การแสดงประชามติ โดยวิธีการชุมนุม เป็นวิถีทางประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องมือบอกปัญหา บอกความต้องการของคนในชุมชนหรือสังคม แล้วนำพา ไปสู่การแก้ไขปัญหาความต้องการในสังคมร่วมกัน
ซึ่งเหมือนกับเราไปส่งเสริมให้เกิดการจัดเวทีประชาคม ก็เพื่อให้สังคมเกิดการปฏิบัติการบางอย่าง กับปัญหา นั้นๆเสีย
ต่างกันแต่ว่า ใครเป็นคนคิด สนับสนุนและทำให้เกิดกิจกรรม (Mobilize) กิจกรรมเหล่านี้ขึ้น ต่างหาก
ถ้าคนฝ่ายรัฐจัด คนมักไม่มีปฏิกิริยาอะไร และไม่ ถูกเรียกว่า “ม็อบ” แต่ถ้าตรงกันข้าม ซ้ำไม่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังเช่นกรณี การเคลื่อนไหวของชาวบ้าน/กลุ่มองค์การชาวบ้านเอง ก็ถูกมองเป็น “ม็อบ” ซึ่งมักเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า เป็นกลุ่ม ที่ไม่ค่อยปรารถนาดีต่อสังคม สักเท่าใด ฝ่ายบ้านเมืองอาจให้มีการสืบเสาะที่มาที่ไปว่า ใครเป็นแกนนำ หรืออยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว
ผมคิดว่าโดยแท้จริงแล้วการเคลื่อนไหว ของทั้ง 2 รูปแบบ ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ก็เพื่อที่จะให้ปัญหาความต้องการหรือความทุกข์ ที่กำลังพบ หรือ อาจพบในวันข้างหน้า ถูกพิจาณาแก้ไขให้ดีขึ้น แต่กิจกรรมอันแรกเสียอีก ซึ่งส่วนมาก กลับเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสนับสนุนให้ทำ เพื่อประโยชน์ของราชการ หรือพูดง่ายๆ เพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน เสียมากกว่า แต่จะแก้ปัญหาได้ผล เพียงใด ดูจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ในงานพัฒนาชุมชน และสังคมยุคใหม่ คนที่เข้าถึงประชาธิปไตยจริงๆ จึงมิได้มองว่ากิจกรรมการเคลื่อนไหวเหล่านี้เลวร้ายอะไร แต่เป็นการเคลื่อนไหวแนวราบ ที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่งเพิ่มเติมจากกิจกรรม โดยกลไกทางการเมืองการปกครอง โดยปรกติ
ในเชิงหลักการพัฒนาชุมชนและสังคม เขาเรียกขั้นตอน/วิธีการนี้ว่าเป็น “การปฏิบัติการทางสังคม” (Social Action) อย่างหนึ่ง ก็เพื่อที่จะตะโกน (Voice) ปกป้องร้องป่าว (Advocacy) ให้คนที่มีอำนาจ ในการตัดสินใจ หรือ ให้คนทั่วไปได้ลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ไข/ผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา หรือทำให้ความต้องการเป็นจริง โดยเฉพาะ คนที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายการเมือง ได้ร่วมกันทำออกมาเป็นแผนและนโยบายสาธารณะ (Social Planning and Policy) อีกที
คนที่จะทำงานพัฒนาชุมชนเชิงกระบวนการหรือความเคลื่อนไหวเหล่านี้ จำเป็นต้องมีวิธีการศึกษา/ทำงาน เพื่อให้ทราบถึงความทุกข์ยากและชะตากรรมของคนที่ประสบปัญหาจริงๆ เป็น รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนะ มุมมองค่านิยมด้วย จึงจะเข้าถึงรากเหง้าปัญหาสังคม และเพื่อมิให้เกิดการทำงานพัฒนาชุมชนแบบฉาบฉวย หรือทำงานพัฒนาชุมชน กับชุมชนแบบ “ยื้อโรค” คือ ทำมานานนม แต่ ไม่ได้แก้ปัญหาสักที
ว่าไปแล้วขั้นตอนวิธีการเหล่านี้ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
เราคงไม่ไปพูดเรื่องการออมทรัพย์กับกลุ่มชาวบ้าน ที่กำลังเดินทางไปแสดงความต้องการ เรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ จนเดือดร้อนแสนสาหัส ที่ศาลากลางจังหวัด แต่ในอนาคต คนกรมฯ เราอาจต้องฝึกฝนการเป็นคนกลางช่วยเจรจาต่อรอง เป็นทูตสันทวไมตรี ในฐานะที่เคยนั่งในหัวใจ และรู้ปัญหาชาวบ้านกลุ่มนี้ ให้สามารถเจรจาต่อรอง หรือขจัดปัดเป่าปัญหาความต้องการให้ได้รับการตอบสนองอย่างใส่ใจ และผู้ว่าราชการ หรือ นายอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่รัฐเกิดความอุ่นใจขึ้น กับเรื่องเหล่านี้ โดยมีเราเป็นผู้คอยช่วยเหลือ แนะนำอย่างมืออาชีพ หรือ
พัฒนาชุมชนอาจต้องยอมเหนื่อย หรืออาจขัดใจเจ้านายสักหน่อย ในการทำงานนอกกรอบ โดย ลงไปช่วยพัฒนาข้อเสนอ ร่วมออกแบบโครงการที่หลายหน่วยงานทำไว้ แล้วทิ้งๆขว้างๆ เราไปทำแบบต่อยอด ให้กลายเป็นเครือข่ายทำงานที่เข้มแข็ง จนสามารถปฎิบัติการทางชุมชนด้วยตัวเอง รวมถึงได้รับการตอบสนองจากทุนแหล่งทรัพยากรเพิ่มขึ้นในการทำงาน แก้ปัญหาเองได้ ตามตัวอย่างทั้งหมดที่ยกมานี้ หรือ
ทำอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นนักพัฒนาชุมชน (ที่พยายามพัฒนาให้เป็นวิชาชีพสักหน่อย) ซ้ำยังเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการพัฒนาในอำเภอ ต่อชะตากรรมของชาวบ้านที่พบว่ายังยากไร้ ที่จะขอร้อง อรรถาธิบายให้นายอำเภอ กพอ. หรือคณะทำงานต่างๆ ประชาสังคม ในอำเภอ ร่วมแรงร่วมใจกัน คิดจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของอำเภอชนิดเจ๋งๆ ด้วยจิตสำนึก ที่แท้จริงเพื่อประชาชน แล้วช่วยกัน ขับเคลื่อน เรียนรู้กันให้สนุกๆ มากกว่า การคิดทำโครงการที่ไร้สาระ ติงต๊อง ผลาญเวลา งบประมาณ โดยไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนเท่าที่ควร
การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน ต้องมีองคาพยพด้านมิติการเมืองการปกครองอยู่ด้วย คือต้องพูดถึงหรือให้ความรู้ประชาชน ไม่มากก็น้อยและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากระบบของการเมืองการปกครองบ้านเรา ยังกอร์ปด้วยนักการเมืองที่ทำงานไม่เอาไหน ชั่วและฉ้อฉลอยู่ และพวกเขาได้เข้าไปกำหนดนโยบายบริหารประเทศ ก็จะมีผล กระทบต่อชีวิตชุมชนในชนบทด้วยแน่นอน อีกประการหนึ่ง ก็คือการเข้าถึงข่าวสารดีๆอย่างทั่วถึงของประชาชนส่วนใหญ่ถ้ายังอยู่ในวงจำกัด การทำงานพัฒนาชุมชนเชิงรุกของพัฒนาชุมชนที่อยู่ในภาครัฐและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออยู่ในระบบของกระทรวงมหาดไทยเสียด้วย
คนที่รักและเข้าใจชีวิตสังคมชนบท และเป็นนักพัฒนาโดยสายเลือดโดยวิชาชีพ อาจต้องทำงานหนัก และผจญกับสิ่งท้าทายความสามารถ ในการทำงานตอบสนองความต้องการ และปัญหาที่แท้จริงของประชาชน มากมายทีเดียว ...................
5 ปีที่ผ่านมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น