานคณะทำงานนำเสนอ ผู้ช่วย หรือผู้ประสานงาน และที่ขาดเสียไม่ได้คือ คนที่เก็บรายละเอียด หรือเชื่อมร้อยกิจกรรม (เนื่องจากเป็นการสื่อสารกันด้วยภาษาต่างประเทศ ) ตำแหน่งส่วนนี้ เรียกภาษาอังกฤษว่า Rapportear ทั้งหมดจะใช้เวลา 2 ชม. ใครชอบไม่ชอบส่วนไหน ก็สามารถลุกนั่ง เข้าไปฟังการนำเสนอผลการศึกษาวิจัย ประมาณ5-6 เรื่อง หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ ที่สนใจ หรือเกี่ยวข้องกับผู้เข้าประชุม ชาติต่างๆ ในแต่ละห้อง เอาเอง ตามอัธยาศัย

กิจกรรมสุดท้าย ของวันแรกที่น่าสนใจมาก อีกอย่างคือ กิจกรรมที่เรียกกว่า HIA Cafe: Networking Activities แปลเป็นไทยน่าจะเรียกว่ากิจกรรม “ สานสายใย สร้างสัมพันธ์ HIA” เขาจัดในห้องประชุมใหญ่ ทำให้ดูมีบรรยากาศดีสักหน่อย มีอาหารว่างเครื่องดื่มบริการ มีมุมนิทรรศการ แนะนำหน่วยงาน ให้บริการด้านความรู้ ผลงานด้านต่างๆ มุมเสวนา คลินิกไขปัญหา มุมอภิปราย แลกเปลี่ยน สิ่งที่คนสนใจ มุมหารือวางแผนงานก่อนประชุมHIA 2010 ครั้งต่อไปที่ประเทศนิวซีแลนด์ มุมร่วมมือจัดทำปฏิญญาHIA เชียงใหม่ ที่จะมีประกาศพร้อมกันในวันสุดท้าย เป็นต้น

บรรยากาศประชุมช่วงนี้ ทำให้ทุกคนรู้สึกผ่อนคลาย ลุกนั่งเดิน พูดคุยกันแบบสบายๆ กับคนที่เข้าประชุมหลายชาติซึ่งหลากหลายภูมิหลัง ถ่ายรูป จับกลุ่มศึกษากันเอง เป็นที่สนุก เพลิดเพลิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ซึ่งอยู่ในเชียงใหม่ หรือแม้ชาวต่างชาติหลายคนก็พาลูกหลาน เป็นเด็กๆ มาร่วมกิจกรรม ถ่ายรูป เที่ยวเล่นในห้องประชุมใหญ่ สร้างสีสัน ให้ดูหลากหลายทางวัฒนธรรม เพิ่มสีสันการเรียนรู้ที่สัมผัสได้

วันที่สองของการประชุม เขาจัดให้ทุกคน รวมถึงกองทัพนักข่าว ไปดูของจริงกันในพื้นที่เลย โดยให้ลงทะเบียนตามความสนใจ ออกเดินทางแต่เช้า อยู่ยันเย็น ซึ่งแบ่งการศึกษา ออกเป็น 5 หัวข้อ คือ

(1) การจัดการทรัพยากรน้ำ : ว่าด้วยการอนุรักษ์ลำน้ำปิง
(2) การพัฒนาภาคเมือง : ว่าด้วยความสัมพันธ์ด้านจิตวิญญาณย่านชุมชนวัดเกต
(3) การพัฒนาอุตสาหกรรม: ว่าด้วยนิคมอุตสาหกรรมลำพูน และการพัฒนาคุณาภาพชีวิต
(4) การพัฒนาการเกษตร : ว่าด้วยการเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรปลอดสารพิษ
(5) การใช้แรงงานนอกภาคการเกษตร : กรณีหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์บ้านถวาย

พอดูของจริงในแต่ละเรื่อง พบผู้นำชุมชน/ชาวบ้านในพื้นที่ รับประทานอาหารเที่ยงภาคสนาม ในร้านที่ติดต่อไว้ก่อนแล้ว ตกบ่าย ณ จุดดูงานแต่ละที่ จะมีตัวแทน ผู้เข้าประชุมประเทศต่างๆนำเสนอผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง อีกกลุ่มละ 5 - 6 เรื่อง พร้อมเปิดโอกาสให้สอบถามหรือแลกเปลี่ยนกับคนในชุมชนที่มาให้การต้อนรับ ก็นับว่ามีบรรยากาศชื่นมื่นดี ด้วยการต้อนรับจากชุมชนที่เตรียมไว้อย่างดี เพราะสลับนำเที่ยว/นำชม นั่งเรือ ชมสวน ชมศิลปวัฒนธรรมกันตามสถานการณ์และบริบท พร้อมทำการสังเกต วิเคราะห์วิจัยปัญหากันไปในตัว

อากาศเดือนเมษายนร้อนมาก เกือบ 40 องศาซี ทำให้คนดูงานนอกสถานที่ ต้องเหงื่อไหลไคลย้อยกันไปตามๆกัน การไปกันจุดละ 50 - 60 คน ยังทำให้มีบรรยากาศเดินทางอึงมี่ โกลาหลเป็นบางครั้ง แม้กระนั้น ก็ครึกครื้น สนุกกันทุกคน เป็นผู้ใหญ่ มีระเบียบวินัยในการเดินทางร่วมกัน ชาวต่างชาติ บางคนทนแดดร้อน ไม่ไหว เห็นหลบขึ้นรถตู้ปรับอากาศกันก่อน ด้วยอากาศเดือนเมษายนวันนั้นร้อนจริง

ผู้เข้าประชุม สามารถรู้ว่าจุดอื่นๆ เขามีการเคลื่อนไหว หรือมีกิจกรรมอะไร เป็นอย่างไร เรียนรู้อะไร ก็สามารถอ่านเอาจากจดหมายข่าว (ภาษาอังกฤษ) ที่เขาทำเป็นรายงาน แจกในวันรุ่งขึ้น ซึ่งบรรยายสรุปให้เห็นภาพ เรื่องราวสาระของแต่ละจุด ที่ไปดูงานทุกจุด รวมทั้งประเด็นการเรียนรู้ ข้อสังเกตต่างๆ ทำให้ทุกคนได้ความรู้ มีภาพในการสื่อสารสวยๆน่าอ่าน ทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมดการดูงานทั้งหมด ซึ่งคิดว่าเขาฉลาดทำ ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้สะดวกมากขึ้น

ตกเย็น ทุกกลุ่มเดินทางกลับ และเตรียมตัวไปกินเลี้ยงแบบขันโตก ที่ร้านอาหารแบบลานวัฒนธรรมแห่งหนึ่ง เขาเอาภาษาไทยอิสาน คำว่า “โสเหล่” ไปใช้อธิบายลักษณะงานเลี้ยง เลยเรียกทับศัพท์ เป็นภาษาอังกฤษ ว่า International Solei (Dialogue) on “ Inspiration and HIA Commitment”

ชมการแสดงทางวัฒนธรรม รับประทานอาหารขันโตกอร่อยๆ ร่วมกัน มีการพูดถึงพันธะสัญญา ที่จะทำงานร่วมกัน และให้ช่วยกันวาดแสดงความรู้สึก ความฝัน ความตั้งใจ ความหวัง ที่จะทำงาน HIA ให้สำเร็จ แล้วเอาผลผลิตที่ช่วยกันคิดจิตนาการ มาติดไว้ให้ชมกันในห้องประชุมใหญ่ ในวันรุ่งขึ้น สำหรับ คนที่อยู่เบื้องหลังกิจกรรมเหล่านี้ คงต้องเตรียมการ เตรียมกระบวนการไม่เบาทีเดียว

จะเห็นว่า การออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และสนุกเพลินเพลิน สำหรับกลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนคิดออกแบบกิจกรรม ด้วยเหมือนกัน รวมถึงภาษา เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด

วันที่สาม เป็นวันสุดท้ายของการประชุมนานาชาติ ก็คงต้องให้ยิ่งใหญ่พิเศษหน่อยแล้วล่ะ จะจากกันทั้งทีและปี 2010 จึงจะพบกันอีกที่เมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ต้องทำให้น่าดูหน่อย มิฉะนั้นเสียชื่อประเทศเจ้าภาพแย่สิ

เขาทำดังนี้ครับ ภาคเช้า เขาเริ่มด้วย Keynote Speech “Hand in Hand in Civic Empowerment” การอภิปรายแบบ Panel ช่วงนี้ใช้เวลา 90 นาที โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมจัด หรืออาจรับเชิญ มาจากประเทศแคนาดา 1 คน จากออสเตรเลีย 1 คน และจาก ม.เกษตรศาสตร์ 1 คน โดยใช้ผู้ดำเนินการรายการ (Moderator) จากเวียตนาม 1 คน และคนคอยเชื่อมประสานหรือร่วมปฏิบัติการ ซึ่งเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Rapporteurs ซึ่งเป็นคนไทย และเชี่ยวชาญเรื่องการสร้างจิตสำนึก และสร้างความเข้มแข็งสถาบันอีก 2 คน

นัยของการนำเสนอช่วงนี้ เพื่อที่จะเติมเต็ม ตอกย้ำคุณค่า ความสำคัญของการของการสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันภาคประชาสังคม หรือจะเป็นการให้ข้อสังเกต ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม และให้ความหวังกำลังใจ ในการร่วมมือร่วมแรงใจกันฝ่าฟันปัญหา อุปสรรค ประมาณนั้น เพราะอีกไม่กี่ชั่วโมง เราก็แยกกันกลับประเทศ หรือบ้านใครบ้านมัน

ถัดมาเอาให้เข้มข้นอีกนิดคราวนี้ให้แยกห้องเรียนรู้ ใครสนใจประเด็นใดก็เลือกเอา จัดเป็น Concurrent Sessions อีกครั้ง ดูหัวข้อแล้ว สรุปได้ว่าเป็นการเน้นให้ได้แนวคิด เชิงนโยบาย และเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนา เพราะเห็นได้จาก มีหัวข้อ เช่น การประเมินสุขภาวะ กับนโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ระบบและกลไก ของการประเมินสุขภาวะ ทัศนะและมุมมองการพัฒนาระบบประเมินสุขภาวะ และสุดท้ายคือ ความร่วมมือที่กว้างขึ้นสำหรับการพัฒนาระบบการประเมินสุขภาวะ (Transboundary HIA)

ที่สำคัญของการสัมมนาแบบนี้ จะต้องมีการตกลง ร่างหรือเขียนเป็นข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์หน่อย ในภาคบ่าย เป็นการนำเสนอ “ร่างปฏิญญาเชียงใหม่ ว่าด้วย HIA” โฆษกหญิงเสียงใส อ่านเสียงกึกก้อง พร้อมกับฉาย ให้เห็นตัวอักษรวิ่งบนจอ ดูขลังดี ข้อความที่ปรากฏ ค่อนข้างยาว ทีมผู้เชี่ยวชาญ ที่เตรียมเรื่องนี้ คงต้องไปคิด ไปเขียน รจนาคำพูดกันน่าดูล่ะ

ไหนๆก็คิด-ทำงาน-เรียนรู้ร่วมกันมาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ถึงคำถามยอดฮิต ของเหล่านักพัฒนาสังคม สำหรับสรุป หรือ ถามในตอนท้ายว่า “ เอ๊ะ...แล้วพวกเราจะทำอะไรกันต่อไป” ก็ไม่แปลกครับ ถัดมาเขาก็มีหัวข้อ เพื่ออภิปรายเป็นกลุ่มใหญ่ (Plenary Sessions) ร่วมกันอีกรอบ ภายใต้หัวข้อว่า

Future Direction of HIA in Asia-Pacific Region (ทิศทางเป้าหมายของการการขับเคลื่อน หรือให้ความสำคัญการประเมินผลกระทบด้านสุขภาวะในอนาคตสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค) คราวนี้มีวิทยากรระดับเชี่ยวชาญมากๆ ขึ้นนำเสนอ จากมหาวิทยาลัยที่นิวซีแลนด์ ตัวแทนองค์การอนามัยโลก ตัวแทนธนาคารโลก และตัวแทนจากคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มีผู้ดำเนินรายการ คือคุณหมอวิพุฒิ พูลเจริญ ซึ่งเป็นประธานบอร์ด ด้านHIA หนนี้ และคนทำหน้าที่ Rapporteur อีก 2 คน
ถัดมาเป็น การสรุปผลการสัมมนา และรายงานกิจกรรมต่างๆ ที่ทำมาทั้งหมด เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ สลับกับการเล่าเรื่องนิวซีแลนด์ ซึ่งจะเป็นประเทศเจ้าภาพต่อไป แล้วก็เล่าติดตลก นิดหน่อยว่า คราวนี้ “สนามบินที่กรุงเทพ และเชียงใหม่ เปิดแล้ว” เรียกเสียงฮาจากที่ประชุมใหญ่ (งานชาติหนนี้เลื่อนจากเดือนธันวาคมปี 51 มา เป็นเดือนเมย.52 เนื่องจากเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยทางการเมืองในประเทศไทย ในห้วงเวลาดังกล่าว)

สุนทรพจน์ปิดการสัมมนา (Closing Speech) และ Closing Ceremony เขานำเสนอกิจกรรม ที่ทำด้วยกัน ด้วยการฉาย VCD ที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ แสงสี เสียงสมบูรณ์ มีเพลงประกอบ ชื่อ What a wonderful world, และอื่นๆ สลับกับลีลา การเคลื่อนภาพที่สรุปให้เห็นเหตุการณ์ อารมณ์ต่างๆ ของผู้เข้าประชุม ตั้งแต่วันแรก จนสุดท้ายในวันนี้ เรียกเสียงฮา น้ำตา รอยยิ้ม...

การสัมมนานานาชาติที่เชียงใหม่ จบลงแล้ว แต่งาน HIA. สำหรับผม และหลายๆคนต้องก้าวต่อๆไป บรรยากาศการเรียนรู้ ที่ผสมผสานกิจกรรมต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเหมาะเจาะ ในหลากหลายๆมิติ คงทำให้ทุกคนคิด ระลึกถึง จนกลายเป็นความทรงจำดีๆ สำหรับทุกคนไปอีกยาวนาน พวกเรา 2 คน ขอบคุณทุกคนที่กรุณา และคิดถึงพวกเรา

วันที่ 6 พฤษภาคม 2552,
ศพช.เขต 5 ลำปาง

ไม่มีความคิดเห็น: