กำลังเขียนบทความเรื่องธรรมชาติ หรือธรรมะของนักพัฒนาจวนเจียนจะเสร็จอยู่แล้วพอดี เนื้อหาตั้งใจให้นักพัฒนาอย่างเราๆ ได้เข้าใจธรรมชาติของการทำงานในระบบงานพัฒนา ตามประสาคนที่พอมีไฟในเรื่องนี้หลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งได้พูดถึงปัญหา อันเกิดจากระบบงานในองค์การ สภาพสิ่งแวดล้อมในการทำงาน การมีส่วนร่วม และชีวิตของผู้คนในแวดวง ซึ่งสุดท้าย ปรากฏการณ์ บรรยากาศการทำงานพัฒนาเหล่านั้น จะนำไปสู่การเรียนรู้ สร้างแรงจูงใจ บันดาลใจที่จะนำพาไปสู่การร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ มีความจริงจัง มากขึ้น คนทำงานมีความสุขมากขึ้น แต่พอถึงเวลานี้วันนี้ ต้องขอยกเอาไว้พูดกันในหนต่อไป
เอาเป็นว่า จนถึงวัยเกือบสุดท้ายของชีวิตราชการแล้ว ผมยังเชื่อเหมือนคนทั้งหลายว่า งานพัฒนาชุมชน เป็นงานที่ยาก และหนัก (จริงๆ )
เปิดปฏิทินการทำงาน และสมุดบันทึกส่วนตัวดู เดือนนี้จรดเดือนหน้า ดูมีงานที่คิดเตรียม รับปาก นายสั่ง และนัดหมายใครต่อใครถูกบันทึก ไว้รอทำ เต็มไปหมด แยกได้เป็นทั้งงานหลวง และงานราษฎร์ว่างั้นเถอะ ชีวิตคนราชการแต่ต้องทำงานพัฒนาชุมชน และอยู่มหาดไทย ก็ดูเหมือน เป็นเช่นนี้แหละชั่วนาตาปี มีสุข มีทุกข์ เหนื่อย ล้า คละเคล้ากัน
ผมเหนื่อยมาหลายวันต่อต่อกัน มีงานหนังสือ เอกสาร งานประชุม ประกอบกับช่วงนี้อากาศร้อนๆหนาวๆ บางวันฝนตก มีเวลาและโลกส่วนตัวบ้างห้วงสั้นๆ บังเอิญเห็นบทความชื่อหมายเหตุ ก.พ. หัวข้อ “ ชีวิตสมดุลของข้าราชการ” โดยนายพิษณุโลก เขาเขียนไว้น่าสนใจ จึงขอคัดนำมาเสนอ ดังนี้ครับ
“.... ผมเคยเล่าว่า ดร.ภาณุมาคย์ พงษ์อติชาต ข้าราชการรุ่นใหม่ไฟแรงของสำนักงาน ก.พ. กำลังจับงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง คือการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานของบุคลากรภาครัฐของไทย หรือที่ใช้ภาษาอังกฤษติดปากกันว่า Work Life Balance
พร้อมกับเปิดเผยงานวิจัยให้ดูเห็นกันจะๆ หนึ่งชิ้น คือการเสนอให้ใช้ระบบการหยุดทดแทน เพื่อให้ข้าราชการได้มีโอกาสเลือกวันหยุดทำงาน เป็นการชดเชยได้ หากจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา หรือต้องมาทำงานในวันหยุด
ดร.ภานุภาคย์ “ฟันธง” ว่า แนวคิดในเรื่องสร้างสมดุลนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในเมืองไทย แต่ก็น่าดีใจที่หลายฝ่ายเริ่มหันมาให้ความสนใจกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดให้การสร้างความสมดุลของชีวิตและการทำงาน เป็นมิติหนึ่งในโครงการนำร่องการพัฒนาสมรรถนะการบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Scorecard) ของส่วนราชการ ที่มุ่งให้ประเมินคุณภาพของคนทำงาน โดยให้ความสำคัญกับลักษณะ 3 ประการ คือ
(1) ความพอใจของคนทำงานที่มีต่อสภาพแวดล้อม ระบบ บรรยากาศ และการนำ IT มาใช้ในการทำงาน เพื่อให้คนทำงานง่ายขึ้น ได้งานมากขึ้น แต่เหนื่อยน้อยลง (2) สร้างสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมที่พึงมีให้แก่คนทำงานในองค์กร (3) ความสัมพันธ์อันดีระหว่างพนักงานของรัฐ
และหากจะมองกันให้รอบด้านจริงๆ แล้ว ดร.ภาณุภาคย์ เล่าว่า จำเป็นต้องพิจารณามิติต่างๆ ที่แวดล้อมตัวเรา รวมเข้าไปด้วย ซึ่งก็คือความยืดหยุ่นในการทำงาน การลาหยุดงานทั้งที่ได้รับค่าตอบแทน และไม่รับค่าตอบแทน การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การดูแลผู้อยู่ในอุปการะ ความช่วยเหลือทางการเงิน การมีส่วนร่วมในชุมชน การมีส่วนร่วมในการบริหาร และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร
พร้อมทั้งการสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนค่านิยมจากเดิมที่เคยให้คุณค่ากับการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ (Long-hour Culture) ไปสู่การให้คุณค่ากับผลการปฏิบัติงาน และชีวิตด้านอื่นๆ นอกจากที่ทำงานมากขึ้น
เคยถามตัวเองไหมครับว่า การที่ต้องนั่งทำงานหามรุ่งหามค่ำ หรือบ้านบ้านมืดๆ ทุกวันนั้น เราทำอะไรอยู่...
บางท่านอาจบอกว่า มีงานสุมเข้ามาจนลุกไม่ขึ้น จะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะไม่อยากให้งานค้าง ต้องสู้จนเสร็จแล้วจึงกลับบ้าน แบบนี้รับรองว่า เมื่อกลับถึงบ้านก็แทบไม่อยากพูดกับใคร..ชีวิตกับสมาชิกที่บ้านก็ขาดหายไป
บางท่านก็บอกว่า งานไม่ค่อยเท่าไรหรอก แต่เขียนหนังสือฉบับเดียว ถูกส่งกลับไปกลับมา ให้แก้นั่นแก้นี่จนหมดวัน.. แบบนี้เรียกว่า ไม่ได้งาน แถมเสียเวลาอย่างไม่คุ้มค่าด้วย
ผลที่เกิดจากเหตุการณ์เหล่านี้ สร้างความไม่พอดีให้กับชีวิตทั้งนั้นครับ ”
อ้อ....อ่านแล้วก็ใจชื้นขึ้นมาบ้าง เพราะเคยคิดว่า ตัวเองอยู่ในแวดวงที่โดดเดี่ยว ว่าแต่อีกสักครู่ผมต้องเข้าประชุม เรื่องด่วนสุดยอดสำคัญแล้วล่ะ เจ้านายท่านกรุณาโทรศัพท์ไปบอกที่บ้านเมื่อคืน ขณะที่ผมเอางานแฟ้มใหญ่ไปนั่งทำที่บ้านอยู่พอดี
5 ปีที่ผ่านมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น