วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2550

Partnership broker;ผู้ชักนำการพัฒนา- ฤาจะเป็นบทบาทใหม่ของคนเขต 5?

คำนำ : วันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา อากาศร้อนมาก เราเองตัดสินใจไม่ออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านกัน มีเพื่อนรักจากกรุงเทพแวะมาเยี่ยมเยียน กับมอบหนังสือให้อีก 2 เล่มใหญ่ ก็พยายามแกะ เก็บความ เขียนมาเล่าต่อ อย่างย่นย่อเท่าที่ทำได้ คิดว่าสิ่งที่เสนอต่อไปนี้ อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจบ้าง...

คงเป็นอีกบทบาทหนึ่งของผู้ทำงานพัฒนาชุมชนยุคใหม่ บทบาทที่ว่านี้ เริ่มเป็นที่กล่าวถึงกันมากในระยะหลัง ในฐานะเป็นหลักการของการพัฒนายุคใหม่ นั่นคือ บทบาทการเป็นผู้ชักนำการพัฒนา (Partnership broker) ซึ่งจะเทียบกับการเป็น “นักเชื่อมประสาน” ก็คงไม่แตกต่างกันมากนักกระมัง การชักนำการพัฒนาเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะที่พวกเราอาจต้องหันกลับมาเรียนรู้กัน ซึ่งในระยะยาว ย่อมเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และอาจหมายถึงความอยู่รอดของหน่วยงาน

ผู้ชักนำการพัฒนา จึงเป็นคนกลาง หรือผู้ทำหน้าที่คอยเชื่อมประสานความต้องการ ระหว่างบุคคล กลุ่ม องค์กร ไม่ว่ารัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ หรือประชาคม เพื่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจ และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผู้ชักนำการพัฒนา จะต้องมีองค์ความรู้ ทั้งศาสตร์และศิลปะในการทำหน้าที่กับพันธมิตรต่างๆ (Partners)

กล่าวกันว่า ผู้ชักนำการพัฒนาที่ดี ควรเป็นผู้ที่สามารถทำบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบในเรื่องสำคัญ ประเภทต่างๆ ต่อไปนี้
1. เป็นผู้ทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการธุรกิจ ที่จะทำให้ธุรกิจนั้นๆประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย
2. เป็นเสมือนเลขานุการในการจัดทำ รวบรวม เก็บรักษาและให้ข้อมูลที่ดีในการติดต่อสื่อสารกัน
3. เป็นเสมือนครู ในการคอยกระตุ้นจิตสำนึก และเตรียมความพร้อมและความเข้มแข็ง
4. เป็นเสมือนพยาบาล - เพราะคอยประคับประคอง เยียวยารักษาความสัมพันธ็มิให้เกิดปัญหา
5. เป็นเสมือนผู้ปกครอง ที่คอยพัฒนาระดับความสัมพันธ์ให้เติบโตและแนบแน่น
6. เป็นเสมือนผู้คอยพิทักษ์ เพราะคอยตรวจสอบพันธมิตรว่ามีความสุจริต โปร่งใสต่อกันหรือไม่ เพียงใด

สำหรับผู้บริหาร หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Leader) ยุคใหม่ บทบาทนี้ เป็นบทบาทที่ท้าทาย เนื่องจากเปลี่ยนบทบาท ความเป็นผู้นำจากการพยายามเป็นนายใหญ่ หรือ ตัวชูโรงในกระบวนการบริหารจัดการทุกเรื่อง แต่เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้นำอยู่เบื้องหลังฉาก หรือเบื้องหลังความสำเร็จมากกว่า ทั้งนี้ โดยทำหน้าที่เป็นผู้คอยกระตุ้น (Catalyst) ในกระบวนการบริหารจัดการ

แน่นอนว่าผู้นำหรือผู้บริหารแบบนี้ ต้องไม่ธรรมดา แต่เป็นผู้ที่มีขีดความสามารถสูง แตกต่างจากการเป็นผู้นำแบบเดิมๆ เช่น ต้องมีขีดความสามารถในเรื่องต่อไปนี้
1. ความสามารถในการนำสร้าง ความชัดเจนในเรื่องปัญหาที่ซับซ้อนได้ดี ด้วยเหตุที่ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงในทุกด้านเร็วและมีความซับซ้อน ระบบข่าวสารข้อมูลเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากเช่นกัน
2. ทักษะการช่วยเหลือและเอื้ออำนวยการ ให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มองค์กรที่มีความแตกต่างหลากหลาย
3. ความพอใจและพร้อมทำงานท้าทาย
4. เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ให้คนอื่นอยากทำงานอย่างเห็นอนาคต
5. มีความตั้งใจสูงที่จะสนับสนุนให้ผู้อื่นประสบผลสำเร็จ เกิดความเข้มแข็งขึ้น

กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าภาวะผู้นำแบบไม่นิยมสั่งการ(Non-directive leadership) จัดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด ที่นำไปสู่การความเป็นพันธมิตร หรือการร่วมมือร่วมใจ และมีผู้ชักนำด้านการพัฒนาเกี่ยวข้องอยู่

แต่ สำหรับในระดับบุคคล เข้าใจว่ามีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนของเราจำนวนไม่น้อย พยายามหรือได้ทำบทบาทในฐานะผู้ชักนำที่ดีมาบ้างแล้ว ไม่มากก็น้อย ในพื้นที่จังหวัดอำเภอตัวเอง เพียงแต่อาจโชคไม่ดี ตรงที่เรายังขาดเวทีดีๆสำหรับคนเหล่านี้เท่านั้น แต่แม้กระนั้น เรื่องนี้ คงเป็นเครื่องยืนยัน ว่าขณะนี้ การทำงานพัฒนาชุมชนให้บังเกิดผลดี เราไม่สามารถทำงานได้ตามลำพัง โดดๆ หรือเป็นพระเอกคนเดียว ตั้งรับ และแบบเดิมๆได้อีกต่อไปแล้ว

ตัวอย่างที่ดีที่พอยกตัวอย่างได้ เช่น กรณี พัฒนาชุมชนอำเภอสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเก็บและใช้ประโยชน์ข้อมูล จปฐ. แต่กรณีนี้ หากพัฒนาชุมชน จะทำบทบาท เป็นผู้ชักนำการพัฒนาระหว่างองค์กรท้องถิ่นกับองค์กรประชาชนในหมู่บ้านให้ได้ผลดี แบบมืออาชีพ ก็น่าที่จะทำเรื่องนี้ให้ดูเนียนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ต้องทำงานในฐานะผู้ชักนำที่ดี และทำงานอย่างมีระบบมากขึ้น รวมถึงให้คนได้คิด ตัดสินใจได้มากขึ้น
สำหรับ ในระดับศพช.เขต เมื่อเร็วๆนี้ เรามีงาน ที่เป็นเรื่องการสร้างพันธมิตรพัฒนา โดย ศพช. เขตทำหน้าที่เป็นผู้ชักนำการพัฒนา และพอจะยกเป็นตัวอย่างได้ ณ ที่นี้ คือโครงการการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ชุมชน หรือ “KBO” (Knowledge-based OTOP)ที่ได้ทำนำร่องเขตละ 1 จังหวัด โครงการดังกล่าวนี้ได้ดำเนินไปเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนได้อ่านเอกสารรายงานผลการดำเนินงานฯ แล้ว แต่ก็รู้สึกเสียดายเล็กน้อย ที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการได้ต่อเนื่อง มิฉะนั้น คงมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบตรงไปตรงมากันบ้าง (แต่ก็เฝ้าสังเกต ติดตามอยู่ห่างๆ) โครงการนี้ดูจะเจาะจงให้พัฒนาชุมชน ได้ฝึกหัดการทำงานอย่างพันธมิตรกับภาคส่วนอื่น หลายแหล่ง เช่น สถาบันการศึกษา กับภาคธุรกิจ ภาคประชาคม และที่สำคัญกำลังฝึกหัด ให้คนศพช. เขตเราทำบทบาทเป็นผู้ชักนำการพัฒนา อย่างมืออาชีพ มากขึ้น - ซึ่งได้แต่หวังว่า บทเรียนที่ได้รับคงได้มีการเอาไปปรับใช้ประโยชน์ อย่างจริงจังมากขึ้น

ในที่นี้ เพียงจะขอนำเสนอแนวทางที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป เพื่อหน่วยงานพัฒนาชุมชน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำหน้าที่ผู้ชักนำที่ดี
ดังนี้ ;
(1) การสนับสนุนให้มีการจัดทำ MoU ระหว่างหน่วยงาน- เอกสารเช่นนี้ มีจุดประสงค์ เพื่อมุ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจเบื้องต้น ว่าสองหรือหลายหน่วยงาน ปรารถนาที่จะร่วมมือกันทำงาน
(2) การสนับสนุนให้มีข้อตกลงความร่วมมือ (Partnering Agreement) - เอกสารที่จัดทำร่วมกันและมีการระบุบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ และกระบวนการตัดสินใจของหน่วยงานที่ตกลงร่วมมือกัน

(3) วาระการประชุม ที่ได้ตกลงหรือจัดทำไว้ หรือ Minute of Meetings – เป็นเอกสารระบุสิ่งที่ได้ตัดสินใจหรือทำร่วมกันระดับหนึ่งแล้ว โดยระบุประเด็นกิจกรรมสำคัญเพื่อให้ผู้เข้าประชุม หรือขาดประชุมได้ทราบถือปฏิบัติ อ้างอิง หรือประสานกับบุคคล องค์กรอื่น เช่น กรณี องค์กร CIU. แห่งสวีเดน มีข้อตกลงในลักษณะนี้ ในเรื่องของการทำกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาอาชีพแก่ อดีตเยาวชนไทยในโครงการแลกเปลี่ยนในชุมชน กับกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อ ที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันทำงานต่อไป กับท้องถิ่น และหน่วยงานพันธมิตรอื่น
(4) เอกสารสรุปย่อโครงการ (Project description) – เอกสารรายละเอียดโครงการ กิจกรรมระบุวัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีการดำเนินงาน และระยะเวลา เพื่อให้เกิดพันธสัญญา หรือบอกแหล่งทรัพยากรที่จำเป็นที่จะต้องจัดหาร่วมกันต่อไปจากพันธมิตรอื่น
(5) เอกสารบันทึกฐานข้อมูล/แหล่งทรัพยากร (Resource Records) – เอกสารบ่งบอก แหล่งที่ตั้ง ขนาด ปริมาณของทรัพยากร ที่จำเป็นที่ต้องใช้ในอนาคต รวมถึงระบุการใช้ทรัพยากรที่จำเป็นร่วมกัน
(6) จดหมายข่าว (Newsletter) – เอกสาร ที่จะบอกความเคลื่อนไหวของกิจกรรม เพื่อ ให้ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่า พันธมิตร แหล่งสนับสนุนทุน ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอก ได้ทราบความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ จะได้เกิดแรงบันดาลใจ ความตั้งใจ ที่จะทำภารกิจร่วมกันอย่างจริงจัง
(7) กรณีศึกษากิจกรรมที่ทำ (Case Studies) – เป็นเอกสารที่บอกผลการดำเนินงานความเป็นมาเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง และบุคคลภายนอกสะดวกในการศึกษา ติดตาม ตลอดจนบุคคลหน่วยงานภายนอกจะได้รับประโยชน์
(8) การเปิดแถลงข่าวต่อประชาชน/หรือสื่อ (Information for the general public/Media) เป็นเอกสาร หรือถ้อยความที่พันธมิตรผู้ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน ตกลงและแถลงผลความก้าวหน้า หรือความสำเร็จร่วมกัน

จากที่กล่าวมาแล้ว คงได้พบว่า มีคนของเรา หรืออาจเป็นคนระดับรากหญ้าของเรา เป็นจำนวนมาก ได้ทำบทบาทของการเป็นผู้ชักนำการพัฒนา มาแล้วมากพอสมควร แต่การเป็นผู้ชักนำการพัฒนาที่ดี ซึ่งจะส่งประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง และอาจนำพาไปสู่ความอยู่รอดขององค์กรด้วยนั้น คงเป็นภารกิจที่ท้าทายการทำงานของพวกเราชาวเขต 5 ทุกคน ?

************




หมายเหตุ :
- คำว่า “ผู้ชักนำการพัฒนา” (Partnership Broker) เป็นศัพท์ที่ผู้แปลได้บัญญัติขึ้นเอง เท่าที่ทราบ ยังไม่มีใครบัญญัติ คำนี้ไว้
- บทความนี้แปล/ เขียน เรียบเรียงจากหนังสือของ UNDP. ชื่อ
1. The Brokering Guidebook, Navigating effective sustainable development partnership
2. Partnering for Development - Making It Happen

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2550

มายาคติการจัดการความรู้ที่ ศพช.เขต 5

คำนำ : บทความนี้เขียนก่อนมีโครงการสัมมนาเรื่องการจัดการความรู้ศพช.เขตเรา เพียง 1 อาทิตย์ เพียงแค่ตั้งใจเตือนสติพี่น้องพช. เรา มิได้มีอคติ เจตนาร้ายต่อใคร รวมถึงเจ้านายทุกคนอันเป็นที่รัก อยากสะท้อนว่า เรื่องเคเอ็ม. เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากจะทำเรื่องฮ็อตฮิตอย่างนี้ให้เป็นจริง และสำเร็จจริง มันมีประเด็นการบริหารจัดการ ที่ต้องพิจารณาร่วมกันอีกมาก...

เมื่อพูดถึงเรื่องการจัดความรู้ หรือ เคเอ็ม ของ ศพช.เขต 5 ทีไร ผมต้องสะดุ้งทุกครั้งไป เหตุที่มีอาการเช่นนี้ มิได้หมายความว่า ผมมีความรังเกียจใดๆ ต่อกระบวนการจัดการความรู้ หามิได้

แต่ที่รู้สึกเช่นนี้ เกิดจากการได้เห็นความตั้งอกตั้งใจ ของเพื่อนนักวิชาการด้านการพัฒนาชุมชน ที่อุตสาห์พยายาม ทำเรื่องเหล่านี้มาอย่างตั้งอกตั้งใจมาแรมปี นับตั้งแต่ เริ่มตั้งไข่เรื่องการจัดการความรู้คราวไปศึกษาดูงาน ฟังบรรยายจากผู้รู้นอกหน่วยงานมามากมาย แต่ฟังมาว่าสุดท้าย ฝ่ายผู้บริหารกลับมองว่า มีผลงานไม่เข้าเป้าเสียนี่ อีกกลุ่มที่ต้องบอกว่าน่าเห็นใจ ก็คือคนระดับล่างที่ตั้งใจเต็มร้อย ต้องอยู่กับความเป็นจริง และต้องเป็นเจ้าภาพหลัก ในการจัดประชุม หารือ หรือขับเคลื่อนเรื่องนี้ ต้องเหน็ดเหนื่อยกับภารกิจเตรียมการ วางแผนกิจกรรม โครงการที่ต้องผูกไว้กับระบบงบประมาณ การตัดสินใจของระบบองค์การ กว่าจะผ่านความเห็นชอบ แต่ละขั้นตอน ขนาดยังไม่ได้ถึงขั้นดำเนินการ ก็เหนื่อยจนหืดขึ้นคอ เพื่อนนักวิชาการหลายคนมองว่า การจัดการความรู้ เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ที่ต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องที่ต้องให้ซึมลึกเข้าไปในสายเลือด แล้วในที่สุดกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในองค์การเล็กๆของเรา การจัดการความรู้ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ สักแต่ว่าผู้มีอำนาจสั่งให้ทำ แต่ต้องอาศัยความเต็มอกเต็มใจ ต้องอาศัยแรงกระตุ้นจูงใจ ใช้เหตุและผลในการคิด คนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องพร้อมที่จะหนุนเสริม มิฉะนั้น จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากสิ่งที่เรียกว่าการจัดการความรู้ – นี่ เป็นข้อทุกข์ใจที่ต้องฝืนใจทำหรือต้องฝืนใจฟังครับ

ประการที่ต่อมา ผมเสียดายเวลา บทเรียนการทำงานที่ผ่านมา ที่เพื่อนหลายคนมองออกว่า เราได้สิ่งที่เห็นเป็นบทเรียนการทำงานพัฒนาอยู่มากพอแล้ว แต่เรากลับไม่ได้นำมาใช้ หรือคิดแก้ไขปัญหาเพื่อทำงานต่อไปให้ราบรื่นดังที่เราต้องการ แต่เรากลับเขวไปตามข้อสั่งการ หรือความคิดของผู้บริหารเสียแทบทุกเรื่องทุกกรณี ที่ผมเห็นว่า แย่ที่สุด ก็คือ ไม่สามารถมองเห็น กระบวนการเคลื่อนไหวอันเนื่องจากการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ ที่ผ่านมาได้ ว่าที่แท้แล้ว การจัดการความรู้ของศพช. เขต 5 สองปีที่ผ่านมา สามารถวิเคราะห์ แลเห็นได้ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพด้วยซ้ำไป กรณีเวทีวันพุธ กิจกรรมการถอดบทเรียน การเขียน การแสดงออกในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ของนักวิชาการระดับล่าง ก็เป็นผลพวง ที่บอกได้ว่า คุณูปการจากการจัดการความรู้ของ ศพช.เขต 5 มิได้ อยู่บนความว่างเปล่า แต่ก็แปลกใจ ที่ดูเสมือนกิจกรรมความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในสายตา กลับถูกมองไปในทางตรงกันข้ามเสียหมด ทำให้นักวิชาการพัฒนาจำนวนมาก มักมีคำถามคาใจโยงถึงความเชื่อและศรัทธา ว่าถ้าเช่นนั้น ผู้บริหารระดับสูง หรือผู้อำนวยการศพช.เขต 5 ที่เป็น “ นายใหญ่ ” ของพวกเรา มีความรู้/ความเข้าใจในหลักการจัดการความรู้ ตรงกับนักวิชาการหรือนักปฏิบัติการพัฒนาชุมชนส่วนใหญ่หรือเปล่า สมมุติฐานนี้ใครตั้ง จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แล้วเราควรจะจัดการ หรือทำอะไรร่วมกันต่อไปล่ะ เพื่อให้การจัดการความรู้ของ ศพช.เขต 5 ทัดเทียมการจัดการความรู้ ของที่อื่นๆ
หรือว่าคิดว่า แค่การมีคำสั่งให้ทุกคนทำกิจกรรม 5 ส การให้นักวิชาการออกไปทำความสะอาด ดูแลบริเวณสถาน ที่รอบตึกเพียงพอแล้วสำหรับการจัดการความรู้ หรือพูดได้เพียงว่า ไม่เคยเห็นรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้

ประการสุดท้าย ผมไม่สบายใจ เพราะมีความเข้าใจ ในหลักการจัดการความรู้ เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ ว่า การจัดการความรู้ เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ดังที่ว่าแล้ว เป็นบรรยากาศการทำงานบนพื้นฐานความสุข ความตระหนัก เต็มใจ ไม่ใช่การออกกฎระเบียบ บังคับ อาจพูดแบบง่ายๆว่า ต้องเป็นเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยของคนในองค์การ เหมือนที่ทุกคนต้องการปฏิบัติต่อประชาชนนอกองค์การ คือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ด้านจิตใจมากกว่าด้านวัตถุ ดังนั้น หากคนส่วนใหญ่ขาดการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง หรือบังเอิญ จัดเป็นประเภทต้องคอยรับคำสั่งการ ความคิดริเริ่ม หรือความต้องการของคนส่วนใหญ่ รวมถึง วัฒนธรรมองค์การ ระบบ ระเบียบ ขั้นตอนราชการ ที่มีอยู่มากมาย ที่มิได้มีการพูดถึง ตีความเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน หรือจัดการความรู้ เลยนั้น จะทำให้การจัดการความรู้เป็นไปตามหลักการที่เป็นจริงหรือไม่
นอกจากนี้ ผมยังเกรงว่า หากเราทำเรื่องจัดการความรู้ แบบลวกๆ หรือขาดการส่งเสริมให้คนในองค์การมีส่วนร่วมด้วยจิตใจจริงๆ ในที่สุดวิญญูชนอื่นๆ ก็จะมองว่า การจัดการความรู้ของศพช. เขต 5 ที่แท้จริงแล้ว เป็นแค่การสร้างภาพ และแค่ราคาคุย ผมไม่อยากได้ยินได้เห็นเช่นนั้น จริงๆ ...ช่วยด้วย...

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2550

คนอื่นเขาคิดอย่างไรต่อสภาพการทำงานคล้ายของเรา

กำลังเขียนบทความเรื่องธรรมชาติ หรือธรรมะของนักพัฒนาจวนเจียนจะเสร็จอยู่แล้วพอดี เนื้อหาตั้งใจให้นักพัฒนาอย่างเราๆ ได้เข้าใจธรรมชาติของการทำงานในระบบงานพัฒนา ตามประสาคนที่พอมีไฟในเรื่องนี้หลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งได้พูดถึงปัญหา อันเกิดจากระบบงานในองค์การ สภาพสิ่งแวดล้อมในการทำงาน การมีส่วนร่วม และชีวิตของผู้คนในแวดวง ซึ่งสุดท้าย ปรากฏการณ์ บรรยากาศการทำงานพัฒนาเหล่านั้น จะนำไปสู่การเรียนรู้ สร้างแรงจูงใจ บันดาลใจที่จะนำพาไปสู่การร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ มีความจริงจัง มากขึ้น คนทำงานมีความสุขมากขึ้น แต่พอถึงเวลานี้วันนี้ ต้องขอยกเอาไว้พูดกันในหนต่อไป
เอาเป็นว่า จนถึงวัยเกือบสุดท้ายของชีวิตราชการแล้ว ผมยังเชื่อเหมือนคนทั้งหลายว่า งานพัฒนาชุมชน เป็นงานที่ยาก และหนัก (จริงๆ )

เปิดปฏิทินการทำงาน และสมุดบันทึกส่วนตัวดู เดือนนี้จรดเดือนหน้า ดูมีงานที่คิดเตรียม รับปาก นายสั่ง และนัดหมายใครต่อใครถูกบันทึก ไว้รอทำ เต็มไปหมด แยกได้เป็นทั้งงานหลวง และงานราษฎร์ว่างั้นเถอะ ชีวิตคนราชการแต่ต้องทำงานพัฒนาชุมชน และอยู่มหาดไทย ก็ดูเหมือน เป็นเช่นนี้แหละชั่วนาตาปี มีสุข มีทุกข์ เหนื่อย ล้า คละเคล้ากัน

ผมเหนื่อยมาหลายวันต่อต่อกัน มีงานหนังสือ เอกสาร งานประชุม ประกอบกับช่วงนี้อากาศร้อนๆหนาวๆ บางวันฝนตก มีเวลาและโลกส่วนตัวบ้างห้วงสั้นๆ บังเอิญเห็นบทความชื่อหมายเหตุ ก.พ. หัวข้อ “ ชีวิตสมดุลของข้าราชการ” โดยนายพิษณุโลก เขาเขียนไว้น่าสนใจ จึงขอคัดนำมาเสนอ ดังนี้ครับ
“.... ผมเคยเล่าว่า ดร.ภาณุมาคย์ พงษ์อติชาต ข้าราชการรุ่นใหม่ไฟแรงของสำนักงาน ก.พ. กำลังจับงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง คือการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานของบุคลากรภาครัฐของไทย หรือที่ใช้ภาษาอังกฤษติดปากกันว่า Work Life Balance

พร้อมกับเปิดเผยงานวิจัยให้ดูเห็นกันจะๆ หนึ่งชิ้น คือการเสนอให้ใช้ระบบการหยุดทดแทน เพื่อให้ข้าราชการได้มีโอกาสเลือกวันหยุดทำงาน เป็นการชดเชยได้ หากจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา หรือต้องมาทำงานในวันหยุด

ดร.ภานุภาคย์ “ฟันธง” ว่า แนวคิดในเรื่องสร้างสมดุลนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในเมืองไทย แต่ก็น่าดีใจที่หลายฝ่ายเริ่มหันมาให้ความสนใจกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดให้การสร้างความสมดุลของชีวิตและการทำงาน เป็นมิติหนึ่งในโครงการนำร่องการพัฒนาสมรรถนะการบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Scorecard) ของส่วนราชการ ที่มุ่งให้ประเมินคุณภาพของคนทำงาน โดยให้ความสำคัญกับลักษณะ 3 ประการ คือ
(1) ความพอใจของคนทำงานที่มีต่อสภาพแวดล้อม ระบบ บรรยากาศ และการนำ IT มาใช้ในการทำงาน เพื่อให้คนทำงานง่ายขึ้น ได้งานมากขึ้น แต่เหนื่อยน้อยลง (2) สร้างสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมที่พึงมีให้แก่คนทำงานในองค์กร (3) ความสัมพันธ์อันดีระหว่างพนักงานของรัฐ

และหากจะมองกันให้รอบด้านจริงๆ แล้ว ดร.ภาณุภาคย์ เล่าว่า จำเป็นต้องพิจารณามิติต่างๆ ที่แวดล้อมตัวเรา รวมเข้าไปด้วย ซึ่งก็คือความยืดหยุ่นในการทำงาน การลาหยุดงานทั้งที่ได้รับค่าตอบแทน และไม่รับค่าตอบแทน การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การดูแลผู้อยู่ในอุปการะ ความช่วยเหลือทางการเงิน การมีส่วนร่วมในชุมชน การมีส่วนร่วมในการบริหาร และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร

พร้อมทั้งการสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนค่านิยมจากเดิมที่เคยให้คุณค่ากับการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ (Long-hour Culture) ไปสู่การให้คุณค่ากับผลการปฏิบัติงาน และชีวิตด้านอื่นๆ นอกจากที่ทำงานมากขึ้น

เคยถามตัวเองไหมครับว่า การที่ต้องนั่งทำงานหามรุ่งหามค่ำ หรือบ้านบ้านมืดๆ ทุกวันนั้น เราทำอะไรอยู่...

บางท่านอาจบอกว่า มีงานสุมเข้ามาจนลุกไม่ขึ้น จะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะไม่อยากให้งานค้าง ต้องสู้จนเสร็จแล้วจึงกลับบ้าน แบบนี้รับรองว่า เมื่อกลับถึงบ้านก็แทบไม่อยากพูดกับใคร..ชีวิตกับสมาชิกที่บ้านก็ขาดหายไป

บางท่านก็บอกว่า งานไม่ค่อยเท่าไรหรอก แต่เขียนหนังสือฉบับเดียว ถูกส่งกลับไปกลับมา ให้แก้นั่นแก้นี่จนหมดวัน.. แบบนี้เรียกว่า ไม่ได้งาน แถมเสียเวลาอย่างไม่คุ้มค่าด้วย
ผลที่เกิดจากเหตุการณ์เหล่านี้ สร้างความไม่พอดีให้กับชีวิตทั้งนั้นครับ ”

อ้อ....อ่านแล้วก็ใจชื้นขึ้นมาบ้าง เพราะเคยคิดว่า ตัวเองอยู่ในแวดวงที่โดดเดี่ยว ว่าแต่อีกสักครู่ผมต้องเข้าประชุม เรื่องด่วนสุดยอดสำคัญแล้วล่ะ เจ้านายท่านกรุณาโทรศัพท์ไปบอกที่บ้านเมื่อคืน ขณะที่ผมเอางานแฟ้มใหญ่ไปนั่งทำที่บ้านอยู่พอดี

ช่องติดต่อสื่อสารข้อมูล/รายงาน กับ 6 จังหวัด

เรียน นวช.พช.จาก 6 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และแม่ฮ่องสอน)ที่เกี่ยวข้องครับ ผมขอทดลอง สำรองใช้ช่องนี้ ในการติดต่อ สื่อสารกับท่าน ในเรื่องข้อมูลการรายงานบางเรื่อง ที่ผมต้องติดต่อท่านในโอกาสต่อไป

ขอบคุณครับ

ภาษิต คำคมเจ็บๆจากที่ต่างๆ

คำนำ : วันหนึ่งเจ้านายเรียกใช้ผม ให้ช่วยค้นหาภาษิต คำคมเพื่อเอาไปใช้ประกอบงาน อ้างอิงสักหน่อย ทำไปทำมา ผมก็ได้ความรู้เรื่องนี้ไปด้วย จึงเก็บรวบรวมไว้ให้คนอื่นๆอ่านเล่น บางอัน ก็เขียนเพิ่มเข้าไปเสนอเจ้านาย ให้ฮือฮากันเล่น

(1)
ไปหาประชาชน รัก และเรียนรู้จากเขา;
วางแผน ช่วยเหลือ;
เริ่มจากที่เขามี ใช้เวทีที่เขารู้
ชูเชิดผู้นำ
ครั้นภารกิจเสร็จ งานก้าวหน้า
มวลประชาชนชื่นชม
“ว่า แท้จริงแล้ว เราทำได้ด้วยพวกเราเอง”
Go in search of your people: Love Them; Learn from Them; Plan with Them; Serve Them.Begin with what They have;Build on what They know.
But of the best leaders when their task is accomplished, and their work is done,The people all remark:"We have done it ourselves."
(2)
หากโลกนี้มีสันติภาพ โลกจะเต็มด้วยรอยยิ้มสดใส ประดุจมวลดอกไม้บาน
ครอบครัว และผู้คนในสังคมของเรา จะเกิดความสุขจากคุณูปการแห่งสันติภาพและสันติสุขนั้น
(ทิช นัช ฮันท์)


If we are peaceful, if we are happy,we can smile and blossom like a flowerand everyone in our family,in our entire society will benefit from our peace." Thich Nhat Hanh
(3)
จงช่วยกันทำให้แสงเทียนส่องสว่าง เพื่อเราทุกคนที่นี่ และที่อื่นๆ
Keep a candle burning for all of us, here and beyond.
(4)
อย่ากลัวความล่าช้า แต่จงกลัวการหยุดนิ่ง
Be not afraid of growing slowly, but afraid only of standing still

(5)
ขุดบ่อน้ำ ก่อนที่คุณจะกระหายน้ำ
Dig the well before you are thirsty

(6)
ทำสิ่งดี ได้รับสิ่งดี ทำสิ่งไม่ดี ได้รับสิ่งไม่ดี
Do good, reap good, do evil, reap evil.

(7)
อยากรู้หนทางไปข้างหน้า ให้ถามคนที่เดินมาก่อน
To know the road ahead, ask those coming back.

(8)
คนที่ไม่กล้าถาม ย่อมไม่เกิดการเรียนรู้
He who is afraid to ask is ashamed of learning
ภาษิตดัชช์

(9)
ถ้าคุณไม่พยายาม ทำสิ่งนอกเหนือความเก่งของคุณ ในที่สุดคุณจะไม่เก่ง
Unless you try to do something beyond what you have already mastered, you will never grow. (Ronald E. Osborn)

(10)
สมประสงค์ คือ คุณมีโทรศัพท์ 1 เครื่อง
ฟุ่มเฟือย คือ คุณมีโทรศัพท์ 2 เครื่อง
แต่ สวรรค์ คือ คุณไม่จำเป็นต้องมีโทรศัพท์เลย
Utility is when you have one telephone, luxury is when you have two, and paradise is when you have none.

(11)
อี๊ด อ้อย และ เอ๋
รู้ไหม เพราะฉันมา ฉันได้เห็น และฉันจึงได้ซื้อ(ของ)
Veni, Vidi, Visa:I Came. I Saw. I Shopped.

(12)
สิ่งมองเห็น ภายในนั้นเล่า คือหน้าที่
มองเห็น ข้างนอก คือ แรงบันดาลใจ
แต่ มองเห็นด้านบน คือ ความเชื่อ
Vision that looks inward becomes duty.Vision that looks outward becomes aspiration.Vision that looks upward becomes faith


(13)
มองไกล ไร้การกระทำ เป็นแค่ฝันกลางวัน
แต่การกระทำที่ไร้การมองไกล คือฝันร้าย (ภาษิตญี่ปุ่น)
Vision without action is a daydream. Action without vision is a nightmare. (Japanese proverb)


(14)
ทุกสิ่งมีสองด้านเสมอ ยกเว้นเรื่องสามีภรรยาทะเลาะกัน พบว่ามักมีสามด้านเสมอ คือด้านของเธอ ด้านของฉัน และด้านที่เป็นความจริง
We have all heard that there are two sides to every story, but after listening to many husband and wife arguments I have come to realize there are three sides to every story, her side, his side, and the truth.

(15)
จงทำตามคำที่พูด และพูดตามสิ่งที่ได้ทำ
Walk the words you talk and talk the words you walk.


(16)
จงสำรวจความคิด และแปลงให้เป็นคำพูด
สำรวจคำพูด แล้วแปลงเป็นการกระทำ
สำรวจการกระทำ แล้วแปลงเป็นนิสัย
สำรวจนิสัย แล้วแปลงเป็นบุคลิกภาพ และ
สำรวจบุคลิกภาพ แล้วแปลงเป็นเป้าหมายการทำงาน

Watch your thoughts; they become words.Watch your words; they become actions.Watch your actions; they become habits.Watch your habits; they become character.Watch your character; for it becomes your destiny!!!

(17)
พวกเราหนักขึ้น เพราะไม่เพียงแต่อายุมากขึ้น ยังมีข่าวสารข้อมูลอยู่เต็มศีรษะ
We all get heavier as we get older because there is a lot more information in our heads. (Vlade Divac)

(18)
อยู่ใต้ฟ้าเดียวกันก็จริง แต่คนเราเห็นขอบฟ้าไม่เหมือนกัน
We all live under the same sky, but we don't see the same horizon.

(19)
อาจชื่นชมสิ่งที่เห็นได้ แต่ในที่สุดเราคงต้องรักสิ่งที่ เรารู้จักมันดีที่สุด
We can admire what we see, but we can only love what we truly know.

(20)
เราไม่สามารถ สร้างอนาคตให้เยาวชนของเราได้ แต่เราสามารถสร้างเยาวชน ของเรา เพื่ออนาคตได้ (รูสเวลท์)
We can't always build the future for our youth, but we can build our youth for the future. (Franklin D. Roosevelt)

(21)
เรารักสิ่งที่ทำ หาใช่เพราะเราพบสิ่งที่ดีที่สุด แต่เราพบวิธีการเรียนรู้เพื่อค้นหา และ พัฒนาสิ่งนั้นต่างหาก
We come to love not by finding a perfect person but by learning to see an imperfect person perfectly.

(22)
เราควบคุมกระแสลมไม่ได้ แต่เราควบคุมการตัดสินใจ ที่จะเดินเรือได้
We can't control the wind, but we have the power to adjust the sails.

(23)
อย่าเปลี่ยนนิสัยเพื่อนเราเลย ถ้าเข้าใจว่า ทำไมเขาจึงเปลี่ยนแปลง
We don't have to change friends if we understand that friends change.

(24)
มิตรภาพของเราสองคนแปลก และยอดเยี่ยมมาก นั่นก็คือเขาเป็นคนแปลกๆ และฉันเอง เป็นคนยอดเยี่ยมสำหรับเขา
We have a strange and wonderful relationship: He's strange and I'm wonderful. (Mike Ditka, on Jim McMahon)

(25)
มองสรรพสิ่งอย่างที่มันเป็น มองเราอย่างที่เราเป็น
We see things not as they are, but as we are.

(26)
สิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนวิชาเคมีคืออะไร ? – ห้ามเลียช้อน
What is the most important thing to learn in chemistry?Never lick the spoon

(27)
รักนาย อย่าใช้ไม้ ตียุงบนหน้าผากของนาย
(ภาษิตคนเขต5)
If love your boss, don’t batch mosquito on the boss’s forehead
(28)
รถเก่าดีกว่ารถไม่มีน้ำมัน รถไม่มีน้ำมันย่อม ดีกว่าไม่มีรถ
(ภาษิต คนเขต5)
Old car is better than non-fuelled car, but non-fuelled car is worse than have no car. (CD5 Proverb)

(29)
ทำตัวให้เมีย/สามี รักและเข้าใจ ง่ายกว่าทำให้ นายรักและเข้าใจ
(ภาษิต คนเขต5)
Behave to be loved by wife or husband is easier than to be loved by a boss (CD5 Proverb)

(30)
สิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนวิชาเคมีคืออะไร ? – ห้ามเลียช้อน
What is the most important thing to learn in chemistry?Never lick the spoon.

(31)
เราไม่ได้รับมรดกโลกใบนี้จากบรรพบุรุษของเรา แต่เรายืมโลกใบนี้ จากเด็กรุ่นใหม่ของพวกเรา (ภาษิตโบราณ)
We have not inherited the earth from our ancestors, we have only borrowed it from our children. (Ancient Proverb)

(32)
คนเราบางที อาจไม่ได้สิ่งต้องการเหมือนที่ต้องการ แต่ขอบคุณฟ้าดินเถอะ เพราะอย่างน้อย คุณก็ไม่ได้เป็น เหมือนดังที่เคยเป็นเมื่อวาน
We may not be what we want to be, but thank God we are not what we used to be. (Tim Storey)

(33)
ทำ ดีกว่าพูดแสนคำ
Well done is better than well said. (Benjamin Franklin)


(34)
เรายอมรับความล้มเหลวในบางเรื่อง แต่ต้องไม่ยอมแพ้ในการสร้างความหวัง (มาร์ติน ลูเธ่อร์ คิง)
We must accept finite disappointment, but never lose infinite hope. (Martin Luther King)

(35)
รู้ไหมว่า เราอยู่ในสังคม ที่คนขายฟิตซ่า ไปถึงบ้าน ก่อนที่ตำรวจจะไปถึง
We live in a society where pizza gets to your house before the police.

(36)
พิจารณาคนอื่น ให้ดูการกระทำ พิจารณาตัวเองให้ดูความตั้งใจ
We judge others by their actions; we judge ourselves by our intentions.
เราไม่เคยรู้คุณค่าของน้ำ จนกระทั่งน้ำในบ่อ เริ่มเหือดแห้ง (ภาษิตฝรั่งเศส)
We never know the worth of water till the well is dry. (French proverb)

(37)
สิ่งที่คุณทำวันนี้ คือสิ่งที่คุณเกี่ยวข้องเมื่อวันก่อน สิ่งที่คุณทำวันนี้ คือสิ่งที่จะบอกคุณว่า คุณได้อะไรเมื่อถึงวันพรุ่งนี้
What is done now, is influenced by what you did then, and will determine what you do when now is then.

(38)
คนเรามักกลัวการถูกปฏิเสธ แต่คนจำนวนมาก ก็ปฏิเสธความสามารถตัวเอง ก่อนที่คนอื่น จะมีโอกาสปฏิเสธ
We often fear being rejected so very much that we reject ourselves first before anyone else has the chance.

(39)
เชื่อไหม เรามักเห็นสิ่งที่อยู่ไกลจากน้ำตาของคน มากกว่าเห็นความไกล จากกล้องส่องทางไกล
We often see further through a tear, than through a telescope.

(40)
จะเติบโตทั้งที จงรู้จักก้าวออกจากจุดที่เห็นว่าสะดวกสบายเสียบ้าง
We only grow when we step outside our comfort zone.

(41)
สิ่งที่ฉันกำลังทำ เป็นแค่หยดน้ำหนึ่งหยดในมหาสมุทร แต่น้ำในมหาสมุทรจะน้อยลง ถ้าขาดน้ำเพียงหนึ่งหยด (แม่ชีเทราซ่า)
We ourselves feel that what we are doing is just a drop in the ocean, but the ocean would be less because of that missing drop. (Mother Teresa)

(42)
เราทุกคนอยากเลือกคนดีที่สุด แต่คนดีที่สุด ก็ไม่แสดงตัวให้เราได้เลือก
We would all like to vote for the best man but he is never a candidate.

(43)
“ท่านกำลังทำอะไรอยู่?” ชายคนหนึ่ง ถามคนงานก่อสร้าง 3 คนในบริเวณจุดก่อสร้าง
คนที่หนึ่งตอบ “กำลังตัดแต่งก้อนกิน”
คนที่สองยิ้ม และตอบ “กำลังรอเวลา ให้งานเหมาะๆมา”
คนที่สามครุ่นคิดนิดหนึ่ง แล้วตอบเรียบๆ “กำลังสร้างปราสาทพระราชา”
"What are you doing?" a man asked of three laborers beside a building under construction. The first man replied, "Stone-cuttin."The second smiled, "Putting in time until a better job comes along." The third man waited a moment and then said simply, "I m building a cathedral."

(44)
เธอช่างแสนดี ถามหน่อยเถอะ ดอกไม้อะไรอยู่ระหว่างจมูก และคางของเธอ?... ดอกทิวลิป
What flowers grow between your nose and your chin? .... Tulips.

(45)
สิ่งที่คุณทำวันนี้ คือสิ่งที่คุณเกี่ยวข้องเมื่อวันก่อน สิ่งที่คุณทำวันนี้ คือสิ่งที่จะบอกคุณว่าได้ทำอะไร เมื่อวาน เมื่อถึงวันพรุ่งนี้
What is done now, is influenced by what you did then, and will determine what you do when now is then.

(46)
บ่อยครั้ง คนมักลืมความถูกต้องดีงาม เพราะความสะดวกสบายจนเกินไป
What is right is often forgotten by what is convenient.



***************

มุมมอง ทัศนะนักพัฒนา

หมู่นี้ เวลาไปเข้าเวทีประชุม สัมมนาในแวดวงการพัฒนาทีไร มักได้ยินวิทยากร ผู้บรรยาย
พูดภาษาไทย แต่มีศัพท์ภาษาอังกฤษปนอยู่เสมอ ที่เป็นเช่นนี้ อาจแสดงให้เห็นอะไรได้หลายอย่าง เป็นเพราะคนพูดถนัดใช้ภาษาต่างประเทศ หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรืออาจเป็นเพราะวิทยาการสมัยใหม่ ส่วนใหญ่เขียนหรือมาจากภาษาต่างประเทศ หรือเพราะปัจจัยอื่นๆ แต่ ในที่สุด เราคงหลีกเลี่ยงภาษาต่างประเทศไม่ได้เสียทั้งหมด

ในแวดวงพช.หมู่นี้ ก็มีศัพท์ภาษาอังกฤษน่าสนใจ เกี่ยวข้องอยู่หลายคำ จึงขอนำเสนอ ขยายความ เผื่ออาจเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ ปฏิบัติบ้าง ดังนี้ครับ

Best Practice (วิธีการปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จ) หมายถึง วิธีหรือเทคนิคการทำงานที่คนปฏิบัติอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ได้รับการพิสูจน์ หรือยอมรับว่าดีเหมาะสม และนำไปสู่ความสำเร็จของงานที่ทำ
คำนี้ใช้มากในแวดวงการสาธารณสุข การศึกษา การบริหารจัดการองค์การ เป็นต้น
จากคำนิยาม การกระทำที่ประสบผลสำเร็จหรือวิธีดีที่สุด ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกที่

Community of Practice (ชุมชนแห่งการปฏิบัติ) หมายถึง กลุ่มคนที่มีวัตรปฏิบัติ หรือมีความสนใจ หรือมีความความรู้ ความชำนาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เหมือนๆ กัน โดยอาจอยู่กันคนละที่ ก็ได้ อีกคำคือคำว่า
Lessons learned หรือ Lessons Identified (สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ หรือบทเรียน การถอดบทเรียน) หมายถึง การดึงเอาความรู้ ประสบการณ์ในปฏิบัติการงาน ในเรื่องใดเรื่อง หนึ่งที่ได้ทำมา ไม่ว่าเป็นเรื่องผลสำเร็จ หรือความล้มเหลวก็ได้ แล้วนำสิ่งที่ได้ไปแก้ไข ปรับปรุงงานต่อไป เพื่อให้ได้ผลอย่างน่าพอใจ

Expertice Locator (แปลง่ายๆว่า การค้นหาความชำนาญ หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง) อันนี้ก็จำเป็นในองค์การมากครับ การค้นหาก็เพื่อให้เป็นตัวอย่าง แม่แบบ หรือช่วยการเรียนรู้ แก่คนอื่นๆ ในหมู่เจ้าหน้าที่เรามีคนเก่งมากมาย ลองค้นหา แล้วใช้ประโยชน์ได้ น่าจะดี
Evident report database หมายถึงหลักฐานที่ชัดแจ้ง หรือเชิงประจักษ์ ซึ่งพวกเราชอบเรียก/ ถามหากัน มีความสำคัญไม่น้อย ที่จะบอกว่าได้ทำจริงหรือไม่ เพื่อเป็นบทพิสูจน์การทำงาน

Alert System หมายถึง ระบบเตือนภัย พูดง่ายๆ คือวิธีการจัดการความเสี่ยง (Risk) ในองค์การ ซึ่งขณะนี้ มีการพูดถึงกันมาก เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม มองระยะยาว
การวางแผนที่ดี เลยต้องเอาประเด็นนี้เข้าพิจารณาด้วย เรื่องเหล่านี้มีคำว่าระบบ (System) ต่อท้าย อะไรที่เป็นระบบ ก็แสดงว่า มีคนทำหลายคน หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งหลายสิ่ง/หลายคน ทำคนเดียวไม่ได้ครับ

ศัพท์เหล่านี้ เราชาวพช.ได้ยินจนเริ่มคุ้นหูแล้ว ว่ากันว่าคำทั้ง 5 (ยกเว้นCommunity of Practice) จริงๆแล้ว ก็คือเป้าหมายของการจัดการความรู้ หรือที่เรียกว่า KM. (Knowledge Management) นั่นเอง ซึ่งกว่าจะบรรลุเป้าหมายการจัดการความรู้ได้ เราต้องใช้วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Sharing of Knowledge) หรือบางคน ก็เรียกว่าการเสวนา (Dialogue) กันเสียก่อน

เห็นไหมครับ ว่าคำเหล่านี้มันเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ กันอยู่ การจัดการความรู้ จึงต้องใช้วิธีการหนึ่ง ที่เรียกว่าการแลก เปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่เป้าหมาย 5 ประการ ( ตามคำศัพท์ ) ที่ว่า
แล้ว....

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2550

ธรรมะของนักพัฒนาชนบท

ธรรมะของนักพัฒนาชนบท

พูดถึงการเป็นนักพัฒนาชุมชน ไม่ว่าคนชาติไหน ดูเหมือนจะมีบุคลิกภาพ เฉพาะ ที่ดูคล้ายๆ กัน
“เปิดเผย จริงใจ มีมนุษยสัมพันธ์ เรียบง่าย ชอบคิด ช่างฝัน ฯลฯ” คุณลักษณะพื้นฐานที่ว่าบางส่วนนี้เราสัมผัส รับรู้ ได้จริงๆ หากไปพบนักพัฒนาประเภท มืออาชีพเข้า

ผมเองบังเอิญได้เจอะคุณนิคลัส มาเรีย ในเช้าวันที่มีหิมะตกหนัก เราสองคนลงจากรถยนต์คันเก่าๆ ไม่ต่างจากพัฒนากรบ้านเรา เดินดุ่มๆ เก้ๆ กังๆ บนถนนบ้านนอกฝรั่ง เงียบเชียบ ไร้ผู้คน มองไปเห็นขาวโพลน เห็นเปียกชื้น

ในสิ่งที่ได้พบเห็นหนนั้น พอกลับบ้านเรา ผมก็ถึงบางอ้อ ว่าการทำงานชุมชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างนั้น ที่แท้แล้วไม่ว่าที่ประเทศไหน เป็นงานที่ยาก และหนักทั้งนั้น
และ คำตอบส่วนใหญ่ ต้องอยู่ที่หมู่บ้านหรืออยู่กับชุมชนจริงๆ อย่างที่เค้าว่ากัน
อีกนัยหนึ่ง หากรักจะเป็นนักพัฒนาหรือนักบริหารการพัฒนา จะคิดนั่ง สั่งการใดๆในห้องแอร์ ไม่เรียนรู้เรื่องคน เรื่องสังคม อยู่ไม่ติดดิน ไม่ได้จริง ๆ

ธรรมชาติหรือธรรมะของระบบการพัฒนา หากจะให้เห็นผลจริงอย่างปรมาจารย์ นักคิด ด้านการพัฒนาชุมชนทั้งหลายว่ากัน มันมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น นอกจากคุณนิคลัส และมาเรีย เพื่อนผม ที่สวีเดน กับผมที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการพัฒนาแล้ว ยังมีองค์ประกอบเรื่องเทคนิควิธีการทำงานกับชาวบ้าน หน่วยงานต้นสังกัดหรือองค์การที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายคือชาวบ้านหรือชุมชน อีก

เท่าที่ว่าแล้วยังไม่พอ มีสภาพแวดล้อม/ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีก แต่ละองค์ประกอบ ยังเต็มไปด้วยรายละเอียด เจียระไนกันได้อีก ใครคิดจะสร้างความเข้มแข็งใคร ก็ต้องมอง ต้องทำกันอย่างเป็นระบบ คิด ตัดสินใจ คนเดียวไม่ได้ แต่ต้องรู้จักทำงานกับคน ชนิดที่มีความเป็นคน

เลยอนุมานเอาเองว่า ถ้าทุกคนรู้ธรรมะหรือธรรมชาติการพัฒนาชุมชนจริงๆ และสร้าง หาโอกาสเปิดใจกันในเวทีแบบคนๆ ลดการใช้อำนาจเชิงโครงสร้างระบบราชการมาใช้มาบังคับกัน ก็คงสามารถทำอะไรให้เข้ากับจริต พฤติกรรมปัญหาความต้องการของคนได้ง่ายขึ้น ซึ่งหมายถึงความสำเร็จของงานก็เกิดง่ายขึ้น และคนก็มีความสุข หรือถ้าทุกข์ หรือเหนื่อย ก็น้อยลง พูดถึงประเด็นนี้ เห็นไหม นักพัฒนาอย่างผมก็ชอบฝัน

เอาล่ะ เมื่องานพัฒนา มีธรรมชาติแบบที่ว่า ดังนั้นใครที่เข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องนี้ ก็ควร จะมีลักษณะที่จะต้องรู้จักวิธีการทำงานประเภท พยายามทำ
“ เรื่องยาก ให้เป็นเรื่องง่าย หรือ ทำเรื่องง่าย ให้ง่ายๆ ยิ่งขึ้น”
เช่นเรื่อง การหาวิธีทำงานโดยลดเวลา ขั้นตอนให้ สั้น สะดวก ยืดหยุ่นมาก ปรับพฤติกรรมการทำงาน เพื่อให้ประโยชน์ทั้งหลาย ทั้งปวงเกิดแก่คน ที่อยู่ในสังคมอย่างเป็นระบบ โดยไม่ต้องเสียเวลาทรัพยากรกับระเบียบ ขั้นตอนที่สุดจุกจิก หยุมหยิม ที่ผมอยากเรียกรวมๆ โดยศัพท์บัญญัติผมเองว่า “วัฒนธรรมองค์การแบบล้าหลัง เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจ” ซึ่งบางคนก็บอกว่า สิ่งนี้ เป็นอุปสรรคที่ใหญ่หลวงในการพัฒนา และสร้างความเป็นคน ทีเดียว ผมเห็น มีสังฆกรรมกันเมื่อไร ก็พูดถึงแต่เรื่องนี้ แต่ไม่เคยมีการแก้ไขกันสักที
ใครอยากทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมืออาชีพ ก็ลองพิจารณาลองดู เพราะมันเป็นเรื่องท้าทายเชิงจริยธรรม ทีเดียว

แต่ที่ยังติดใจมากก็คือ คนที่อยู่ในระบบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานพัฒนาที่ว่านี้ มีความตระหนัก เข้าใจ และใช้ความพยายามในการหาแนวทางทำงานที่สอดคล้องกับธรรมชาติ หรือธรรมะของการทำงานพัฒนาสักแค่ไหน เพื่อให้งานแบบนี้เป็นไป โดยยึดเอาธรรมชาติ เป็นหลักให้มากที่สุด เพราะเห็นคุยกันที่ไร คนที่เรียกว่านักพัฒนาเอง จะเกิดวาทะกรรมประเภทเหล่านี้เสมอเชียว
“ ก็คุณเป็นข้าราชการของรัฐนี่ มิใช่พวกเอ็นจีโอ”
“ การเป็นข้าราชการกับการเป็นนักพัฒนาที่ดี มันไปด้วยกันไม่ได้ดอก” หรือสุดท้ายแสบสันหน่อย เจอะแล้ว
“ เรื่องนี้ ให้คุณเป็นอธิบดีก่อน แล้วค่อยทำ รู้จักบทบาทหน้าที่หรือเปล่า”

นั่นก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากทันทีได้ว่า บางครั้งคนที่เป็นนักพัฒนาเอง ก็ยังติดตรึงอยู่กับกรอบ กฎเกณฑ์ของหน่วยงานค่อนข้างมาก แทนที่เอาประโยชน์ของคนทำงาน หรือของชาวบ้านเป็นหลักมากๆ
คนทำงานพัฒนาส่วนใหญ่ขณะนี้ พอลงทำงานในชุมชน จึงรู้สึกว่าไม่เพียงแต่ต้องมีสิ่งที่ว่าแล้วข้างต้น แต่ต้องการการสร้างแรงบันดาลใจค่อนข้างสูง กว่าอาชีพอื่นด้วยซ้ำไป รวมถึง ต้องการความเข้าใจ ไม่เพียงจากชาวบ้าน แต่ต้องความเข้าใจจากพวกเดียวกันอีกด้วย

บวกน้ำอดน้ำทน เพื่อที่จะสู้กับงานหนัก ความไม่สมเหตุสมผล หรือ สิ่งท้าทายความสำเร็จอื่นๆ อีกสารพัด ทั้งหมดเค้าบอกว่ามีเอาไว้แก้ทั้งสิ้น

ในการบริหารจัดการการพัฒนาช่วงหลัง เราจึงหันมาพูดเรื่องการเอื้ออำนวยความสะดวก ให้ชาวบ้าน หรือ แก่นักพัฒนากันมากขึ้น เพราะเชื่อว่า เป็นทางไปสู่การสร้างความเข้มแข็ง และการเรียนรู้ พัฒนาตัวเองได้ดีมากขึ้น ในบรรยากาศการทำงาน ที่เป็นธรรมชาติ ไม่เสแสร้ง กันจนเคยชิน แล้วก็พยายามค้นหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่เป็นเดิมทุนแล้ว และพยายามเอาสิ่งนั้นมาเป็นแบบอย่าง ขยายผล และเอามาหนุนเสริมการทำงานต่อ

มาถึงศตวรรษนี้ คนที่ทำงานพัฒนาเป็น จึงมิใช่คนที่รู้สาระของของอะไรๆ ได้หมด หรือรู้วิธีการไปหมดทุกเรื่อง หรือสั่งการให้คนทำหมดได้ทุกเรื่อง แต่กลับไปอยู่ที่การรู้จักการแบ่งปัน เรียนรู้ หนุนเสริมซึ่งกันและกัน เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ การปรับตัวเองได้ เขาก็ได้งานได้ความสุข เราต่างก็ได้งานได้ความสุข อย่ามัวแต่สั่งการคนอื่นจนเพลิน จนลืมนึกถึงว่า เขาเป็นคน..........


โดย บุญส่ง เวศยาสิรินทร์

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2550

การเขียนข้อเสนอโครงการ

เอกสารประกอบการสัมมนานักศึกษาฝึกงานภาคสนามฯ
ตัวอย่างการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ
(Project Proposal)

1.ชื่อโครงการ
-ท่านต้องการเรียกชื่อโครงการนี้ว่าอย่างไร

2.ระยะเวลาของโครงการ
-ห้วงเวลาของการดำเนินการโครงการนี้ ใช้เวลานานเท่าใด ปี หรือเดือน หรือวัน

3. ที่ตั้งโครงการ
-โครงการนี้ตั้งอยู่ ณ ที่ใด

4. สถานภาพโครงการ :
- เป็นโครงการใหม่ โครงการเก่า หรือโครงการต่อเนื่อง

5. ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ
-ใครบ้าง จำนวนเท่าใด ลักษณะอย่างไร
เช่น กรณี ปัญหาชาวบ้านขาดที่ดินทำกิน

6. ความเป็นมา หรือภูมิหลังของโครงการ
-ปัญหา ความต้องการที่พบคืออะไร เป็นเช่นไร เกิดอย่างไร ผลกระทบต่อใครบ้าง ผลกระทบในเรื่องใด เป็นต้น
7.เหตุผลความจำเป็นของโครงการ (Project Justification)
-ทำไมต้องจัดการปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
- ปัญหานี้ส่งผลต่อประชาชนอย่างไร
- ปัญหานี้มีสาเหตุจากอะไร
- โครงการนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาอะไร เคยมีโครงการเช่นนี้และดำเนินการโดยประชาชนบ้างหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร ทำไมประชาชนจึงต้องการโครงการนี้ เป็นต้น

8. วัตถุประสงค์ของโครงการ
- คืออะไร (แยกให้เห็นเป็นข้อๆ อาจมีวัตถุประสงค์ทั่วไป หรือเฉพาะ)
9.ลักษณะด้านรายละเอียดโครงการ (Project Description)

- เช่น จัดเป็นโครงการประเภทประเภทใด เช่น การให้กู้ยืมเงิน หรือเป็นประเภทสนับสนุนด้านอาชีพ บรรยายลักษณะให้เห็นว่ามีการดำเนินการอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง ฯลฯ

10.องค์กร/หน่วยงานที่รับผิดชอบ
- ใครบริหาร/จัดการ ภายใต้หน่วยงานหรือโครงสร้างแบบใด สมาชิกจำนวนเท่าใด องค์กรหรือกลุ่มก่อตั้งเมื่อใด ฯลฯ

11. แผนปฏิบัติการโครงการ
- ซึ่งอาจเป็นการอธิบายให้เห็น แต่ละกิจกรรมย่อยว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง ใครรับผิดชอบ ทำเมื่อไร และผลที่คาดว่าจะได้ในแต่ละกิจกรรม

12. งบประมาณของโครงการ
- อาจแยกให้เห็นว่า สิ่งที่ต้องใช้งบประมาณมีอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด จะขอรับการสนับสนุนจากใคร/หน่วยงานใด เช่น อบต. จากหน่วยงานราชการ หรือจากภาคเอกชน เป็นต้น
รวมเป็นเงินเท่าใด

13. การติดตาม ประเมินผลโครงการ
- ให้ระบุว่า จะติดตามอะไรบ้างในระหว่างดำเนินโครงการ เช่น อาจเป็นติดตามเรื่องเงิน งาน หรือติดตามเรื่องคน ใครจะรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำอย่างไร บ่อยแค่ไหน
เช่น อาจเป็นการติดตามโดย หลักฐานทางบัญชี รายงาน วาระการประชุม เป็นต้น ส่วนการประเมินผล ให้ระบุว่าใครเป็นผู้ประเมิน ทำอย่างไร เป็นต้น

แปลและเรียบเรียงจาก
Community Participatory Action Research by Luz Anung,
Ateneo de Davao University, Philippines
บุญส่ง เวศยาสิรินทร์
13/03/50 23:43:13 น.